x close

พิธีแต่งงานล้านนาในยุคปัจจุบัน

พิธีแต่งงานแบบล้านนา



พิธีแต่งงานล้านนาในยุคปัจจุบัน (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ )

           ปัจจุบันพิธีแต่งงานแบบล้านนา ได้มีการปรับประยุกต์ให้เหมาะสมสมัย มีการผสมผสาน วัฒนธรรมการแต่งงานแบบภาคกลางเข้ามาร่วมด้วย พิธีการแต่งงาน จะนิยมจัดที่บ้านของฝ่ายหญิง เนื่องจากธรรมเนียมล้านนา นิยมให้ผู้ชายไปอยู่กับผู้หญิงที่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง ดังนั้นเมื่อรักใคร่ชอบพอกัน และฝ่ายชายให้ผู้ใหญ่มา จาเทิง (จ๋าเติง) (หมั้นหมายกันไว้แล้ว) จากนั้นฝ่ายชายจะหาฤกษ์งามยามดี เพื่อจัดพิธีแต่งงาน การแต่งงานจะต้องเตรียมตัวหลายอย่าง ได้แก่

           1. การเตรียมบ้านของฝ่ายหญิง เตรียมที่นอน หมอน มุ้ง เตรียมห้องหอ ในอดีตหญิงสาวจะต้องทอผ้าขึ้นเพื่อทำเป็น สะลี (ฟูกรองนอน) ทอผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หมอน เตรียมไว้ พอใกล้วันแต่งงานก็จะต้องตกแต่งบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ

           2. การบอกกล่าวให้กับคนในชุมชนมาร่วมงาน โดยพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย จะเชิญแขกเหรื่อฝ่ายตนเองให้มาร่วมงาน บอกล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์

           3. การเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงแขก กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้านจะต้องช่วยกันทำ

           4. ฝ่ายชายจะต้องเตรียมขบวนแห่ขันหมาก และเครื่องประกอบพิธีแต่งงาน ประกอบไปด้วย ได้แก่ หีบผ้าใหม่ ดาบ ถุงย่าม (ถุงขนัน) ขันหมาก ขันไหว้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย อย่างละ 1 คู่ ขันสินสอด ขันหมั้น (กรณีหมั้นพร้อมแต่ง) สะลี หมอน มุ้ง ผ้าห่ม (อาจจะมีไม่มีก็ได้) สิ่งของเหล่านี้ เป็นของที่จะต้องเตรียมมาในวันแต่งงาน โดยอาจจะมีการจัดขบวนแห่อย่างเอิกเกริก จากบ้านเจ้าบ่าวมายังบ้านเจ้าสาว

           5. ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ในเช้าวันแต่งงาน พิธีการนี้จะต้องให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนเครื่องพลีกรรมในพิธี อาจจะช่วยกันทำ หรือให้ปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้จัดเตรียมให้

แต่งดาเครื่องใช้ในพิธีแต่งงาน
แต่งดาเครื่องใช้ในพิธีแต่งงาน


      ขอเจ้าบ่าว (ขอเขย)

          ในเช้าวันแต่งงาน เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ฝ่ายเจ้าสาวจะไปขอเจ้าบ่าวเรียกว่า ไปขอเขย โดยมีผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวเป็นคนที่ช่างเจรจานำคณะไปขอเจ้าบ่าวที่บ้านเจ้าบ่าว

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

          การขอเจ้าบ่าวจะต้องมีพานดอกไม้ธูปเทียน ไปพูดเชิญด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล (ประคอง นิมมานเหมินท์และ ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, 2521, หน้า109) เพื่อเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำคณะญาติมิตรและตัวเจ้าบ่าว แห่ขบวนขันหมาก ไปยังบ้านเจ้าสาวให้ทันตามกำหนด เวลาฤกษ์ การขอเจ้าบ่าว มักจะไปขอกับพ่อแม่เจ้าบ่าว โดยกล่าวคำมงคลว่า  "มาวันนี้ก็เพื่อมาขอเอาแก้วงามแสงดี มาไว้เป็นมงคลบ้านโน้น" ทางพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว มีขันข้าวตอกดอกไม้และขันหมากเป็นเครื่องต้อนรับ (ศรีเลา เกษพรหม, 2544 หน้า 51) และกล่าวฝากตัวลูกชายไปเป็นลูกเขยว่า

          "ลูกชายข้าก็รักดั่งแก้วดั่งแสง จะร้ายดีอย่างใด ก็ขอได้ช่วยสั่งช่วยสอนเขาเทอะ" พิธีขอเจ้าบ่าวนี้ ถ้าเจ้าบ่าวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับเจ้าสาว จะใช้วิธีเดินเท้าไปเป็นขบวน แต่ถ้าอยู่คนละหมู่บ้านอาจจะโดยสารโดยรถยนต์ หรือนำคณะไปพักอยู่บ้านญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันบ้านเจ้าสาว

เจ้าบ่าวขอสูมาพ่อแม่
เจ้าบ่าวขอสูมาพ่อแม่

พิธีแต่งงานแบบล้านนา
เจ้าบ่าวขอลาพ่อแม่

      ขบวนขันหมาก

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. มณี พยอมยงค์ (สัมภาษณ์, 3 ธันวาคม 2551) เล่าว่า เมื่อถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าว และญาติพี่น้อง พร้อมทั้งแขกเหรื่อฝ่ายเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนแห่ขันหมาก

เจ้าบ่าวลาพ่อแม่  เจ้าบ่าวลาพ่อแม่

          มีเครื่องประกอบขบวนโดยนำขันดอกไม้นำหน้า ตามด้วยบายศรีที่อาจทำมาแต่บ้านเจ้าบ่าว หรือบ้านเจ้าสาวทำบายศรีไว้แล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องนำมาแห่ในขบวน

          ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องสะพายดาบ อันเป็นเครื่องหมายแห่งชายชาตรี และตามมาด้วยขันหมั้น ขันหมาก หีบผ้า หน่อกล้วย หน่ออ้อย เป็นต้น ในขบวนมีกลองซิ้งม้องกับปี่แนตีบรรเลง เพื่อให้เกิดความครึกครื้นในขบวน ส่วนแขกที่ร่วมงานจะเดินในขบวนแห่ขันหมาก ไปหาเจ้าสาวยังบริเวณพิธี เมื่อพร้อมแล้วทางฝ่ายเจ้าสาว จะส่งตัวแทนไปเชิญขบวนแห่ฝ่ายเจ้าบ่าวเข้าบ้าน

          เมื่อขบวนแห่มาถึงพิธี เจ้าสาวจะออกมารอรับเจ้าบ่าว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะไปหาเจ้าสาวได้จะต้องเจรจา ขอผ่านประตูที่ใช้เข็มขัดกั้นประตูแรกก่อน เรียกว่า ประตูเงิน ซึ่งเจ้าบ่าวต้องตอบคำถามและจ่ายเงินให้ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อให้คนกั้นประตูปล่อยให้เข้าไปในประตูอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า ประตูทอง จากนั้นก็ต้องตอบคำถามและจ่ายเงิน จึงจะไปพบเจ้าสาวได้ คำถามที่นิยมใช้ในการเจรจา เช่น

          โฮะ! จะปากั๋นไปไหนปะล้ำปะเหลือ มากั๋นนักจะอี้เนี่ย

          ผู้แทนฝ่ายเจ้าบ่าวที่มีโวหารดีจะพูดในลักษณะมงคลว่า

          "หมู่เฮาเอาแก้วแสงดีมาหื้อมาปั๋นพี่น้องบ้านนี้"

          ผู้แทนเจ้าสาวจะตอบว่า

          "บ้านข้าเจ้านี้มีประตูเงิน ประตูคำ จะเข้าไปง่าย ๆ บ่ได้ จะต้องซื้อเข้าก่อนเน้อ"

          ฝ่ายเจ้าบ่าวจะถามว่า

          "บ่เป็นหยังจะเอาเท่าใดเล่า " ...

          จากนั้น มีการต่อรองราคากันจนตกลงตามความพอใจทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเจ้าบ่าวจะจ่ายเงินให้ผู้กั้นประตูและมีการกั้นประตูทอง หรือประตูคำกันต่อไป โดยจะมีการโห่ร้องหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ในอดีตประตูขั้นสุดท้ายจะมีการล้างเท้าเจ้าบ่าว โดยเด็ก ๆ ถือขันน้ำรดลงที่เท้าเจ้าบ่าว และเจ้าบ่าวก็ต้องมอบเงินรางวัลตอบแทนให้ (มณี พยอมยงค์, 2543, หน้า 164)

พิธีแต่งงานแบบล้านนา
ประตูเงิน

พิธีแต่งงานแบบล้านนา
ประตูทอง

          คำเจรจา อีกสำนวนหนึ่ง เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องหาคนที่มีวาทศิลป์ มาเป็นผู้เจรจาต่อรองด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล เช่น (บัวซอน ถนอมบุญ, สัมภาษณ์, 8 พฤศจิกายน 2551; อินตา เลาคำ, สัมภาษณ์, 8 พฤศจิกายน 2551)

          ผู้ใหญ่ฝ่ายกั้นประตูบ้านเจ้าสาวถาม

          "ปากั๋นมาหยะหยัง ปะล้ำปะเหลือจะอี้นี่"

          ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวตอบ
         
          "วันนี้จะเอาหน่อดี จาวงาม มาปลูกมาฝังกับพี่น้องบ้านนี้ หันว่าบ้านนี้เพิ่นดินดีน้ำดี"

          ฝ่ายเจ้าสาวถาม

          "บ้านนี้มีประตูเงินประตูคำ จะเข้าไปง่าย ๆ บ่ได้ก้า ต้องจ่ายค่าผ่านประตู"

          ฝ่ายเจ้าบ่าวตอบ

          "แล้วจะเอาเท่าใดเล่า" …

          เมื่อเจรจาตกลงกันแล้ว จ่ายเงินแล้ว เจ้าบ่าวก็จะตอบว่า

          "วันนี้เป็นวันดี  เป็นวันมงคล หมู่เฮาจะเอาแก้วมาสวมหัวแหวน จะเอาทองมาเป๋นแผ่นเดียวกั๋น ขอทางฝ่ายเจ้าสาวจงอินดูเมตตาหื้อเข้าไปเทอะ"
         
          ผู้ใหญ่บ้านเจ้าสาวเจรจาตอบ

          "วันนี้เป็นวันดียามดี มีจายหนึ่งญิงหนึ่ง จะมาอยู่แปงแต่งสร้างโตยกัน เจินเข้ามาเลย"

      เรียกขวัญและผูกข้อมือเจ้าบ่าว

          เมื่อเจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทองเข้ามาในพิธีแล้ว ลำดับต่อไป เจ้าบ่าวเจ้าสาวไหว้พ่อแม่ทั้งสองฝ่าย พ่อแม่พาเจ้าบ่าวเจ้าสาวพาไปส่งบริเวณทำพิธี

พิธีแต่งงานแบบล้านนาพิธีแต่งงานแบบล้านนา

          โดยให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา แขกผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่แต่ละฝ่าย หรือปู่อาจารย์ เป็นผู้สวมฝ้ายมงคล ที่ศีรษะของทั้งสองคนโยงคู่กัน

          และปู่อาจารย์หรือผู้ประกอบพิธี เป็นผู้เรียกขวัญคู่บ่าวสาวให้รักกันยืนนานชั่วชีวิต เป็นภาษาล้านนาที่มีทำนองไพเราะอ่อนหวาน

          จากนั้น ปู่อาจารย์ทำพิธีปัดเคราะห์ เพื่อให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขปราศจากโรคภัยและอุปสรรคทั้งปวง ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้มัดมือและอวยพรคู่บ่าวสาวก่อน ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าบ่าว ต่อจากนั้น เป็นญาติสนิทมิตรสหายของทั้งสองฝ่าย (มณี พยอมยงค์, 2543, หน้า 164 – 165)

          การผูกข้อมือ ใช้ฝ้ายดิบ หรือเรียกว่า ฝ้ายไหมมือ ในสมัยโบราณจะทำโดย ฝ้ายต่อง คือด้ายที่ปั่นไว้และนำไปขึงกับ เปี๋ย มิให้ม้วนพันกัน จากนั้นนำด้ายมา ล้วง ทำเป็นฝ้ายมัดมือ (นฤมล เรืองรังษี, 2542, หน้า 5961) การผู้ข้อมือหรือมัดมือคู่บ่าวสาว จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาว เช่น หื้อรักกัน แพงกัน หื้อเจริญก้าวหน้า ริมาค้าขึ้น พลันมีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

          จากนั้นก็จะมอบซองเงินให้กับคู่บ่าวสาวใส่ในขันสลุง ในปัจจุบันถ้าหากเป็นแขกผู้ใหญ่ คู่บ่าวสาวก็จะมอบของไหว้ให้ เป็นการตอบแทน ของรับไหว้ที่มอบให้เช่น ขันเงินขนาดเล็ก หรือ ของชำร่วยที่เตรียมไว้ (แม่กรีทอง พุทธดิลก, สัมภาษณ์, 7 พฤศจิกายน 2551) หลังจากนั้นแล้ว ปู่อาจารย์จะเป็นผู้ถอดฝ้ายมงคลออก เป็นอันเสร็จพิธี

          การเรียกขวัญแต่งงาน เป็นการสร้างพลังและกำลังใจ และยังเป็นการเตือนสติให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญด้วยว่า ในวาระนั้น ๆ ผู้ได้รับการเรียกขวัญกำลังมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งกำลังย่างเข้าสู่ชีวิตแบบหนึ่ง จึงเป็นการเตือนเพื่อให้เกิดสติ คือ ความรู้ตัว รู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นผู้ครองเรือน เป็นพ่อเรือนแม่เรือน จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับชีวิต (ประคอง นิมมานเหมินท์และ ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนา, 2521 หน้า 109) ชาวล้านนามีความเชื่อว่า คนเรามีขวัญอยู่ 32 ขวัญ อยู่ประจำอวัยวะต่าง ๆ ประจำตัว เพื่อปกปักรักษาผู้เป็นเจ้าของขวัญให้มีความสุข ไม่เจ็บป่วย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกาย จะมีผลทำให้ผู้นั้นเกิดการเจ็บป่วย มีความทุกข์หรือเกิดผลร้ายต่าง ๆ  ดังนั้น เพื่อให้ขวัญอยู่ที่เดิม จึงจำเป็นต้องจัดพิธี  ทำขวัญ หรือ เรียกขวัญ (นฤมล เรืองรังษี, 2542, หน้า 5734)

      เครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญ

          คำว่า บายศรี ชาวล้านนานิยมเรียก ใบสี ทั้งนี้เนื่องจาก ใช้ใบตองมาเย็บรวมกัน ทำเป็นบายศรี บ้างก็เรียก ขันบายศรี  บางแห่งเรียกว่า ขันปอกมือ หรือ ขันผูกมือ เนื่องจากเป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ ขันบายศรีอาจใช้ขันเงิน หรือพานเงิน พานทองเหลือง ขันซี่ (พานที่กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง ทารักทาชาด) ใช้ใบตองมาพับปลายเรียวแหลมหลาย ๆ อัน แล้วนำมาซ้อนทับกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ จะกี่ชั้นก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ (นฤมล เรืองรังสี, 2542, หน้า 5734) ที่นิยมทำกันทั่วไปบายศรีหนึ่งจะมี นมแมว 7 ชั้น 9 ชั้น แถบนมแมวทั้งหมดทำเป็น 4 มุม เรียกว่า สี่แจ่งนมแมว บางแห่ง 6 มุม 8 มุมบ้าง (มณี พยอมยงค์, 2513, หน้า 43)

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

          คำว่า บายศรี ชาวล้านนานิยมเรียก ใบสี ทั้งนี้เนื่องจาก ใช้ใบตองมาเย็บรวมกัน ทำเป็นบายศรี บ้างก็เรียก ขันบายศรี  บางแห่งเรียกว่า ขันปอกมือ หรือ ขันผูกมือ เนื่องจากเป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ ขันบายศรีอาจใช้ขันเงิน หรือพานเงิน พานทองเหลือง ขันซี่ (พานที่กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง ทารักทาชาด) ใช้ใบตองมาพับปลายเรียวแหลมหลาย ๆ อัน แล้วนำมาซ้อนทับกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จะกี่ชั้นก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ (นฤมล เรืองรังสี, 2542, หน้า 5734)  ที่นิยมทำกันทั่วไปบายศรีหนึ่งจะมี นมแมว 7 ชั้น 9 ชั้น แถบนมแมวทั้งหมดทำเป็น 4 มุม เรียกว่า สี่แจ่งนมแมว บางแห่ง 6 มุม 8 มุมบ้าง (มณี พยอมยงค์, 2513, หน้า 43)

พิธีแต่งงานแบบล้านนา
ขันผูกมือที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

พิธีแต่งงานแบบล้านนา
ขันผูกมือสมัยใหม่
                                   
          วางเรียงซ้อนกันบนพานและมีขันสลุงรองรับอยู่บนพาน ประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ อย่างงดงาม ส่วนปลายหรือยอดของบายศรีจะใช้ด้ายดิบผูกโยงต่อเนื่องกันในแต่ละยอด และเหลือไว้ช่องหนึ่ง เพื่อเป็นทางให้ขวัญเข้ามากินอาหารในขันบายศรี

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

          อาหารในสำหรับขวัญ ต้องใส่ในขันบายศรี ได้แก่ ข้าวเหนียวสุก ไข่ต้ม ชิ้นปิ้ง ปลาปิ้ง ข้าวแตน กล้วยน้ำหว้าสุก หมากพลู เหมี้ยง จำนวนอย่างละ 1 คู่ บายศรีแต่งงานนิยมทำบายศรีนมแมวชั้นเดียว และอาจทำซ้อนชั้น ด้วยพานรองรับขนาดต่าง ๆ แต่ไม่เกิน 3 ชั้น (มณี พยอมยงค์, สัมภาษณ์, 3 ธันวาคม 2551)

      ขั้นตั้งบายศรี

          เป็นเครื่องบูชาครู ทางล้านนาเรียกว่าขันตั้ง คือของใช้สำหรับบูชาครูหรือยกครู ในเวลาจะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, 4 พฤศจิกายน 2551) สำหรับขันตั้งเรียกขวัญ มีของใช้สำหรับบูชาครู ประกอบด้วย

           1. ข้าวเปลือก ข้าวสาร อย่างละ 1 กระทง

           2. ผ้าขาว ผ้าแดง อย่างละ 1 ผืน (ประมาณ 1 วา)

           3. สวยหมากสวยพลู 8 สวย

           4. สวยดอกไม้ ธูปเทียน อย่างละ 8 สวย

           5. หมากแห้ง 1 หัว

           6. เงินบูชาครู 56 บาท

           7. น้ำขมิ้นส้มป่อย 1 ขันเล็ก

          ของทั้งหมดนี้ ใส่รวมกันลงในพาน หรือถาด ก่อนจะทำพิธีเรียกขวัญ ปู่อาจารย์จะเริ่มต้นโดยการขึ้นขันตั้งก่อน จึงจะทำพิธีเรียกขวัญ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก ส่วนใหญ่หลังจากปู่อาจารย์ทำพิธีเรียกขวัญเสร็จแล้ว ก็จะมอบปัจจัยบูชาครูตามสมควร (นฤมล เรืองรังษี, 2542, หน้า 5735)

      ส่งตัวเข้าหอ

          ก่อนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ จะต้องมัดมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวติดกันก่อน โดยมีพ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ บุคคลที่มีชื่อเป็นมงคล เป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยต้องนำบายศรีหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว คือสลุงที่ใส่เงินทองที่ผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนมัดมือบ่าวสาว การจูงเข้าห้องโดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมือเจ้าบ่าว ซึ่งบนเตียงนอนมีกลีบดอกไม้โปรยไว้

พิธีแต่งงานแบบล้านนา  พิธีแต่งงานแบบล้านนา

          พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียว และอยู่ด้วยกันเจริญก้าวหน้า เป็นผู้นอนเป็นตัวอย่างแล้วให้ทั้งสองต้องนอนด้วยกันเป็นพิธี และมีการให้โอวาทในการครองเรือน เรียกว่า สอนบ่าว สอนสาว เช่น ให้ผัวเป็นแก้ว เมียเป็นแสง บ่ดีหื้อเป็นผัวเผต เมียยักษ์ หื้อมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง หื้อฮักกั๋นแพงกั๋นอยู่ตราบเสี้ยงชีวิต ถ้าผัวเปนไฟ หื้อเมียเปนน้ำ หื้อพ่อชายเป็นหิง แม่ญิงเป็นข้อง คือให้ผู้ชายเป็นคนหาเงินทอง ส่วนผู้หญิงเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ (มณี พยอมยงค์, สัมภาษณ์, 3 ธันวาคม 2551)








ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีแต่งงานล้านนาในยุคปัจจุบัน อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2555 เวลา 15:15:40 9,615 อ่าน
TOP