x close

เรื่องสัญญาก่อนสมรส...เรื่องควรรู้ก่อนแต่งงาน

สัญญาก่อนสมรส

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


         เมื่อชายและหญิงตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตครองคู่กัน แต่ก่อนที่จะจัดพิธีแต่งงานพร้อมด้วยการจดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นหลักฐานทางกฎหมายนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงจะต้องมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นของตัวเอง กฎหมายจึงให้สิทธิคู่สมรสสามารถทำ "สัญญาก่อนสมรส" เพื่อกำหนดเรื่องความสัมพันธ์และจัดการเรื่องทรัพย์สินของคู่แต่งงาน ก่อนจะตกลงปลงใจจดทะเบียนสมรสกัน วันนี้กระปุกเวดดิ้งเลยขอมาให้ความรู้เกี่ยวกับ "สัญญาก่อนสมรส" ว่ามีสำคัญอย่างไร ทำไมต้องทำสัญญา และมีขั้นตอนการทำอย่างไร พูดถึงขนาดนี้แล้วเราก็ไปทำความรู้จักกับเจ้าสัญญาที่ว่าก่อนเลยจ้า...

          ในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา กฎหมายให้ทำสัญญากันได้โดยแบ่งการทำสัญญาไว้เป็น 2 ช่วง คือ สัญญาก่อนสมรส กับ สัญญาระหว่างสมรส โดยในที่นี่เราจะพูดถึง "สัญญาก่อนสมรส" ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองคู่บ่าวสาวก่อนจะทำการจดทะเบียนกัน เพื่อกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของด้วยตนเองตามลำพัง โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากอีกฝ่ายก่อน ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา หรือการจัดการทรัพย์สินในระหว่างการสมรสเท่านั้น เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง จึงอาจทำได้โดยการทำสัญญาก่อนสมรส โดยหากไม่มีสัญญาก่อนสมรส ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาในเรื่องทรัพย์สินจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด                                             

         "สัญญาก่อนสมรส" สามารถทำได้โดยการจดแจ้งสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรส พร้อมกับตอนที่ทำการจดทะเบียนสมรส โดยจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคน แนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส พร้อมทั้งจดไว้ในทะเบียนสมรสว่า ได้มีสัญญาดังกล่าวแนบไว้และต้องเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ที่ต้องทำสัญญาโดยใช้กฎหมายไทยเท่านั้น จะทำข้อตกลงที่ให้นำกฎหมายประเทศอื่นมาบังคับใช้ไม่ได้ เพราะข้อตกลงนั้นจะกลายเป็นโมฆะได้ และถ้าไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาก่อนสมรสนั้นจะตกเป็นโมฆะเช่นกัน

         โดยกฎหมายได้กำหนดแบบในการทำสัญญาไว้ ดังนี้..

  1. จะต้องจดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส
  2. หรือทำสัญญาเป็นหนังสือลงชื่อคู่สมรส
  3. ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน
  4. นำไปแนบท้ายทะเบียนสมรสไว้ โดยต้องระบุไว้ในทะเบียนสมรสด้วยว่ามีสัญญาแนบท้ายไว้ด้วย

สัญญาก่อนสมรส

         ซึ่งถ้าหากไม่ทำตามแบบที่กล่าวข้างต้น สัญญาที่ตั้งใจจะให้เป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นจะไม่มีผลบังคับ เพราะจะกลายเป็นโมฆะ และสาเหตุที่ต้องจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรสก็เพื่อให้บุคคลภายนอกรู้ว่า คู่สมรสมีสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ จะได้รู้ว่าใครมีอำนาจจัดการทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน ส่วนในกรณีที่ "สัญญาก่อนสมรส" ไม่ใช่สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินจึงไม่ใช่ "สัญญาก่อนสมรส" ตกเป็นโมฆะ ได้ในกรณีเช่น...

   1. ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ต่อกันว่า เมื่อหลังจากที่ได้ทำการสมรสแล้วหากชายพาหญิงอื่นไปเที่ยวให้หญิงฟ้องหย่าได้ เช่นนี้ย่อมเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และจะตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย

   2. ฝ่ายชายเคยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้มารดาทุกเดือนก่อนสมรส หากทำสัญญาไว้ว่าเงินเดือนของสามีให้ยกให้ภรรยาทั้งหมดแม้ที่เคยจ่ายให้ มารดาก็ต้องงดไปเช่นนี้สัญญาดังกล่าวขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะเช่นกัน

   3. สามีภรรยาจะทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องหนี้สินไม่ได้ เช่น สามีภรรยาทำสัญญาก่อนสมรสว่าหนี้เกี่ยวแก่การศึกษาให้เป็นหนี้ส่วนตัว ของสามี หรือหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกันให้เป็นหนี้ส่วนตัวของภรรยา สัญญาก่อนสมรสเช่นนี้ไม่มีผลบังคับ หนี้ดังกล่าวยังคงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นเดิม

   4. หากข้อสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้ว่าให้ใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับเรื่องทรัพย์สิน ข้อสัญญานั้นยังตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าทำสัญญาก่อนสมรสไว้ว่าในกรณีที่สามีภรรยาแยกกันอยู่ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างนั้น ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ตาม มิได้ระบุให้ใช้ในฐานะที่เป็นกฎหมายประเทศอื่น ข้อสัญญาเช่นว่านี้จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ

   5. ถ้าสามีภรรยาทำสัญญาก่อนสมรสว่าในการชำระหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา ต้องชำระหนี้นั้นด้วยสินสมรสก่อนนั้นจะเป็นสัญญาในเรื่องทรัพย์สิน เพราะเป็นการกำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาต้องรับผิดในหนี้ จึงบังคับใช้ได้แต่จะไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้เป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

          การเปลี่ยนแปลงเพิกถอน "สัญญาก่อนสมรส" จะทำได้โดยการร้องขอต่อศาลให้อนุญาตเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คู่สมรสที่อยู่กินจดทะเบียนกันแล้ว อาจมีบางคู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของอีกฝ่าย ซึ่งจะมีผลให้คู่สมรสฝ่ายที่เสียประโยชน์อาจถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส โดยเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ได้ และเพื่อให้การคุ้มครองในเรื่องนี้จึงต้องให้ศาลอนุญาตก่อน ซึ่งจะต้องทำการแก้ไขสัญญาสมรส ซึ่งถ้าหากยังไม่มีการจดทะเบียนสมรสสัญญานั้นย่อมสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

          ได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ "สัญญาก่อนสมรส" ไปแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องของการวางแผนก่อนการจะใช้ชีวิตคู่เพื่อไม่ให้มีปัญหา ความยุ่งยากภายหลังได้อีก

 
 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

, isaanlawyers.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องสัญญาก่อนสมรส...เรื่องควรรู้ก่อนแต่งงาน อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2556 เวลา 11:12:36 5,338 อ่าน
TOP