x close

เรื่องควรรู้...พิธีสงฆ์ในงานมงคลสมรส

พิธีสงฆ์ในงานมงคลสมรส

เจริญพระพุทธมนต์พิธีแต่งงาน (i do)

เรื่อง : สุพัทธา

          การประกอบพิธีทางศาสนาตามวิถีชาวพุทธ หรือที่เรียกว่าการเจริญพระพุทธมนต์ในวันแต่งงาน ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสำคัญอย่างหนึ่งของพิธีแต่งงานแบบไทย เพื่อให้อำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วยดลบันดาลและคุ้มครองให้คู่บ่าวสาวมีความสุขความเจริญในชีวิตสืบไปในภายภาคหน้า

          พิธีสงฆ์ หรือ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลสมรส เป็นพิธีกรรมที่มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีให้ ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมนั้น การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์จะทำในช่วงเย็นของวันสุกดิบ ซึ่งเป็นวันก่อนวันแต่งงานหนึ่งวัน และในวันแต่งงานจะมีเฉพาะการตักบาตรร่วมกันในตอนเช้า แต่ในปัจจุบันนิยมทำพิธีกันในช่วงเช้าวันเดียวกัน เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและสะดวกมากขึ้นสำหรับคู่บ่าวสาว โดยการลำดับขั้นตอนพิธีก่อนหลังนั้น ขึ้นอยู่กับธรรมเนียนนิยมในแต่ละพื้นที่ ที่มีทั้งการแห่ขันหมากก่อนทำพิธีสงฆ์ หรือที่ทำพิธีสงฆ์ก่อนการแห่ขันหมาก
          การทำพิธีสงฆ์นั้น พิธีสำคัญ คือ การให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งช่วงเช้าและเพล โดยคู่บ่าวสาวจะตักบาตรร่วมกันในตอนเช้า หรือถวายภัตตาหารเช้าหรือเพลก็ได้ หากเป็นการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านหรือที่สถานที่จัดงาน นิยมทำพิธีในช่วงเช้าให้เรียบร้อยก่อนพิธีแห่ขันหมาก โดยในงานที่เป็นงาน มงคลอย่างงานแต่งงานเช่นนี้จะนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เพื่อประกอบพิธี และเมื่อนับรวมพระพุทธรูปที่เป็นองค์พระประธานด้วยแล้วจะเป็นจำนวนคู่ คือ 10 รูป เพราะถือเคล็ดที่เลข 9 หรือ "เก้า" ที่เป็นคำพ้องสียงเหมือนกับคำว่า "ก้าว" ที่หมายถึงก้าวหน้า และหลังจากเสร็จพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์แล้วจะเป็นการตักบาตรร่วมกัน หรือถวายภัตตาหาร ซึ่งสามารถถวายพระและเณรได้ทั้งวัด ไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระสงฆ์ที่มาประกอบพิธีเท่านั้น

          นอกจากนี้ ใน "พิธีสงฆ์" ยังต้องตระเตรียมเครื่องใช้ในพิธีให้ครบถ้วนเรียบร้อย อย่างดอกไม้ ธูป เทียน อาสานะหรือที่รองนั่งสำหรับพระสงฆ์ โต๊ะหมู่บูชาสำหรับจัดวางพระพุทธรูปประธาน ด้ายสายสิญจน์ที่ปลายด้านเริ่มต้นต้องพันวนไว้กับฐานพระพุทธรูป 3 รอบ โดยพันวนเป็นทักษิณาวรรต คือ เวียนจากซ้ายไปขวา แล้วหาพานวางด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไว้ใกล้ ๆ เพื่อให้พระสงฆ์หยิบใช้ประกอบการเจริญพระพุทธมนต์ได้อย่างสะดวกต่อไป

          ใกล้กับพานวางด้ายสายสิญจน์จะเป็นที่ตั้งของบาตรน้ำมนต์ ซึ่งอยู่ติดกับที่นั่งของพระสงฆ์ที่เป็นประธาน ในบาตรต้องใส่น้ำไว้พอควร จะใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หญ้าแพรก ผักส้มป่อย ผิวมะกรูดลงไปตามธรรมเนียมความเชื่อของแต่ละพื้นที่ก็ได้ หรือไม่ใส่อะไรตามที่พบเห็นมากที่สุดในปัจจุบันก็ได้เช่นกัน ข้าง ๆ บาตรน้ำมนต์จะวางเทียนสีขาว 1 เล่ม หนัก 1 บาท มักวางรวมไว้กับพานที่ใส่ด้ายสายสิญจน์ เพื่อใช้ในการทำน้ำมนต์ นอกจากนั้น ที่ขาดไม่ได้ยังมีมงคลแฝด และแป้งประแจะหรือแป้งกระแจะ เรียกแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่าแป้งเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวไว้เข้าพิธีด้วย

พิธีสงฆ์ในงานมงคลสมรส

          ในวันงานเมื่อ พระสงฆ์เดินทางมาถึง เจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์มายังที่นั่งที่จัดเตรียมไว้ จัดเครื่องดื่มหรือน้ำปานะมาถวายให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเริ่มพิธีโดยให้คู่บ่าวสาวนั่งประจำที่ในการนี้เจ้าบ่าวต้องนั่ง ด้านขวาของเจ้าสาว ทั้งคู่ร่วมกันจุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย เมื่อเสร็จแล้วผู้ดำเนินพิธีหรือจำพิธีจะกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย คู่บ่าวสาวกล่าวตาม เมื่อเสร็จเจ้าพิธีจะอาราธนาศีล 5 ซึ่งเป็นศีลมาตรฐานในการดำเนินชีวิตตามวิถีชาวพุทธ ขณะที่พระสงฆ์ให้ศีล คู่บ่าวสาวและแขกที่มาร่วมงานจะประนมมือรับศีลพร้อมกัน

          จากนั้นเจ้าพิธีจะอาราธนาพระปริตร หมายถึงการขอให้พระสงฆ์เจริญสูตรที่มงคล เพื่อกำจัดทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปจนถึงบทมงคลสูตร เจ้าพิธีจะจุดเทียนขนวนสำหรับให้คู่บ่าวสาวจุดเทียนน้ำมนต์ เป็นการขอให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์ น้ำมนต์ที่เกิดจากการสวดพระปริตรนี้ถือว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ใช้ในกาล มงคลต่อ ๆ ไปได้

          กำหนดการพิธีหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้านเวลาและฤกษ์มงคล ถ้าเริ่มพิธีสงฆ์แต่เช้าขั้นตอนต่อไปอาจเป็นการตักบาตร ที่คู่บ่าวสาวจะต้องสำรวมกายใจตักบาตรร่วมกัน หรือหากเป็นช่วงสายจะเป็นการถวายภัตตาหารเพล โดยเริ่มจากถวายอาหารแแด่พระพุทธ แล้วจึงประเคนอาหารคาวหวานแด่พระสงฆ์ หรืออาจจัดเป็นปิ่นโต มีอาหารคาวหวาน ถวายพร้อมธูป เทียนปัจจัย เครื่องไทยธรรมได้เช่นกัน หลังจากถวายของ พระสงฆ์อนุโมทนา และขึ้นบทสวด "ยะถาสัพพี..." คู่บ่าวสาวจะกรวดน้ำ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้กับเทพยดา เจ้ากรรมนายเวร บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จากนั้นจะถึงพิธีในขั้นสุดท้าย พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำมนต์ให้ เพื่อเป็นสิริมงคลจึงเป็นอันเสร็จพิธี

          การประกอบ "พิธีสังฆ์" ในวันแต่งงาน หากกระทำอย่างถูกต้องครบถ้วน นอกจากจะช่วยสืบสานประเพณีพิธีไทยอันงดงามแล้ว ยังถือเป็นพรอันมงคลที่จะช่วยสร้างความเจริญและความสุขให้กับคู่บ่าวสาวใน การครองชีวิตคู่อีกด้วย

        การเตรียมการสำหรับพิธีสงฆ์

            -  หาสถานที่ที่เหมาะสม กว้างขวาง สะดวกในการจัดพิธี

            - มีเจ้าพิธีหรือบุคคลที่รู้ขั้นตอนศาสนาพิธีอย่างแม่นยำ

            - กำหนดฤกษ์มงคล เวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดพิธี

        เครื่องใช้ที่ต้องจัดเตรียมสำหรับพิธีสงฆ์

            - ชุดโต๊ะหมู่บูชา

            - แจกันดอกไม้ 2 ชุด ธูป 3 ดอก เทียนสีเหลือง 2 เล่ม เทียนต่อ 1 เล่ม

            - เชิงเทียน และกระถางธูป

            - ด้ายสายสิญจน์สำหรับทำพิธี และสายสิญจน์ที่ทำเป็นมงคลคู่ หรือมงคลแฝด

            - อาสนะ 9 ที่

            - ที่กรวดน้ำ กระโถน แก้วน้ำ ทิชชู

            - ขันน้ำมนต์ และที่สำหรับประพรมน้ำมนต์

            - อุปกรณ์เครื่องเจิม หรือแป้งเจิม

            - ปัจจัยถวายพระสงฆ์

            - ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์ 9 รูป และอาหารสำหรับแขกร่วมงาน

            - ชุดเครื่องเช่นสำหรับพระพุทธ และพระภูมิเจ้าที่

            - อาหารสำหรับตักบาตร ขันข้าว ทัพพี

            - ดอกไม้ธูปเทียนถวายพระ 9 ชุด

            - พานใส่ของถวายพระ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ISSUE 62

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องควรรู้...พิธีสงฆ์ในงานมงคลสมรส อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2559 เวลา 11:03:45 98,488 อ่าน
TOP