x close

พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม


พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม

พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ ธาราพร 

          ประเพณีแต่งงานในสมัยปัจจุบัน ถูกปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตและความสะดวกของผู้คนมากขึ้น ประเพณีของไทยที่เคยเป็นเอกลักษณ์ตามวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ก็เริ่มมีการถูกนำมาใช้น้อยลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงมีชาวไทยอีสานหลายคนที่ยังคงเหนียวแน่นในวัฒนธรรมบ้านเกิด และอยากให้พิธีแต่งงานแบบอีสาน เป็นส่วนหนึ่งในวันสำคัญของชีวิต ดังนั้น วันนี้เราจึงนำ "พิธีแต่งงานแบบอีสาน" ตามขั้นตอนต่าง ๆ มาบอกกันค่ะ

          พิธีแต่งงานแบบอีสานนั้น เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมไทยที่สืบสานกันมายาวนาน โดยเรียกกันในภาษาอีสานว่า "การกินดอง" หมายถึง การกินเลี้ยงเพื่อฉลองการเกี่ยวดองเป็นครอบครัวเดียวกัน

พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม

 การสู่ขอ

          การจัดพิธีแต่งงานแบบอีสาน หรือ กินดอง นั้น เริ่มต้นจากเมื่อหนุ่ม-สาว มีความชอบพอกัน และตกลงปลงใจที่จะฝากผีฝากไข้ซึ่งกันและกันแล้ว ฝ่ายชายจะต้องให้ผู้ใหญ่ฝ่ายตน เป็นเถ้าแก่มาสู่ขอหญิงสาวที่ตนเองรักจากผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง หรือเรียกว่า "การโอม"

 สิ่งของที่ต้องเตรียม

             ขันใส่หมากพลู
             หมากจีบ พลูพัน (หมายถึง หมากที่ถูกฝานเอาไว้แล้ว และ พันด้วยใบพลูที่ใส่ปูนเอาไว้ด้านใน)
             เงิน 3 บาท

          ซึ่งทางฝ่ายชายต้องจัดเตรียมขันหมาก หมากจีบ พลูพัน ใส่ขัน 1 ขัน และใส่เงินลงไป 3 บาท เพื่อเป็นค่าจ้างของพ่อแม่ฝ่ายหญิง หรือเรียกว่า "เงินไขปาก" จากนั้นหากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงตกลง ก็จะรับขันหมาก พลู และเงิน 3 บาทไป รวมทั้งหยิบหมากขึ้นมาเคี้ยว 2 คำ และให้พ่อแม่ฝ่ายชายก็หยิบหมากขึ้นมาเคี้ยว 2 คำ เช่นเดียวกัน แล้วจึงจะพูดคุยตกลงกันเรื่องเงินค่าสินสอด หรือ ค่าดอง นั่นเอง

 พิธีแห่ขันหมาก

          หลังจากที่มีการโอมสาว หรือ การสู่ขอจากผู้หลักผู้ใหญ่ และมีการตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกันไปแล้วนั้น ก็ต้องมีการกำหนดวันแต่งงานขึ้น โดยเจ้าบ่าวและญาติ ๆ จะต้องแห่ขันหมากเพื่อไปทำพิธีแต่งงานกันที่บ้านของเจ้าสาวในวันที่กำหนด ซึ่งการแห่ขันหมากนี้เหมือนเป็นการประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า คนทั้งคู่กำลังจะแต่งงานกัน และเชิญชวนให้ร่วมแสดงความยินดีอีกด้วย

 ขันหมากประกอบไปด้วย

             ขันใส่หมาก พลู 1 ขัน
             ขันใส่เงินค่าดอง 1 ขัน
             ขันใส่เหล้ายา 1 ขัน
             ผ้าสีต่าง ๆ สำหรับคลุมขัน
             พาขวัญ หรือ พานบายศรี

 ลำดับขบวนแห่

             ผู้สูงอายุ ผู้เถ้าผู้แก่ เดินนำหน้าพร้อมขันสินสอด
             เจ้าบ่าว
             พาขวัญ ที่ถือโดยหญิงสาวบริสุทธิ์
             ขันหมากพลู ขันเหล้ายา
             ญาติพี่น้อง
             ขบวนดนตรีพื้นบ้าน ปี่ แคน กลอง เป็นต้น

 วิธีการแห่ขันหมาก

             เจ้าโคตร หรือ เถ้าแก่ในการสู่ขอเป็นผู้ถือขันสินสอด มีเจ้าบ่าวเดินตาม
             พาขวัญ ขันหมาก และ ขันเหล้า ให้ใช้หญิงสาวบริสุทธิ์  เป็นผู้ถือและเดินตามหลังเจ้าบ่าว
             ก่อนจะพบเจ้าสาว จะพบประตูเงินประตูทองจากญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงก่อน ให้เบิกทางด้วยเงินทองตามสมควร
             เมื่อถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะออกมาต้อนรับ
             ก่อนจะเข้าบ้าน ญาติที่อายุน้อยกว่าของฝ่ายหญิงจะเป็นคนล้างเท้าให้เจ้าบ่าว และเจ้าโคตรที่ถือขันสินสอด โดยจะล้างเท้าบนหินลับมีดที่ปูด้วยใบตอง และช่วยเช็ดเท้าให้ เพื่อแสดงความเคารพ
             เมื่อถึงฤกษ์ดี ให้ฝ่ายชายมอบสินสอดให้กับฝ่ายหญิง ญาติฝ่ายหญิงจะต้องนับค่าสินสอด จากนั้นโปรยด้วยเมล็ดข้าวเปลือก ถั่ว และงา ลงบนสินสอด แล้วขอพร "ให้เงินทองนี้งอกเงยเหมือนเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ด้วยเทอญ"
             จากนั้นจึงเปิดขันหมากและแจกเหล้ากินกันพอเป็นพิธี

พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม

พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม

พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม

 พิธีสู่ขวัญ

             เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว นั่งอยู่ทางขวา
             เจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาว นั่งอยู่ทางซ้าย
             เจ้าบ่าวและเจ้าสาว จับพาขวัญไว้โดยเอาแขนไขว้กัน ให้แขนเจ้าบ่าวอยู่บน เอาไข่ขวัญใส่มือเจ้าบ่าวเจ้าสาว แล้วผูกข้อมือ
             ปอกไข่ขาวในมือเจ้าบ่าวเจ้าสาว แล้วส่งให้พราหมณ์ทำพิธีตัดไข่ขาวด้วยเส้นผม
             ให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงอายุยืน เป็นที่เคารพนับถือ ป้อนไข่ขาวให้เจ้าบ่าวด้วยมือขวา ป้อนไข่ขาวให้เจ้าสาวด้วยมือซ้าย
             เจ้าบ่าวและเจ้าสาวป้อนไข่ขาวให้แก่กัน

 การขอขมาญาติผู้ใหญ่ หรือ การสมมา

             มอบผ้าซิ่น 1 ผืน เสื้อผู้หญิง 1 ตัว ให้กับแม่ของทั้งสองฝ่าย
             มอบผ้าโสร่ง 1 ผืน เสื้อผู้ชาย 1 ตัว ให้กับพ่อของทั้งสองฝ่าย
             พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายให้โอวาท

 การปูที่นอนและส่งตัวเข้าหอ

             ให้ญาติชายหญิงที่มีฐานะดี รักใคร่กันดี เป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาว โดยให้ปูของผู้ชายไว้ทางขวาให้มีตำแหน่งสูงกว่า และของผู้หญิงปูไว้ทางซ้ายให้มีตำแหน่งต่ำกว่าฝ่ายชาย แล้วทำพิธีนอนเอาฤกษ์ก่อน จากนั้นจึงค่อยจูงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าเรือนหอ และให้โอวาทในการอยู่ร่วมกัน

          นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของคนไทยในภาคอีสาน ที่ยังคงอนุรักษ์มาจนถึงคนรุ่นหลัง สำหรับใครที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานไม่ว่าจะแต่งงานด้วยประเพณีแบบไหน ก็ขอให้มีความสุขกับชีวิตคู่ และดูแลกันและกันตลอดไปนะคะ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีแต่งงานแบบอีสาน สืบสานวัฒนธรรม อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2555 เวลา 16:32:01 112,296 อ่าน
TOP