x close

ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับฤกษ์แต่งงาน


แต่งงาน

ดูฤกษ์ก่อนแต่ง (Bride Magazine)

เรื่อง : Yuii

          ปีนี้ถือเป็นปีที่มีฤกษ์งามยามดีที่สุดที่หลายคู่รักพากันจูงมือเข้าประตูวิวาห์ เพราะฤกษ์แต่งงานถือเป็นอีกเรื่องที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว และญาติ ๆ ต้องช่วยกันเฟ้นหา ว่าต้องเป็นฤกษ์แบบไหนถึงจะออกมาลงตัวเหมาะสมและสมพงษ์กันที่สุด ฉะนั้น เรามาหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องฤกษ์ยามกันดีกว่า

          ฤกษ์ หมายถึง คราวหรือเวลา ความปลอดภัยหรือความสำเร็จสมประสงค์ อำนวยความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ประกอบการนั้น ๆ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ฤกษ์บนและฤกษ์ล่าง

          ฤกษ์บน เป็นชัยมงคลเบื้องสูง โดยถือตำแหน่งของพระจันทร์ และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ เป็นหลัก คือ กำหนดโดยจันทร์ พระจันทร์ต้องดีไม่เป็นอริ มรณะ และวินาศแก่ผู้ประกอบการ พระจันทร์โคจรให้คุณ เช่น จันทร์คุรุสุริยา ทางโหราศาสตร์ได้กำหนดฤกษ์ไว้ 9 ฤกษ์ ได้แก่ ทลิทโทฤกษ์, มหัทธโณฤกษ์, โจโรฤกษ์, ภูมิปาโลฤกษ์, เทศาตรีฤกษ์, เทวีฤกษ์, เพชฌฆาตฤกษ์ ราชาฤกษ์ และสมโณฤกษ์

          ฤกษ์บนที่นิยมและเหมาะสำหรับใช้ประกอบพิธีแต่งงาน คือ มหัทธโนฤกษ์ แปลว่า คนมั่งมี ผู้รุ่งเรือง เศรษฐีเป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับการมงคลต่าง ๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน เปิดห้าง ร้าน ธุรกิจการเงินและสารพัดงานมงคล ภูมิปาโลฤกษ์ แปลว่า ผู้รักษาแผ่นดิน เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับการมงคลต่าง ๆ งานที่ต้องการควรมั่นคงถาวร เช่น งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ก่อสร้างปลูกเรือน และสารพัดงานมงคลทั้งบ่วง เทวิฤกษ์ แปลว่า นางพญา ความงามหรูหรา ความมีเสน่ห์ โชคลาภ และความสมปรารถนา เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับการเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ การหมั้นหมายและสมรสการส่งตัวเจ้าสาว และการเข้าห้องหอ ขึ้นบ้านใหม่ ขอความรักงานมีเกียรติ และสารพัดงานมงคลทั้งปวง

          ส่วนฤกษ์ล่าง ซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคลทางเบื้องใต้ฟ้า หรือเบื้องต่ำบนพื้นดิน โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น โดยให้วันทั้ง 7 ประกอบด้วย ดิถี ขึ้น แรม และเดือน ปี เป็นหลักในการคำนวณนับ เช่น วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ และมีดิถี คือ ขึ้น แรม ดิถีธงชัย ดิถีพิฆาต อีกทั้งวันจม วันฟู วันลอยก ทิงวัน อัคนิโรธ ทักทิน ยมขันธ์ จัดเป็นฤกษ์ย่อยต่าง ๆ รวมเรียกว่า "ฤกษ์ล่าง" หรือ (ภูมิดล)

          วิธีการดูว่าวันนั้น ๆ เหมาะแก่การประกอบพิธีการมงคลต่าง ๆ รวมถึงเหมาะแก่การประกอบพิธีแต่งงานหรือไม่นั้น สามารถดูได้จากฤกษ์บนและฤกษ์ล่าง หรือจะดูประกอบกัน ถ้าเป็นฤกษ์ที่ดีทั้ง 2 ส่วนก็จะถือว่าเป็นวันดีมาก เช่น เป็นทั้งวันธงชัยและมหัทธโนฤกษ์ในวันเดียวกัน ก็จะยิ่งเสริมให้กระทำการมงคลต่าง ๆ นั้นเป็นสิริมงคลแก่ผู้ประกอบพิธีขึ้นไป ส่วนการที่ระบุละเอียดเป็นคาบช่วงเวลาในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ภายในวันนั้น ๆ ก็จะเป็นการดูฤกษ์ละเอียดเป็นคาบช่วงเวลา ว่าช่วงเวลานั้น ๆ เป็นฤกษ์อะไร เพื่อจะเสริมความเป็นสิริมงคลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้นจะเห็นว่าในรอบ 1 ปี เจ้าบ่าว เจ้าสาวส่วนใหญ่จะได้ในฤกษ์แต่งงานฤกษ์ดีในวันเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นวันที่ไม่ว่าจะประกอบกิจงานมงคลใด ๆ ก็จะดีไปหมด บางคนก็จะได้มาเป็นวันที่และเดือน โดยไม่ต้องระบุช่วงเวลา ถือเอาเป็นเวลาหรือฤกษ์ที่สะดวก เพราะวันนั้นเป็นวันดีทั้งวัน

          อย่างไรก็ตาม เรื่องของฤกษ์ก็ยังขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในเรื่องของดวงชะตา ความเชื่อและศรัทธาในตัวของผู้ที่ให้ฤกษ์นั้นมา และความเคร่งครัดของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ส่วนใหญ่ในปัจจุบันคู่แต่งงานหลายคู่จะหันมาใช้ฤกษ์สะดวกกันมากขึ้น ความเคร่งครัดในเรื่องโชคลางก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง จากความคิดว่าการแต่งงานเป็นเรื่องที่เป็นมงคลอยู่แล้ว ประกอบกับถ้าเป็นช่วงเวลาที่พร้อม และสะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว พิธีแต่งงานนั้น ๆ ก็จะราบรื่น มีแต่ความสุขสดชื่น ไม่ต้องกังวลใจ ซึ่งก็จะทำให้คู่บ่าวสาวให้ได้ระลึกถึงวันเวลาดี ๆ วันนี้ แม้วันเวลาผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม

          เมื่อมีความรู้เบื้องต้นเรื่องฤกษ์แล้วก็เดินหน้าหาฤกษ์ที่ลงตัวที่สุด เพื่อพิธีแต่งงานที่มีมงคลที่สุดกันได้เลย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.5 27th YEARS


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับฤกษ์แต่งงาน อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2558 เวลา 14:50:49 3,295 อ่าน
TOP