x close

พิธีหมั้นอย่างเดียว ประเพณีที่ดีงามก่อนแต่งงาน

ประเพณี พิธีหมั้น

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             เดี๋ยวนี้มีหนุ่มสาวหลายคู่นิยมจัดงาน "พิธีหมั้น" และ "พิธีแต่งงาน" ภายในวันเดียวกัน อาจเพราะถือฤกษ์สะดวกหรือประหยัดงบประมาณ แต่ก็ยังมีคู่รักหลายคู่ที่นิยม "หมั้นหมาย" กันก่อนที่จะจัดพิธีแต่งงาน โดยเว้นระยะเวลาไว้สัก 1-2 ปี เนื่องจากอยากจะศึกษานิสัยใจคอกันให้มากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตกลงปลงใจจัดงานวิวาห์ ดังนั้น วันนี้เราจึงมีวิธีการจัดพิธีหมั้นอย่างเดียวตามประเพณีแต่งงานแบบไทยมาบอกกันค่ะ


             พิธีสู่ขอ

             ในสมัยก่อนการเจรจาสู่ขอถือเป็นเรื่องขอผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นฝ่ายชายที่ต้องเดินทางไปทาบทามสู่ขอฝ่ายหญิง และตามธรรมเนียมที่แท้จริง ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงส่วนใหญ่มีการขอผ่อนผันไปก่อน เพื่อจะได้มีโอกาสสืบประวัติเชื้อสายของฝ่ายชายก่อน

             แต่ในปัจจุบันพิธีการสู่ขอมักจะเป็นขั้นตอนในพิธีการเท่านั้น เนื่องจากได้ลดขั้นตอนของการสืบประวัติฝ่ายชายไปแล้ว อาจเพราะตามปกติแล้วผู้ทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่จะทำหน้าที่เจรจาสู่ขอ ต้องให้คำรับรองเกี่ยวกับความประพฤติของฝ่ายชาย และโดยมากก่อนวันที่เฒ่าแก่จะมาเจรจา ทางครอบครัวของฝ่ายชายจะแจ้งข่าวให้ทางครอบครัวฝ่ายหญิงทราบล่วงหน้า เพื่อให้ครอบครัวฝ่ายหญิงได้มีโอกาสจัดเตรียมบ้านเรือนให้สวยงาม และอาจจัดเตรียมอาหารไว้เลี้ยงต้อนรับหรือฉลองกันตามธรรมเนียม หากการเจรจาสู่ขอเป็นไปอย่างราบรื่น มีการตกลงกันเรื่อง สินสอดทองหมั้น และฤกษ์ยามกำหนดการต่าง ๆ

            หากว่าผู้เป็นเฒ่าแก่ไปทำพิธีสู่ขอเพียงลำพัง เฒ่าแก่ก็มีหน้าที่จะต้องนำข่าวดีมาบอกกับทางครอบครัวของฝ่ายชาย แต่ในปัจจุบันนั้นพ่อแม่ของฝ่ายชายและว่าที่เจ้าบ่าวมักจะร่วมอยู่ในพิธีการสู่ขอของเฒ่าแก่ด้วย การตกลงเจรจาเกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ ก็จะสะดวกในการพูดคุยเกี่ยวกับรายละเอียดมากขึ้น เพราะประเพณีในแต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงเรื่องการรับขบวนขันหมาก ที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายเจ้าสาวที่จะต้องถามถึงจำนวนแขกฝ่ายเจ้าบ่าว คำนวณรวมกับแขกฝ่ายตนเอง เพื่อจะได้จัดเตรียมการต้อนรับไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เพราะตามธรรมเนียมไทยการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ และหลังจากวันนี้ไปแล้วก็จะเป็นเรื่องของการหาฤกษ์งามยามดีสำหรับจัดพิธีมงคลสมรสค่ะ

ประเพณี พิธีหมั้น

           พิธีหมั้นอย่างเดียว

            หลังจากที่มีการสู่ขอตามประเพณีของไทยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การหาฤกษ์งามยามดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนไทยก็มักจะไปขอฤกษ์จากพระสงฆ์ที่วัด หรือดูฤกษ์ยามจากโหรและพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดดวงหรือโชคชะตา และเมื่อได้ฤกษ์ยามวันมงคลแล้ว ต่อไปก็เตรียมพิธีการหมั้นและพิธีมงคลแต่งงานต่อไป โดยพิธีหมั้นนั้นเปรียบเหมือนการจับจองกันและกันไปก่อนจูงมือกันเข้าประตูวิวาห์ ซึ่งจุดประสงค์หลักของขั้นตอนการหมั้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้คู่บ่าวสาวได้ศึกษาอุปนิสัยใจคอซึ่งกันและกัน รู้จักปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะส่งผลดีต่อชีวิตคู่ในอนาคต

         การจัดขันหมากหมั้น

           ก่อนจะมีการยกขบวนขันหมากหมั้นไปหมั้นเจ้าสาวจริง ๆ นั้น ฝ่ายชายจะต้องจัดเตรียมขันหมากหมั้นเพื่อทำการหมั้นหมายฝ่ายหญิง โดยให้เฒ่าแก่ฝ่ายชายเป็นผู้นำไปมอบให้กับเฒ่าแก่ของฝ่ายหญิง ซึ่งตัวเฒ่าแก่ฝ่ายชายส่วนใหญ่จะเป็นคนเดียวกับผู้ที่เจรจาสู่ขอ โดยประเพณีแล้วนิยมให้สามีภรรยาที่อยู่กินกันด้วยความผาสุก และการมีเฒ่าแก่ก็ถือเป็นเคล็ดเพื่อชีวิตคู่จะได้มีความสุขอยู่กันจนแก่เฒ่าเหมือนกันเฒ่าแก่ที่มาทำพิธีให้นั่นเอง ในบางท้องถิ่นอาจให้ผู้ชายหรือผู้หญิงเป็นผู้ทำหน้าที่เฒ่าแก่ขันหมากหมั้นเพียงคนเดียวก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่แต่งงานแล้ว อยู่กินกันมาเป็นระยะเวลานาน ไม่หย่าร้าง ชีวิตคู่มีความสุข เป็นที่เคารพนับถือ

           ส่วนประเพณีการจัดขันหมากหมั้น นอกไปจากจำนวนเงินทองค่าสินสอดต่าง ๆ ตามที่ได้ตกลงกับทางครอบครัวฝ่ายหญิงไว้ ยังมีสิ่งที่จำเป็นต้องเตรียมและจัดอยู่ในพานขันหมาก ได้แก่ พานใส่ของหมั้นที่เรียกว่า ขันเงิน และ ขันทอง ซึ่งข้างในนอกจากจะมีทรัพย์สิน ของมีค่าที่เป็นของหมั้นแล้ว ยังมีหมากดิบ 8 ลูก พลู 8 เรียง ถั่วเขียว 1 ถุง, ข้าวเปลือก 1 ถุง, งาดำ 1 ถุง, ข้าวตอก 1 ถุง, ใบเงิน, ใบทอง และใบนากเท่านั้น และขันหมากหมั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีขนม ต้นกล้วย ต้นอ้อย ไม่มีการกั้นประตู ไม่มีการเทขันหมากและไม่ต้องนับเงิน แต่จะทำวิธีดังกล่าวในช่วงแห่ขบวนขันหมากในวันแต่งงาน โดยหลังจากนี้ก็จะเข้าสู่พิธีการยกขันหมากหมั้นเป็นลำดับต่อไปค่ะ

          เห็นไหมล่ะคะว่าขั้นตอนเตรียมการก่อนพิธีการหมั้นก่อนแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณีไทยนั้นไม่ยากเลย อีกทั้งยังเป็นเคล็ดลับที่ดีในการครองชีวิตคู่ให้ได้ยืนยาวอีกด้วยค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  และ sites.google.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีหมั้นอย่างเดียว ประเพณีที่ดีงามก่อนแต่งงาน อัปเดตล่าสุด 25 ธันวาคม 2556 เวลา 15:54:25 38,938 อ่าน
TOP