x close

การถ่ายภาพ...งานแต่งงาน





การถ่ายภาพงานแต่ง (FOTOINFO)

เรื่อง : จิรชนม์ ฉ่ำแสง / ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว

          หากลองย้อนอดีตด้วยการพลิกอัลบั้มภาพงานแต่งงานรุ่นคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่าขึ้นมาดู เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการถ่ายภาพในต่างยุคต่างสมัยได้ในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการถ่ายภาพที่หลากหลายขึ้น ตามสมรรถนะของอุปกรณ์การถ่ายภาพที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มุมมองใหม่ ๆ ที่ช่างภาพนำมาใช้กับงานประเภทนี้ ที่มิใช่เพียงแค่หน้าตรง กลางเป๊ะ เน้นความคมชัดเป็นหลักกระทั่งการจัดอัลบั้มภาพแบบที่อัดภาพขนาด 4R แล้วนำมาสอดใส่ไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์ไว้เฉย ๆ ยังแทบไม่มีให้เห็นในปัจจุบัน

          และหากนึกให้ดีก็จะเห็นว่าการถ่ายภาพงานแต่งเมื่อครั้งอดีตนั้น หมายถึงการถ่ายภาพเฉพาะช่วงเวลาพิธีการ และงานเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากพอศอนี้โดยสิ้นเชิง การถ่ายภาพงานแต่งในยุคปัจจุบันได้ขยายขอบเขตออกไปมาก โดยช่างภาพต้องเริ่มงานของตัวเองตั้งแต่ก่อนวันแต่งงานจริงหลายเดือน ก็คือการถ่ายภาพคู่ของบ่าว-สาว เพื่อนำมาจัดอัลบั้มโชว์หน้างาน ที่ชาวไทยเรานิยมเรียกกันว่าถ่ายเวดดิ้ง (ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเรียวว่า พรีเวดดิ้ง – Pre-wedding

          ครั้นเมื่อถึงวันจริง นอกจากจะต้องถ่ายภาพพิธีการและงานเลี้ยงทั้งช่วงเช้า-เย็นไปตามปกติแล้ว ขณะที่บ่าว-สาวแต่งหน้าทำผม ช่างภาพก็ยังต้องตามไปเก็บภาพเบื้องหลังในช่วงเวลาดังกล่าวไว้อีกด้วย เพื่อให้ได้ภาพที่มีเนื้อหาของงานครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

          การถ่ายภาพงานแต่งในยุคปัจจุบันจึงแยกได้เป็นสองส่วน คือการถ่ายพรีเวดดิ้ง และการถ่ายภาพในวันพิธี ซึ่งช่างภาพบางคนอาจเลือกรับงานเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่บางคนก็สามารถถ่ายได้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

พรีเวดดิ้ง





          การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งแม้ในเมืองไทยอาจเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานนัก แต่มันกลับเป็นงานที่มีพัฒนาการค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่สูงมาก ด้วยลูกค้าอยู่ในภาวะที่พร้อมจ่าย สตูดิโอหรือช่างภาพจึงสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนสูง ๆ ได้ง่าย ใครต่อใครก็จึงอยากกระโดดเข้ามาจับงานตรงนี้กันทั้งนั้น

          ช่างภาพมือเก่าเก๋าๆ ที่สร้างฐานลูกค้าไว้เป็นจำนวนมาก ย่อมมีความได้เปรียบในเรื่องของการหางาน แต่ด้วยปริมาณงานที่มีมากมายจึงยังพอมีที่ว่างสำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ ผู้ต้องการเบียดเสียดสอดแทรกขึ้นมาจับงานประเภทนี้ถ้าหากมือถึงจริงๆ

          ฉะนั้นความแตกต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถสร้างงานที่โดดเด่นไม่เหมือนใครและโดนใจลูกค้าได้ ก็ย่อมมีสิทธิ์มีส่วนเข้ามาแบ่งเค้กชิ้นนี้ได้อย่างแน่นอน

          เรื่องการฝึกปรือฝีมือให้เข้าขั้นในยุคปัจจุบันสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมีการเปิดสอนการถ่ายภาพให้เลือกเรียนเป็นทางลัดอยู่มากมาย หรือจะฝึกฝนด้วยตนเอง โดยอาศัยเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาเป็นหนูทดลองยา ก็แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยซ้ำทว่านอกเหนือจากเทคนิคและฝีมือทางการถ่ายภาพ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ช่างภาพเวดดิ้งควรเรียนรู้และหาข้อมูลให้มาก

คุยกับลูกค้าให้มากพอ

          คุยในที่นี้มิได้หมายความถึงการคุยโอ้อวดสรรพคุณของตนเอง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ลูกค้าทราบดีอยู่แล้วจึงว่าจ้างให้เราไปถ่าย หากเป็นการคุยเพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริงของคู่บ่าว-สาว ว่าทั้งคู่ต้องการภาพประมาณไหน อารมณ์ไหน แม้ลูกค้าอาจจะบอกว่าไม่มีไอเดีย แล้วแต่เรา แต่เชื่อเถอะว่าทั้งคู่ (หรือคนใดคนหนึ่ง) มักจะมีภาพในใจอยู่บ้าง จึงเป็นหน้าที่ของช่างภาพที่ต้องดึงภาพนั้นออกมาให้ชัด เพื่อการกำหนดธีม (Theme) หรือคอนเซ็ปท์ (Concept) ของงานในชุดนี้ให้ได้ เพื่อให้งานทุกอย่างดำเนินไปตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

          นอกจากนี้การคุยกับลูกค้าบ้างในขณะที่ถ่ายภาพ ยังจะช่วยลดอาการเกร็ง ความเขินอาย ความประหม่า และสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองให้เกิดขึ้น ทำให้ได้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า

การโพสท่า

          แม้ช่างภาพจำนวนไม่น้อยมีความถนัดและนิยมชมชอบการถ่ายภาพแคนดิด เพราะมักให้ภาพที่ตัวแบบซึ่งในที่นี้คือเจ้าบ่าว-สาวดูมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายพรีเวดดิ้งย่อมต้องมีการจัดท่าทาง เพื่อถ่ายภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นช่างภาพจึงควรศึกษาวิธีการวางท่าทางทั้งแบบมาตรฐาน และแบบอื่นๆ ที่จะทำให้บ่าว-สาวดูดีที่สุด ซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นการหันปลายเท้าไปทางใดทางหนึ่ง ลักษณะและตำแหน่งของการวางมือ การจับมือกันและกัน การก้มหรือเงยหน้าเล็กน้อย ทิศทางที่สายตาของทั้งคู่จะทอดไป ฯลฯ

          เรื่องนี้สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก เพียงลองเปิดนิตยสารแนวเวดดิ้งหรือแฟชั่นที่มีการถ่ายภาพคู่ รวมไปถึงเว็บไซต์ของช่างภาพชื่อดังในวงการ ก็จะมีตัวอย่างการจัดท่าทางแบบต่างๆ มากมายให้เราดู จดจำสิ่งที่ดีๆ มาปรับใช้ เพื่อให้เข้ากับสไตล์การถ่ายภาพของเราเอง

สไตล์ลิสต์จำเป็น

          เป็นเรื่องปกติและอาจถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ช่างภาพเวดดิ้งต้องทำให้ได้ ก็คือการดูแลหรือให้คำตอบนำกับคู่บ่าว-สาว ในเรื่องของเสื้อผ้า หน้า ผม ว่าชุดที่จะนำมาใช้ถ่ายภาพควรมีกี่ชุด อะไรบ้าง ทั้งยังต้องให้ชุดของคู่บ่าว-สาวนั้นเข้ากันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ไม่ใช่ว่าชุดสวยดูดีทั้งคู่แต่นำมาเข้ากันไม่ได้ไปกันคนละทาง ทรงผมควรจะประมาณไหน ควรแต่งหน้าออกไปโทนใด สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นการถ่ายภาพแฟชั่น จะมีสไตล์ลิสต์มาคอยดูแลให้ แต่กับภาพเวดดิ้งส่วนมากแล้วมักจะจบในคนเดียวก็คือ ช่างภาพนั่นเอง

          นอกจากนี้อาจเหมารวมไปถึงการจัดหาพร็อบต่างๆ เพื่อนำมาเป็นตัวเสริมให้ภาพดูมีชีวิตชีวาขึ้น ซึ่งหลักๆ ก็คือ ดอกไม้ ที่นอกจากจะต้องรู้ว่าดอกไม้อะไรจึงจะเข้ากับชุดหรือคอนเซ็ปท์ที่จะถ่ายแล้ว ช่างภาพบางคนรู้กระทั่งว่าดอกไม้ประเภทนี้จะไปซื้อได้ที่ไหน เวลาไหน ดอกชนิดไหนบานนานบานหน อันไหนเหี่ยวแห้งเร็ว อันไหนมีกลิ่นแรง ฯลฯ
นอกจากดอกไม้ ก็อาจมีลูกโป่ง แว่นกันแดด หมวก ร่ม ฯลฯ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับธีมของงานในชุดนั้นๆ เป็นหลัก

รู้จักสถานที่ (Location) ให้มากพอ

          สถานที่หลักๆ สำหรับการถ่ายภาพเอาท์ดอร์เวดดิ้งมักจะเป็นรีสอร์ทชายทะเลที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาในการเดินทาง ในการนี้หากลงทุนไปดูสถานที่ด้วยตาตัวเองได้ก็จะดีมากๆ เพราะเราจะเห็นภาพรวมของสถานที่ได้ชัดเจน นอกเหนือไปจากที่มีภาพโชว์อยู่ในเว็บไซต์แนะนำ แต่ถ้าไม่สามารถก็ต้องอาศัยข้อมูลจากโลกไซเบอร์ให้มากๆ เข้าไว้

          การที่ช่างภาพนิยมเลือกถ่ายในรีสอร์ทเป็นส่วนใหญ่ มีเหตุผลสำคัญนอกเหนือไปจากความสวยงามของสถานที่นั้นๆ เป็นหลักแล้ว ก็ยังมีเรื่องความสะดวกของสถานที่สำหรับการแต่งหน้า-ทำผม การเปลี่ยนเสื้อผ้าในแต่ละชุด

          นอกจากนี้ร้านอาหาร หรือผับบางแห่งที่ตกแต่งอย่างสวยงามมีสไตล์
ยังอาจใช้เป็นสถานที่ถ่ายภาพได้ โดยเฉพาะร้านที่ปิดเวลากลางวัน และเปิดเฉพาะเวลาเย็นถึงกลางดึก มีโอกาสที่จะขอเช่าใช้สถานที่ได้ไม่ยาก

          หรือจะเป็นสถานที่แปลกๆ ที่พบเจอโดยบังเอิญ อย่างเช่นสนามกีฬา สถานีรถไฟ ตึกร้าง บ้านเก่า ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าอาจดูไม่เหมาะไม่ควรกับการถ่ายภาพเวดดิ้งเอาเสียเลย แต่มันไม่เสมอไป หากเราผู้เป็นช่างภาพหรือคู่บ่าว-สาว มีไอเดียอะไรแปลกๆ สถานที่ประเภทนี้อาจนำมาปรับใช้ประกอบไปกับการตกแต่งภาพด้วย ซอฟท์แวร์ช่วยในภายหลังได้เป็นอย่างดี

บริหารจัดการเวลาให้เหมาะสม

          การถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง ส่วนมากจะใช้เวลาครึ่งวันถึงหนึ่งวัน ซึ่งในยุคนี้อาจถูกวิดีโอพรีเซ็นเทชั่นพรากเวลาระหว่างวันไปอีกส่วนหนึ่ง หากคู่บ่าว-สาวนัดทีมทำพรีเซ็นเทชั่นในวันเดียวกัน ไหนจะต้องให้เวลากับช่างแต่งหน้าทำผม ยังจะมีช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนชุดอีก กับเวลาที่พักทานอาหารหรือคอฟฟี่เบรกเล็กๆ น้อยๆ อีกทางหนึ่ง ดังนั้นเวลาถ่ายภาพจริงๆ จึงเหลือไม่มากนัก

          การควบคุมเวลาในการถ่ายภาพต่อหนึ่งชุดให้พอดีๆ กับเวลาทั้งหมดที่มี จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ มิเช่นนั้นแล้ว ชุดที่เตรียมไปอาจได้ใช้ไม่ครบอย่างที่ตั้งใจ หรือในชุดแรกๆ อาจมีภาพมากเกินจำเป็น แต่ชุดหลังๆ กลับมีน้อยจนแทบไม่พอให้เลือกมาใช้งานเป็นต้น

มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและคนรอบข้าง

          เรื่องนี้มักไม่ค่อยเป็นปัญหาสำหรับช่างภาพมือใหม่วัยกระเตาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมือไม้อ่อนไหว้ไปรอบทิศด้วยความอ่อนเยาว์และอ่อนพรรษาในวงการ ต่อเมื่อเวลาผ่านไปฝีมือแก่กล้ามากขึ้น อีโก้มักจะมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ความเกรงใจต่อคนรอบข้างจึงน้อยลงแม้แต่ลกค้าก็ไม่เว้น ช่างภาพบางรายเสียลุกค้าเพราะเรื่องทำนองนี้ก็มี แม้จะมีฝีมือดีเพียงไหน แต่ถ้ามนุษย์สัมพันธ์แย่ก็ยากที่จะทำงานกับใครได้ราบรื่น

          แม้แต่กับช่างแต่งหน้า-ทำผม หากคุยกับเขา (หรือเธอ) ดีๆ ก็จะทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ยิ่งถ้าเราต้องการเติมนั่นนิดแก้นี่หน่อยบนใบหน้าของบ่าว-สาวก็จะเป็นการง่าย และเขายังอาจช่วยมาดูแลบ่าว-สาวระหว่างการถ่าย จนเสมือนเป็นผู้ช่วยหรือสไตล์ลิสต์ให้เราอีกด้วย


การถ่ายภาพวันพิธีแต่งงาน





          การถ่ายภาพวันพิธีแต่งงานหรือวันจริง เมื่อก่อนมักใช้ช่างภาพเพียงคนเดียวในการถ่ายตลอดวัน ภาพส่วนใหญ่ก็จึงมีแต่เฉพาะภาพบ่าว-สาวในขณะทำพิธีต่างๆ เป็นหลัก ในช่วงเย็นก็จะมีเพียงภาพหน้าซุ้ม ภาพถ่ายกับแขกตามโต๊ะจีน และภาพพิธีการบนเวทีเท่านั้น ทว่าในปัจจุบันนิยมใช้หรือควรแนะนำให้ลูกค้าจ้างช่างภาพมากกว่า 1 คนขึ้นไป แล้วแต่ขนาดของงาน เพื่อความสมบูรณ์และหลากหลายของภาพในวันนั้น

          โดยช่างภาพที่เพิ่มขึ้นมา จะมีหน้าที่เก็บภาพรวมในแง่มุมอื่นๆ อาทิเช่น เก็บภาพแคนดิดของคู่บ่าว-สาว รวมไปถึงญาติผู้ใหญ่และแขกหรือคนอื่นๆ เก็บภาพอาคารสถานที่หรือห้องจัดเลี้ยง เก็บบรรยากาศภายในห้องจัดเลี้ยงขณะที่บ่าว-สาวยืนถ่ายภาพอยู่หน้าซุ้ม เก็บภาพอาหาร-เครื่องดื่ม หรือพร็อบอื่นๆ เช่นดอกไม้ เค้กน้ำแข็งสลัก ฯลฯ ที่ถูกจัดตกแต่งไว้ภายในงาน รวมไปถึงการถ่ายภาพเบื้องหลัง ขณะที่บ่าว-สาวแต่งหน้าทำผม

          ในส่วนของช่างภาพ การทำงานร่วมกันสองคนนอกจากจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างได้มากขึ้น จากการที่มีคนหนึ่งเก็บภาพในแบบมาตรฐานเป็นหลัก จึงทำให้อีกคนสามารถใช้ลูกเล่นและความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพได้เต็มที่ อาทิเช่นการใช้เลนส์มุมกว้างมากๆ กระทั่งเลนส์ฟิชอายเพื่อมุมมองที่ดูหวือหวาแปลกตา การถ่ายภาพแบบไหวๆ ให้ดูมีมูฟเมนต์ การถ่ายภาพจากมุมไกลๆ หรือมุมสูง (หากสถานที่เอื้ออำนวย) อย่างนี้เป็นต้น

          จริงๆ แล้วในงานนี้ช่างภาพทั้งสองส่วนต่างมีความสำคัญพอๆ กัน แต่เพื่อความไม่สับสนและเข้าใจง่ายจึงขอเรียกช่างภาพที่ถ่ายในมุมมาตรฐานและช่างภาพประจำหน้าซุ้มว่าช่างภาพหลัก ส่วนคนที่เก็บบรรยากาศโดยรวมเรียกว่าช่างภาพรอง

          หน้าที่ของช่างภาพหลัก ก็คือการเก็บงานตามพิธีการที่สำคัญ เน้นความคมชัด ใช้แสงใสๆ เคลียร์ๆ จัดองค์ประกอบภาพแบบดูง่ายเข้าใจง่ายผู้ใหญ่ชอบเป็นหลัก ช่างภาพหลักจึงมักจะต้องทำงานใกล้ชิดกับทุกฝ่ายค่อนข้างมาก จึงควรเป็นคนที่มีวาทศิลป์ดี ช่างจำนรรจา พูดจาหวานหู และมีจิตวิทยาที่ดีเพื่อโน้มน้าวให้ผู้หลักผู้ใหญ่ขยับไปยืนในตำแหน่งที่ต้องการโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือทำตามตามคำสั่ง

          โดยเฉพาะเวลาถ่ายภาพหมู่หลังการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือการถ่ายภาพหมู่หน้าซุ้ม ส่วนมากญาติผู้ใหญ่มักจะเกร็งๆ ทำหน้านิ่งๆ ช่างภาพหลักต้องใช้คำพูดที่สามารถสร้างรอยยิ้ม เรียกเสียงหัวเราะ และสร้างอารมณ์ร่วมในการถ่ายภาพให้สนุกสนานผ่อนคลาย ภาพจึงจะออกมาดี ไม่ใช่เพียงแค่นับหนึ่ง..สอง..สาม..แชะ เท่านั้น เรียกว่าต้องมีความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ในตัวค่อนข้างสูง

          หน้าที่ของช่างภาพรอง ก็คือการเก็บรายละเอียดของส่วนอื่นๆ ภายในงานจึงต้องเป็นคนที่ถ่ายภาพได้หลากหลายแนว มีลูกเล่นทางการถ่ายภาพแพรวพราวขยันหามุมมองที่แปลกแตกต่าง เปรียบเสมือนตัวฟรีในเกมฟุตบอล ที่สามารถจะเดินไปอยู่ตรงไหนก็ได้ภายในบริเวณงาน มีอิสระในการทำงานค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากเป็นพิเศษ เพราะการเก็บรายละเอียดในส่วนนี้มักจะเป็นส่วนที่ทำให้ภาพรวมของงานดูแตกต่าง หากสังเกตให้ดี ภาพจากเว็บไซต์ต่างๆ มักจะนำภาพในส่วนนี้มากเป็นตัวชูโรง เป็นจุดขายเสมอ

          สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การทำงานเป็นทีม แบ่งแยกหน้าที่หรือลักษณะการถ่ายกันให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ภาพที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน คนหนึ่งอาจถ่ายโดยใช้แฟลชเป็นหลัก ขณะที่อีกคนใช้แสงแอมเบียน (แสงจากแหล่งกำเนิดแสง จำพวกหลอดไฟประเภทต่างๆ ที่ถูกจัดไว้ภายในงาน) เป็นหลัก ขณะคู่บ่าว-สาวเดินขึ้นเวทีหรือขณะตัดเค้ก ต้องตกลงให้ดีว่าใครจะถ่ายมุมไหนอย่างไร ที่จะไม่เป็นการกั๊กมุมกันเอง ยิ่งงานไหนใช้ช่างภาพมากกว่าสองคนขึ้นไป โอกาสที่จะทำงานซ้ำซ้อนกันก็มีมากขึ้นถ้าหากไม่นัดแนะกันให้ดี

          ในกรณีที่มีช่างภาพเกินสองคน ช่างภาพหลักยังคงมีเพียงคนเดียวและถ่ายแบบมาตรฐานตามปกติ ในส่วนของช่างภาพรอง อาจแบ่งไปเลยว่าใครจะใช้เลนส์ในช่วงไหน คนหนึ่งมุมกว้าง คนหนึ่งเทเลโฟโต้ หรืออาจจะแบ่งให้คนหนึ่งเน้นเก็บภาพบุคคล ส่วนอีกคนเก็บบรรยากาศและการตกแต่งสถานที่เป็นหลัก เพื่อให้ได้งานที่มีความหลากหลายสมกับที่ใช้ช่างภาพหลายคน

อุปกรณ์ที่จำเป็น

          การถ่ายภาพในยุคดิจิตอล ที่มีกล้องดีๆ ใหม่ๆ แข่งขันกันออกมาจนเกือบจะเรียกได้ว่าซื้อปุ๊ปตกรุ่นปั๊ปนั้น แน่นอนว่ากล้องรุ่นใหม่กว่าย่อมมีระบบการทำงานรวมถึงให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่าเดิม แต่คำถามคือว่ามันจำเป็นแค่ไหน เพราะกล้องที่ว่าดีๆ นั้น ราคาค่างวดเหยียบแสนเข้าไปแล้ว หากไม่มีงานซุกจริงๆ กว่าจะใช้มันคุ้มราคาเผลอๆ ตกรุ่นไปแล้ว แถมราคายังตกฮวบฮาบให้เจ็บใจอีกต่างหาก ดังนั้นในส่วนของกล้องถ่ายภาพช่างภาพอาจไม่จำเป็นต้องอัพเดทเสมอไป สู้เอาเงินไปลงทุนกับเลนส์ดีๆ ช่องรับแสงกว้างๆ ดีกว่า

          และหากจะว่ากันจริงๆ แล้ว เลนส์ที่ใช้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเลนส์เกรดโปรราคาแพงลิบลิ่วเสมอไป เพราะการใช้งานของลูกค้ากับภาพเกือบทั้งหมดคือการดูภาพผ่านคอมพิวเตอร์ หรืออัดภาพขนาด 4R เท่านั้น ยกเว้นเพียงภาพชุดพรีเวดดิ้งเท่านั้นที่จะถูกนำมาขยายใหญ่ ซึ่งก็มีจำนวนไปมากนัก และถ้าถ่ายภาพมาด้วยสภาพแสงดีๆ เลนส์ระดับกลางๆ ก็สามารถให้คุณภาพที่นำมาใช้งานได้อย่างไร้กังวล บวกกับการตกแต่งภาพผ่านซอฟท์แวร์อีกนิดหน่อย เชื่อเถอะว่าถ้าไม่ใช่พวกตาผีจมูกมด ไม่มีทางดูออกว่าเราถ่ายภาพด้วยเลนส์เกรดไหน

          ยังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้มันลดความสำคัญลงไปมาก นั่นก็คือแฟลช ด้วยการปรับค่าไวท์บาลานซ์เพื่อแก้สี และด้วยการตั้งค่า ISO ให้สูงมากๆ โดยยังรักษาคุณภาพของภาพไว้ได้ จึงทำให้ช่างภาพหลายต่อหลายคนโบกมือล่ำลาจากการใช้แฟลช หันมาใช้เลนส์ช่องรับแสงกว้างๆ ถ่ายด้วยแสงแอมเบียนของสถานที่บวกกับการใช้สปอตไลท์ตั้งตามจุด หรือมีคนถือไฟเดินตามแทน นัยว่ามันให้ภาพที่ดูสวยเนียนยิ่งกว่าการใช้แฟลชเสียอีก
ซึ่งในเรื่องนี้ตามความเห็นของผู้เขียน ไม่ขอชี้ชัดลงไปว่าอย่างไรดีกว่า เพราะมันมีข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่ไม่เหมือนกัน

          และความถนัดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และจริงๆ แล้ว การใช้แสงแอมเบียนอาจไม่สามารถทดแทนการใช้แฟลชได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งภาพบางลักษณะจะเกิดขึ้นได้ก็จากการใช้แฟลชเท่านั้นอีกด้วย เช่นภาพที่มีมูฟเมนต์ในลักษณะกึ่งชัดกึ่งเบลอ แต่ช่างภาพบางคนอาจไม่ชอบถ่ายในลักษณะนี้ก็ไม่มีความจำเป็น หรืออาจไปทำด้วยซอฟท์แวร์ในภายหลังก็ได้

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมและเพียงพอไม่ว่าจะเป็นกล้องสำรองหากเกิดกล้องมีปัญหา แบตเตอรี่, เมมโมรี่การ์ด, หลอดสำรองในกรณีที่ใช้ไฟแฟลชหรือสปอตไลท์ เป็นต้น

          อุปกรณ์อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือ อุปกรณ์การสำรองข้อมูลต้นฉบับ อย่าได้ประมาทหรือมองข้ามไปนะครับ ในยุคไอทีเช่นนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งทางเลือกก็มีหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น DVD, External HD, Notebook หรือ Storage Media ต่างๆ ช่างภาพหลายคนอาจจะบอกว่าสิ้นเปลือง แต่เชื่อเถอะครับว่าหากมันเกิดปัญหากับข้อมูลที่คุณมีเพียงชุดเดียวโดยไม่มีการสำรองไว้ละก็ ต่อให้ต้องซื้อ DVD แผ่นละพัน คุณก็ยังรู้สึกว่ามันถูกเลยครับ

          อุปกรณ์ที่ดีนั้นจะช่วยให้การทำงานของช่างภาพเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่มุมมองและวิธีการถ่ายภาพของช่างภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า การใช้อุปกรณ์ระดับกลางๆ แต่สามารถรีดคุณภาพของมันออกมาได้เต็มที่ เชื่อได้ว่าภาพดีๆ ไม่หนีไปไหนแน่นอน




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การถ่ายภาพ...งานแต่งงาน โพสต์เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16:16:28 6,921 อ่าน
TOP