x close

บททดสอบความน่าเชื่อใจ ก่อนจะรักและผูกพัน

ความรัก,

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ถ้าพวกคุณเพิ่งเริ่มรู้จักกันได้ไม่นาน และคุณก็คิดว่าเขาอาจจะเป็นความรักที่กำลังตามหาอยู่ บททดสอบความน่าเชื่อใจเหล่านี้ จะช่วยให้คุณมั่นใจได้มากขึ้นก่อนที่จะให้ความรักไปหมดใจ เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าเราไม่ควรไว้วางใจใครง่าย ๆ ท่ามกลางสังคมที่น่ากลัวอย่างเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้น จึงใช้ 7 บททดสอบนี้สแกนความคิด นิสัย และอื่น ๆ ของอีกฝ่ายให้ละเอียด ก่อนเปิดไฟเขียวให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

1. เรียนรู้ความน่าเชื่อใจจากคนรอบข้าง

          หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการทดสอบว่าคน ๆ นั้นมีความน่าเชื่อใจมากน้อยเพียงใด เพราะอย่างที่ทราบกันว่าสังคมเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมนิสัยของคน ๆ หนึ่งขึ้นมา โดยเฉพาะคนในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนที่คบหากันมานาน ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะช่วยสะท้อนนิสัยของคนที่คุณกำลังศึกษาดูใจได้เป็นอย่างดี

2. พิจารณาจิตใจผ่านการกระทำ

          คุณยังสามารถวัดความน่าเชื่อใจของคนใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในชีวิตได้ไม่ยาก โดยการแอบสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อีกฝ่ายแสดงออกมาในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น สิ่งที่เขาทำ การให้เกียรติ ความเชื่อใจที่คนอื่นมีให้เขา และเขามีให้คนอื่น รวมไปถึงการคอยสังเกตด้วยว่าเขาชอบเรื่องซุบซิบนินทา หรือมักจะตัดสินคนเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

3. คำพูดกับการรักษาสัญญา

          แม้คำพูดจะเป็นตัวกลางที่ช่วยให้พวกคุณเข้าใจกันและกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการกระทำก็มีความสำคัญกว่าเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพวกคุณมีข้อตกลง หรือเกี่ยวก้อยทำสัญญาบางอย่างร่วมกันเอาไว้ หากสามารถทำได้ตามที่พูดหรือถ้าไม่สามารถทำตามคำพูดได้ ก็มีเหตุผลมาอธิบายที่ฟังดูแล้วไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้างเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด ก็น่าจะเป็นคนที่ไว้วางใจได้สำหรับคุณ

4. แยกให้ออกระหว่างความจริงกับส่วนเติมแต่ง

          อีกหนึ่งเรื่องง่ายที่สามารถนำมาใช้เป็นบททดสอบความน่าเชื่อใจได้ ก็คือ ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด แล้วลองคิดตามดูว่ามีความจริงในเรื่องที่เล่ามามากน้อยแค่ไหน โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ของเรื่องที่เกิดขึ้น และชั่งน้ำหนักดูว่ามันเป็นเรื่องที่ดีเกินกว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้หรือไม่ เท่านี้ก็น่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้มากขึ้นแล้ว

5. ความสอดคล้องของเหตุการณ์ที่เล่ามา

          ในระหว่างที่พูดคุยกันอยู่ควรจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ให้ดี และอย่ามองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยชี้วัดได้อย่างดีว่า คนนั้นของคุณน่าไว้ใจมากแค่ไหน โดยการเว้นระยะห่างเอาไว้สักพักหลังจากที่อีกฝ่ายเล่าเรื่องจบ แล้วค่อยถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นกลับไป หากคำตอบของอีกฝ่ายไม่ตรงกับที่เคยเล่ามา หรือไม่เหมือนเดิม ก็อย่าให้ความรักไปเลย ไม่อย่างนั้นต้องเสียใจภายหลังแน่ ๆ

6. ความชัดเจนของคำตอบ

          เวลาที่คุณมีคำถามให้สังเกตจากคำตอบที่ให้มา หากอีกฝ่ายมักจะตอบด้วยคำพูดที่ฟังแล้วเข้าใจยาก เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน วกไปวนมาอยู่กับเรื่องเดิม ตอบเป็นคำถามกลับมา หรือมักจะขอให้ทวนคำถามบ่อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าอีกฝ่ายอาจจะโกหกและเป็นคนที่เชื่อใจไม่ได้ แถมยังไม่ซื่อสัตย์อีกด้วย

7. ร่องรอยของความลับ

          แม้การเป็นคนรักไม่จำเป็นต้องบอกให้อีกฝ่ายทราบทุกเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามการมีความลับหรือเรื่องซ่อนเร้น ก็ไม่ใช่คนที่เหมาะสมจะคบหาอย่างลึกซึ้งสักเท่าไร ในทางกลับกันหากเป็นคนที่สามารถพูดคุยได้อย่างสบายใจ เป็นคนตรงไปตรงมา ปากตรงกับใจ และเปิดเผย ก็คงไม่เป็นปัญหาหากจะไว้วางใจและให้ความรักไป

          และนี่ก็คือบททดสอบสำหรับคนที่อยากจะรู้ว่า คนที่กำลังคบหากันอยู่ในขณะนี้น่าไว้ใจหรือไม่ และคงมั่นใจได้มากกว่าหากอีกฝ่ายสามารถผ่านบททดสอบเหล่านี้ได้มากกว่าหนึ่งข้อเป็นต้นไป


   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บททดสอบความน่าเชื่อใจ ก่อนจะรักและผูกพัน อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2557 เวลา 17:13:04 1,540 อ่าน
TOP