x close

บายศรีสู่ขวัญ การเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างเป็นสิริมงคล

บายศรีสู่ขวัญ

บายศรีสู่ขวัญ…ผูกพันสองเรา (i DO)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          "พิธีบายศรีสู่ขวัญ" ประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันในพิธีการงานมงคลทางท้องถิ่นภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ถือกันว่าเป็นสิริมงคลอันดีสำหรับคู่บ่าวสาวที่จะทำพิธีสู่ขวัญ

          โดย "พิธีสู่ขวัญ" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พิธีบายศรีสู่ขวัญ" เป็นพิธีเก่าแก่ของชาวไทยแทบทุกภาค การทำพิธีอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักใหญ่ ๆ ยังคงเหมือนกัน ซึ่งพิธีสู่ขวัญนี้จะทำกันได้ในทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี พิธีสู่ขวัญจึงเป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญ ตามความเชื่อที่ว่าคนเราเมื่อเกิดมาในโลกจะมี "ขวัญ" ประจำกายคอยช่วยพิทักษ์รักษาเจ้าของขวัญให้มีความสวัสดี ดังนั้น พิธีสู่ขวัญจึงถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะทำพิธีเรียกขวัญให้มาสถิตอยู่กับตัว

          การทำ "พิธีบายศรีสู่ขวัญ" นิยมกันมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยจะทำพิธีในช่วงสำคัญของชีวิต เช่น การทำขวัญเดือนสำหรับเด็กทารก การทำขวัญนาค การทำขวัญเมื่อหายป่วย รวมทั้งพิธีสู่ขวัญคู่บ่าวสาวในวันแต่งงาน ซึ่งนับว่าเป็นช่วงสำคัญที่สุดอีกช่วงหนึ่งของชีวิต เมื่อมี "พิธีบายศรีสู่ขวัญ" แล้วก็จะไม่มี "พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร" อย่างประเพณีที่ชาวภาคกลางมักถือปฏิบัติ

          พิธีบายศรีสู่ขวัญนี้จะกระทำหลังจากเสร็จพิธีรับสินสอดทองหมั้นก็ได้ หรือจะรวมอยู่ในพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษก็ได้ ขั้นตอนการทำขวัญจะแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อดั้งเดิมในแต่ละท้องถิ่น โดยผู้ทำพิธีต้องเป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การทำพิธีจึงจะเกิดสิริมงคล

บายศรีสู่ขวัญ

ประวัติความเป็นมา
 
          ประวัติความเป็นมาของพิธีบายศรีนั้น ไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเชื่อว่าบายศรีนี้น่าจะได้คติมาจากพราหมณ์ซึ่งเข้ามาทางเขมร เพราะคำว่า "บาย" เป็นภาษาเขมรแปลว่า ข้าวสุก ส่วนคำว่า "ศรี" มาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า "สิริ" แปลว่า มิ่งขวัญ นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องบายศรีที่ใช้ใบตองเป็นหลักนั้น ตรงตามคติของพราหมณ์ที่ว่าใบตองเป็นของบริสุทธิ์สะอาด เมื่อนำมาใส่อาหารจะไม่มีมลทินของอาหารเก่าแปดเปื้อนเหมือนการใช้ถ้วยชาม จึงนำใบตองมาทำเป็นกระทงสำหรับใส่อาหารในพิธีการต่าง ๆ ดังนั้น คำว่า บายศรี ตามพจนานุกรมจึงแปลว่า ภาชนะที่จัดตกแต่งให้สวยงามเป็นพิเศษด้วยใบตอง และดอกไม้สด เพื่อเป็นสำรับใส่อาหารคาวหวานในพิธีสังเวยบูชาและพิธีทำขวัญต่าง ๆ

          ในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญจะมีเครื่องใช้สำคัญอยู่ 2 อย่าง คือ เครื่องบูชาพาขวัญ หรือ เครื่องบายศรีตามประเพณี และด้ายดิบนำมาจับเป็นวงยาวพอที่จะผูกรอบแขนหรือรอบข้อมือได้ และในการจัดเครื่องบายศรีนี้ ถือว่าเป็นของสูงเพราะเป็นเครื่องสังเวยเทพยดา ดังนั้น จะต้องจัดด้วยพานแล้วนำใบตองมาเย็บเป็นบายศรี การจัดพานบายศรีงานแต่งยังต้องเริ่มจัดโดยคนบริสุทธิ์ คือ เป็นคนดี มีผัวเดียว-เมียเดียว โดยอาจมาเพียงมาจับ ๆ แตะ ๆ ตอนเริ่มจัดพานพอเป็นพิธี แล้วให้คนอื่นจัดต่อไปจนเสร็จ แต่ต้องจัดทั้งพานบายศรีของฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาว

          พานบายศรีจะถูกจัดและตกแต่งด้วยใบตองอย่างสวยงามเป็นชั้น ๆ จะมีความสูงที่ 3 ชั้น หรือ 7 ชั้นก็ได้ ทั้งนี้ ชั้นล่าง ประกอบไปด้วยกรวยข้าว ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ดอกไม้ ข้าวต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย มีดด้ามแก้ว และเงินบริสุทธิ์ที่ทำเป็นแห่งหรือก้อนที่เรียกว่าเงินฮาง ส่วนชั้นที่ 2 ขึ้นไปจะตกแต่งด้วยดอกไม้ใบตอง อย่างดอกฝาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูน และใบยอป่า เพราะดอกไม้เหล่านี้มีความหมายเป็นมงคล เช่น...

          ดอกรัก หมายถึง ความรักที่มั่นคง
          ดอกดาวเรือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองและไปชัยพฤกษ์
          ใบคูน หมายถึง การมีอายุยืนยาว

          และที่พานบายศรีชั้นบนสุดจะมีใบศรี ด้ายผูกข้อมือ และเทียนสำหรับเวียนศีรษะ อย่างไรก็ตาม นอกจากพานบายศรีแล้ว ในพิธียังต้องเตรียมเครื่องบูชาและสิ่งประกอบอื่น ได้แก่ ขันบูชาและพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า 1 ผืน แพร 1 วา หวี กระจกเงา น้ำอบน้ำหอม สร้อย แหวน และยังต้องมีอาหารคาวหวาน แก้วน้ำเย็น แก้วน้ำส้มป่อย และแก้วเหล้า สำหรับหมอขวัญดื่มหรือจุ่มด้วยดอกไม้สำหรับประพรมพานบายศรีด้วย

          พานบายศรีที่จัดแต่งเสร็จแล้วจะถูกนำมาวางไว้ในที่อันเหมาะสม เพื่อรอเวลาทำพิธี เมื่อได้เวลาสู่ขวัญแล้วจึงจะยกออกไปตั้งไว้บนผ้าของคู่บ่าวสาวที่อยู่ท่ามกลางญาติมิตร

พิธีบายศรีสู่ขวัญ

          พิธีจะเริ่มจากเจ้าสาวจับพานบายศรีตรงหน้าเจ้าบ่าว ส่วนเจ้าบ่าวจะจับพานบายศรีตรงหน้าเจ้าสาว โดยจับไขว้ให้แขนอยู่ด้านบนซึ่งเรียกกันว่า "สู่ขวัญกลับก่าย" คือ แขนฝ่ายชายก่ายแขนฝ่ายหญิง หลังจากนั้นผู้ที่ทำขวัญหรือ "หมอขวัญ" จะนำไข่ต้มมาเป็นของเสี่ยงทาย โดยปอกไข่แล้วตัดไข่เป็นสองซีกตามแนวตั้ง จากนั้นจะทำนายโดยดูจากไข่แดง หากเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งแสดงว่ามีจิตใจโลเล แต่ถ้าไข่แดงอยู่ตรงกลางพอดีแสดงว่าทั้งคู่มีจิตใจรักมั่นคง

          จากนั้นจะขอให้ผู้หญิงที่เป็น "แม่ใหญ่" หมายถึง สตรีซึ่งมีคุณสมบัติดีงาม เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือ อยู่ในศีลในธรรม สามียังมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพแข็งแรง ยังรักใคร่กันดี มีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์เป็นสุข ทำพิธีป้อนไข่ โดยเอาไข่ซีกบนกับปั้นข้าวเหนียวเล็ก ๆ ใส่ไว้ที่มือขาวเพื่อป้อนเจ้าบ่าว และเอาไข่ซีกล่างกับปั้นข้าวเหนียวขนาดเล็ก ๆ เท่ากัน ใส่ไว้ที่มือซ้ายเพื่อป้อนเจ้าสาว ขณะที่ป้อนจะเอามือขวาอยู่เหนือมือซ้าย ซึ่งในการป้อนไข่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกินและกลืนจริง ๆ ห้ามคายออกมาเด็ดขาด

          หลังจากนั้นจะมีการผูกขวัญแก่คู่บ่าวสาว โดยให้บิดา มารดา ญาติ และแขกที่มารวมงานผูกข้อมือคู่บ่าวสาว จะผูกมือเดียวหรือทั้งสองมือก็ได้และอาจจะผู้เส้นเดียว หรือ 3 เส้น หรือ 5 เส้นก็ได้ การผูก 3 เส้น หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการผูก 5 เส้น หมายถึง พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ในพิธีผูกขวัญนี้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นคนผูกข้อมือให้เจ้าบ่าวและพ่อแม่ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นคนผูกข้อมือให้เจ้าสาว การปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่าการับขวัญเขยและรับขวัญสะใภ้

          ทั้งนี้ การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงานขึ้นอยู่กับความพอใจของคู่บ่าวสาวว่าจะทำหรือไม่ แต่ก็นับได้ว่าเป็นพิธีที่มีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย สำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างเป็นสิริมงคลในอนาคตต่อไป





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2551

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บายศรีสู่ขวัญ การเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างเป็นสิริมงคล อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2556 เวลา 10:41:57 52,659 อ่าน
TOP