x close

แต่งงาน...แล้วไม่จดทะเบียนสมรสดีหรือเปล่า ?

แต่งงาน

แต่งงาน...แล้วไม่จดทะเบียนสมรสดีหรือเปล่า ? (Lisa)


          หากคุณกำลังจะแต่งงานแล้วกำลังคิดว่าควรจะจดทะเบียนสมรสดีไหม บทความของ อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ในคอลัมน์นี้อาจจะมีคำตอบสำหรับคุณ

          คนหนุ่มสาวสมัยนี้หลายคนบอกผมว่าอยากจะใช้ชีวิตเป็นโสดมากกว่าที่จะแต่งงานครับ โดยให้เหตุผลว่าการใช้ชีวิตคู่นั้นเขาเห็นเป็นเรื่องที่เอาคนสองคน ซึ่งต่างพ่อต่างแม่ ต่างสิ่งแวดล้อมมาอยู่ร่วมกัน แล้วพยายามที่จะให้เป็นคนคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เลือกใครสักคนมาแต่งงานด้วยต้องพิจารณา กลั่นกรองโดยละเอียดถี่ถ้วน ยิ่งเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสก็จะมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่ตามมาอย่างมากมาย แล้วถ้าคู่แต่งงานจะแต่งงานแบบไม่จดทะเบียนสมรสจะเกิดอะไรขึ้น เราจะคุยกันใน Lisa ฉบับนี้ครับผม

เป็นนางสาว...ไม่ถูกจำกัดความสามารถ

          คนที่เป็นนางสาวแม้ว่าจะแต่งงานหรือมีสามีเป็นตัวเป็นตนแล้ว แต่ฐานะทางกฎหมายของเธอยังเป็นนางสาวอยู่ ดังนั้น เธอจึงไม่ถูกจำกัดความสามารถตามกฎหมายครับ เธอสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากสามี ซึ่งถ้าเธอแต่งงานจดทะเบียนสมรสก็จะถูกจำกัดความสามารถเหมือนตอนเป็นผู้เยาว์อีก หากจะทำนิติกรรมใด ๆ ที่ผูกพันกับสินสมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส

ไม่ต้องมีปัญหา...สินสมรส

          หากคุณแต่งงานกันโดยจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ผู้ชายหามาได้ระหว่างสมรสกัน ถือเป็นสินสมรสครับ ฟังแล้วดูดีใช่ไหมครับ คุณผู้หญิง เพราะถ้าเลิกกันแล้วหญิงชายก็สามารถที่จะนำสินสมรสที่หาได้ในระหว่างอยู่กินร่วมกันมาแบ่งปันกันไปคนละครึ่ง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ แค่นั้นครับกฎหมายบังคับถึงทรัพย์สินที่ผู้หญิงหามาได้ในระหว่างสมรสด้วย เช่นกันครับ ดังนั้น ถ้าจดทะเบียนสมรส สินสมรสที่ทั้งสองฝ่ายหาได้ เมื่อจะเลิกกันก็ต้องแบ่งครึ่งนะครับผม

จดทะเบียนแล้ว...จะหย่าได้ทั้งสองฝ่ายต้องสมัครใจ

          คู่แต่งงานจดทะเบียนที่อยู่ด้วยกันแล้วไม่สามารถไปด้วยกันได้ เพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือมีความเห็นขัดแย้งกัน จะหย่าขาดจากกันก็ต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายนะครับ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่าก็หย่าไม่ได้ เรียกได้ว่าต้องทนอยู่กันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีจังหวะเจอเหตุหย่าถึงจะนำเหตุดังกล่าวมาฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย ซึ่งเหตุหย่านั้น มีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ที่มีด้วยกัน 10 ประการ ซึ่งถึงแม้คุณทั้งสองอยากจะหย่าขาดจากกันแทบขาดใจ แต่ไม่เข้าเหตุหย่าตามกฎหมายแล้วจะนำเรื่องไปฟ้องหย่าก็ไม่ได้ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องอยู่ด้วยกันต่อไปในฐานะสามีภรรยากันตามกฎหมายครับ

ไม่เจอปัญหา...หนี้สมรส

          คู่สมรสบางคู่เมื่อแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ชีวิตสมรสกลับไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง วิมานสีชมพูหวานแหววกลับกลายเป็นนรกสีดำสนิทครับ คือในระหว่างที่อยู่กินกันแทนที่จะมีสินสมรสเกิดขึ้นมากมาย กลับกลายเป็นว่ามีแต่หนี้สมรสเกิดขึ้นครับ มีบัญชีตัวแดงขึ้นเต็มไปหมดเป็นหนี้ทั้งธนาคาร สถาบัน การเงิน หนี้การค้าทั้งในและนอกระบบ เพราะคนที่แต่งงานกันแบบจดทะเบียนสมรส เวลาไปทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ กฎหมายบัญญัติให้คู่สมรสต้องไปลงนามยินยอมด้วย

          หรือไม่ก็ลงนามรู้เห็นหรือเป็นผู้ค้ำประกัน เพราะฉะนั้นเวลาเกิดหนี้ขึ้นมามักจะเป็นหนี้ที่ทำพันกันไปหมด แยกไม่ได้ครับว่า "เป็นหนี้ของเธอ หรือเป็นหนี้ของฉัน" อย่ากระนั้นเลยเราหย่ากันดีไหม เพื่อที่จะได้หนีหนี้บางส่วนได้ ก็ต้องเรียนไว้แบบนี้ครับว่า ถ้าหนี้เกิดขึ้นระหว่างสมรสและเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อการดำรงชีพของครอบครัว หรือเป็นหนี้คู่สมรสให้ได้การยินยอม แม้จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน แล้วหนี้นั้นก็ยังตามตัวคู่สมรสไปด้วยนะรับรองหนีหนี้ไม่พ้นครับผม

วางแผนแต่งงาน ชุดแต่งงาน เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงานแต่งงาน คลิกเลย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


Vol.13 No.48 12 ธันวาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แต่งงาน...แล้วไม่จดทะเบียนสมรสดีหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 4 มีนาคม 2556 เวลา 18:02:20 3,573 อ่าน
TOP