x close

เรื่องของญาติโกโหติกา

แต่งงาน


ญาติโกโหติกา (Momypedia)


โดย: สราญดี
 
          "ชีวิตคู่ นอกจากหลอมรวมคนสองคน (ที่แตกต่าง) ไว้ด้วยกันแล้ว ยังหลอมรวมเอาญาติ ๆ ของเขาและของเรา (ซึ่งแตกต่างกว่า) เข้าไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ให้ตายเถอะจ้ะกว่าจะรู้ก็ตกลงใจอยู่กับเขาเรียบร้อยแล้วคำ" รำพึงแบบมองเครือญาติติดลบนี้เป็นของอิชั้นเอง และคิดว่าไม่ได้รำพึงอยู่คนเดียวหรอกฮ่ะ

          ญาติ ๆ อันหมายถึงตั้งแต่ พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ ของแต่ละฝ่ายเริ่มมีส่วนในชีวิตคู่ของเราทุกตอน ที่เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมก็ตอนแต่งงาน เคยนั่งคุยกับนักจัดงานแต่งงานหรือ Wedding planner เขาบอกว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวมักจะคิดฝันอยากให้งานบรรเจิดด้วยไอเดียแปลกใหม่ แต่งานแต่งต้องนึงถึงผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย อย่าไปทะเลาะกับพ่อแม่ให้เกิดความร้าวฉาน ควรจะฟังความคิดเห็นและนำมาปรับให้ลงตัว น้อยคู่จึงได้จัดงานแบบสมใจนึกบางลำพู

          นี่ขนาดคนรุ่นใหม่นะคะ อิชั้นก็ถึงบางอ้อ เพราะตัวเอง และเพื่อนพ้องส่วนใหญ่มักจะบ่นคล้าย ๆ กันว่า มันไม่ได้ดังใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นมั้ยล่ะ มันมีเค้าลางมาตั้งแต่ตอนแต่งแล้ว ใครจะลุกขึ้นประกาศกับสุดที่รักในยามหงุดหงิดว่า "ชั้นไม่ได้แต่งกับญาติของคุณนะ" แสดงว่ายังเพ้อพกอยู่ เพราะเข้าใจผิดว่าครอบครัวมีเพียงเรา พ่อแม่ลูก เท่านั้น วงศ์วานว่านเครือคนอื่นไม่เกี่ยว จะเกี่ยวก็ขอเกี่ยวห่าง ๆ หรือผูกพันกันเฉพาะเรื่องที่สบายใจ หารู้ไม่ว่าของอย่างนี้เขาใส่ห่อรวมกันเสร็จสรรพ

          ชีวิตก็เหมือนกินยานั่นแหละค่ะ รักษาโรคได้แต่ก็มีผลข้างเคียงทุกเม็ด จะเลือกแบบแรก ยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของสองเราล้วน ๆ ไม่พึ่งพาความช่วยเหลือหรือฟังความเห็นของใครและไม่ยอมให้ใครพึ่งพา เป็นคนในกระแสที่มีความเป็นปัจเจกสูง และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ดีที่ได้ดำเนินชีวิตของตัวเองได้ตามความต้องการ ไม่ต้องรับความกดดันจากญาติพี่น้อง แต่ก็ต้องต่อสู่ฝ่าฟันเพียงลำพังไปเสียทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องง่าย ๆ บางครั้งก็รู้สึกว่าการเป็นครอบครัวเดี่ยวน่ะแฝงความโดดเดี่ยวเอาไว้ด้วย ยิ่งมัวแต่ก้มหน้าทำมาหากินเลี้ยงลูกไม่คบเพื่อนฝูงยิ่งแล้วใหญ่

          หรือเลือกอีกแบบที่มองเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องทั้งฝ่ายเรา หรือฝ่ายเขา เป็นเรื่องดีมีคุณค่า ก็จะไม่รู้สึกเคว้งคว้าง เวลามีปัญหาหรือมีปัญหาระหว่างกันก็มีที่พึ่งพา ถ้อยที ถ้อยอาศัยกัน ช่วยดูแลลูก ๆ หลาน ๆ ให้กันได้ ไม่ต้องจ้างคนแปลกหน้าเสมอไป รู้สึกมั่นใจได้มากกว่า เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างญาติผู้ใหญ่ รู้จักสัมมาคารวะ มีพี่ ๆ น้อง ๆ เป็นเพื่อนเล่น รู้จักผูกพันแนบแน่นกับคนอื่นด้วยนอกจากพ่อแม่ รู้จักแบ่งปันเพราะลูก ๆ ได้เห็นการแสดงน้ำใจระหว่างเรากับญาติ ๆ เป็นตัวอย่าง

          การทำความคุ้นเคยกับญาติของอีกฝ่าย ก็มีดีในมุมที่เรามักนึกไม่ถึงเหมือนกัน หลายครั้งค่ะที่เราไม่เข้าใจสุดที่รักของเอาเสียเลย ว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ เป็นปัญหาทะเลาะกันไปใหญ่โต กับแค่ไม่รู้จักเขาดีพอ ถ้าทำความรู้จักคุ้นเคยกับญาติ ๆ ของเขา ก็จะเข้าใจได้ว่าเขาเติบโตมาในวัฒนธรรมประจำบ้านแบบไหน มีคนอีกโขยงหนึ่งละที่เหมือนเขา ไม่ได้ผิดประหลาดตรงไหนเลย เพียงแต่แตกต่างจากเราเท่านั้นเอง พ่อแม่พี่น้องของเขาก็ยังมีโอกาสช่วยอธิบายความเป็นเขาให้เราคลายความคับข้องใจ ชีวิตคู่ก็มีโอกาสราบรื่นขึ้น

          ความพอดีอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์กับเครือญาติ ก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่าระหว่างสองเราสบายใจ หรือไม่อึดอัดจนทนไม่ได้ ครอบครัวที่ปล่อยให้ญาติเป็นผู้ทรงอิทธิพลในการใช้ชีวิตคู่ของเรามากจนล้น ก็บ้านแตกเหมือนกัน

          ท่านเหล่านั้นให้คุณให้โทษกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งละค่ะ ถ้าใครเป็นคนน่าคบหาในหมู่ญาติก็จะได้รับความเอ็นดูรักใคร่ ใครเห็นไม่ขวางหูขวางตา มีปัญหาก็เต็มใจช่วยเหลือ เพราะเขารู้สึกว่าคนในครอบครัวเขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนดีมีความสุข ถ้าดำรงตนเป็นคุณนายปั้นปึ่ง เราอาจไม่คิดว่าการทำตัวเหินห่างเย็นชากับญาติ ๆ ของเขาจะมีผลอย่างไร

          ญาติเขาก็จะกลายเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านของเราน่ะสิคะ จะเป็นอื่นไปได้อย่างไร และอาจเป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว เราก็จะทำให้คนกลางลำบากใจ ถ้าเรื่องที่จะต้องร่วมชะตากรรมกับเขาไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็อยู่เคียงข้าง เป็นกำลังใจเขาเถอะ อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่ตลอดเวลาว่าเรารู้สึกเดือดร้อนรำคาญแต่เพียงผู้เดียว นึกถึงใจเขาดูบ้าง เป็นที่พึ่งพาทางใจสำหรับเขาดีกว่ากันเยอะเลย การทำตัวดีและสุภาพกับญาติของเขาเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าเรารักเขา แม้จะไม่ชอบหน้าญาติบางคนของเขาแต่เราทำดีเพื่อให้คนที่เรารักสบายใจ

          ส่วนการผูกพันแน่นแฟ้นกับพ่อแม่ญาติพี่น้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ก็ใช่ว่าชีวิตครอบครัวจะราบรื่นไร้คลื่นลม ทุกเสาร์อาทิตย์บางครอบครัวมีกติกาว่าต้องกลับไปเยี่ยมบ้านเดิม พบปะสังสรรค์กับพ่อแม่พี่ ๆน้อง ๆ มิให้ขาด ใครเป็นลูกประเภทชวนป๋วยก็ชวนปวดหัว เพราะถ้าไม่ไปก็รู้สึกผิด ถ้าไปนักคุณพี่ที่รักของเราก็อาจรำคาญจนกระทั่งไม่พอใจ เพราะเราไม่มีเวลาพักผ่อนด้วยกันประสาพ่อแม่ลูกของเราเอง วันหยุดก็เป็นอีกวันที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา

          จะหาความพอดีก็ต้องคิดให้ได้ก่อนว่า เอาละในเมื่อเรามาสร้างครอบครัวของตัวเองเป็นหน่วยหนึ่งแล้ว เราก็น่าจะมีความเป็นตัวของตัวเองพอสมควร มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ขึ้นอยู่กับการเห็นชอบและยอมรับของสมาชิกภายใน ครอบครัวของเราด้วย การรักและผูกพันกับพ่อแม่พี่น้องของตัวเองเหนียวแน่นเป็นเรื่องดีค่ะ แต่เราก็ต้องเดินสายกลางและไม่ลืมว่า เราเองก็ต้องให้เวลาเพื่อความสุขของครอบครัวที่เราก่อร่างสร้างมากับมือด้วย

          อาจต้องเปิดใจคุยกันว่าต่างคนต่างรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไรให้กันได้แค่ไหน และหาโอกาสอธิบายอย่างตรงไปตรงมากับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ว่า อาจหาเวลามาเยี่ยมเยียนน้อยลงไปหน่อย แต่ก็ไม่ใช่หายหน้าหายตาไปเลยยังคงสม่ำเสมอเหมือนเดิม ในยามเจ็บป่วยหรือจำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องดูแลญาติของตัวเอง ก็ควรจะมีเวลามากกว่าการเยี่ยมเยียนปกติ แต่ก็ต้องไม่ปล่อยปละละเลยครอบครัวตัวเองจนบ้านไม่เป็นบ้าน ถ้าเขาต้องไปดูแลก็ควรจะคอยเป็นแรงสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่เรา จะสามารถให้ได้(ค่อนไปทางมากหน่อยน่ะ)

          น้ำใจน่ะยิ่งให้ก็ยิ่งเป็นสุขนะคะจะบอกให้ คนที่เรารักเขาก็อบอุ่นใจเพราะรู้ว่าเราจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร : Teen, Kids & Family


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของญาติโกโหติกา อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16:07:36
TOP