x close

เรื่องควรรู้ก่อนจะจดทะเบียนสมรสซ้อน

ทะเบียนสมรส
เรื่องควรรู้ก่อนจะจดทะเบียนสมรสซ้อน

สมรสซ้อน...ซ่อนรัก (i Do)


เรื่อง : กองบรรณาธิการ

          สมรสซ้อน หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสกับอีกบุคคลหนึ่ง โดยที่ตนมีพันธะทางการสมรสกับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า "คู่สมรส" อยู่แล้ว และการสมรสนั้นยังไม่สิ้นสุดลง ในบางประเทศอย่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาการสมรสซ้อนถือเป็นความผิดทางอาญา

          ก่อนที่คู่บ่าวสาวจะจดทะเบียนสมรส เพื่อแสดงถึงการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและยืนยันสถานภาพการเป็นสามีภรรยา ทางที่ดีควรตรวจสอบข้อมูลว่าคู่ครองที่เราจะจดทะเบียนสมรสด้วยเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนหน้านี้หรือเปล่า เพื่อป้องกันการ "สมรสซ้อน" ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลัง

ผลของการสมรสซ้อน

          การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขเป็นการสมรสซ้อนนั้น การสมรสครั้งหลังจะถือเป็นโมฆะ คือ เสียเปล่าตั้งแต่วันที่จดทะเบียนสมรสซ้อน แม้ต่อมาคู่สมรสคนแรกจะถึงแก่ความตายหรือหย่าขาดจากกัน ก็ไม่มีผลทำให้คู่สมรสคนที่สองกลับกลายมาเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออีกทางหนึ่งหากในช่วงนั้นผู้ที่จดทะเบียนสมรสซ้อนไปจดทะเบียนสมรสกับคู่สมรสคนที่สาม ผลของการสมรสครั้งใหม่ถือว่าสมบูรณ์ เพราะสมรสครั้งที่สองยังคงเป็นโมฆะอยู่เช่นเดิม

สิทธิในทรัพย์สินร่วมกัน


          การสมรสซ้อนซึ่งถือเป็นโมฆะในทางกฎหมาย ทำให้ความสัมพันธ์ในทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามีไม่เต็มที่ โดยทรัพย์สินใหม่ระหว่างคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสซ้อนจะไม่ถือว่าเป็นสินสมรส แต่ให้ถือตามความจริงว่าทรัพย์สินใดเป็นของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ตกเป็นของฝ่ายนั้น เฉพาะทรัพย์สินที่พิสูจน์ได้ว่าทำมาหาได้ร่วมกันเท่านั้นจึงถือว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง สืบเนื่องมาจากว่าการสมรสครั้งนี้ได้เสียเปล่ามาตั้งแต่เริ่มต้น หากจะนับว่าเป็นโมฆะเมื่อใดต้องนับย้อนไปตั้งแต่วันที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อน

การเรียกทรัพย์สินคืน

          หากฝ่ายชายหรือหญิงได้จดทะเบียนสมรสอยู่ก่อนแล้วจึงมาจดทะเบียนสมรสซ้อน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินใดที่เป็นกรรมสิทธิ์นั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างการสมรสครั้งแรก ดังนั้นคู่สมรสคนแรกย่อมต้องมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นการที่ผู้จดทะเบียนสมรสซ้อนจะยกทรัพย์สินใด ๆ ให้คู่สมรสคนที่สองนั้น ถือว่าเป็นการให้โดยเสน่หาที่ไม่ได้รับการยินยอมจากคู่สมรสตามกฎหมายคนแรก ดังนั้นภรรยาหรือสามีที่เป็นคู่สมรสคนแรกสามารถฟ้องขอเพิกถอนการโอนยกให้ได้เช่นกัน

ไม่มีสิทธิ์ในมรดก

          กฎหมายระบุไว้ว่าการสมรสซ้อนเป็นโมฆะ โดยไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิ์ที่ได้มา แปลว่าหากคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสซ้อนถึงแก่ความตาย ภรรยาหรือสามีคนแรกตามทะเบียนสมรสย่อมมีสิทธิ์ในฐานะทายาทมรดกโดยธรรมของคู่สมรส การสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะไม่ทำให้คู่สมรสที่จดทะเบียนซ้อนเกิดสิทธิรับมรดก จึงไม่สามารถรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้

สิทธิของบุตร

          แม้การจดทะเบียนสมรสซ้อนจะเป็นโมฆะในหลาย ๆ เรื่อง แต่สิทธิของการเป็นพ่อหรือแม่ที่มีต่อลูกนั้นไม่เป็นโมฆะ แม้จะมีการจดทะเบียนสมรสซ้อน แต่กฎหมายจะคุ้มครองเด็กให้เป็นผู้มีสิทธิ์เทียบเท่ากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิ์ในกองมรดกเช่นกัน

สามารถฟ้องร้องได้


          หากว่าฝ่ายที่ถูกจดทะเบียนสมรสซ้อนกลายเป็นคู่สมรสคนที่สองที่ด้อยสิทธิ์ ไม่ล่วงรู้มาก่อนว่าคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสด้วยนั้นได้จดทะเบียนสมรสกับบุคคลอื่นก่อนหน้าอยู่แล้ว กฎหมายให้สิทธิ์ในการฟ้องร้องผู้ปกปิดความจริงอันแสนโหดร้าย ตามกฎหมายอาญามาตรา 137 โทษฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย แต่โทษที่ได้รับตามความอาญานั้นถือว่าเบามาก เป็นโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ดังนั้นก่อนจะจรดปากกาลงนามในทะเบียนสมรสกับใครควรตรวจสอบให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองที่สำนักงานบริหารการทะเบียนกลาง กรมการปกครอง หรือหากพบว่ามีการจดทะเบียนสมรสซ้อนขึ้น สามารถปรึกษาข้อมูลเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านทะเบียนครอบครัวได้ที่ทุกสำนักงานเขต




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องควรรู้ก่อนจะจดทะเบียนสมรสซ้อน อัปเดตล่าสุด 30 ตุลาคม 2557 เวลา 14:14:24 1,254 อ่าน
TOP