x close

พิธีแต่งงานแบบล้านนา


พิธีแต่งงานแบบล้านนา

          ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ หนุ่มสาวหลายคู่นิยมจัดงานแต่งงานสไตล์ตะวันตกมากขึ้น แต่พิธีแต่งงานแบบไทยที่งดงามอันเป็นเอกลักษณ์ก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยแต่ละภูมิภาคก็จะมีพิธีการและชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ซึ่งวันนี้เราขอนำเอา "พิธีแต่งงานแบบล้านนา" มาฝากกันค่ะ

          สำหรับ พิธีแต่งงานแบบล้านนา หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า "การกินแขก" คือ การเชิญผู้ที่เคารพนับถือ และมิตรสหายเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาร่วมรับประทานอาหาร เนื่องในงานมงคลสมรสหรือแต่งงาน อีกประการหนึ่งงานที่มีสภาพใหญ่โตต้องเชิญผู้คนมาเป็นจำนวนมาก อันหมายถึงงานนี้จุคนได้มากจึงเรียกงานแต่งงานว่า "งานกินแขก" 

  การแต่งงานแบบสู่ขอ

          เมื่อฝ่ายชายและหญิงมีความพึงพอใจกัน ฝ่ายชายจะต้องบอกแก่บิดามารดาว่าได้พบดอกไม้งามและอยากได้มาเป็นคู่ชีวิตของตน พร้อมกับขอให้บิดามารดาจัดการสู่ขอตามประเพณี เมื่อบิดามารดาทราบเจตนารมณ์ของลูกชายก็จะปรึกษาหารือกัน เดินทางไปสู่ขอกับบิดามารดาของฝ่ายสาว หากบิดามารดาได้สอบถามดูแล้วลูกสาวไม่ขัดข้องก็เป็นอันตกลง นัดวันหมั้นหมายพร้อมแต่งงาน

 พิธีกรรมและขั้นตอนการแต่งงาน

          เมื่อหาฤกษ์ได้แล้ว ทางฝ่ายชายหญิงจะต้องจัดเตรียมงาน คือ บอกญาติพี่น้อง ผู้ที่ตนเคารพนับถือให้มาร่วมงาน จัดเตรียม "ขันปอกมือ" หรือ พานบายศรี และเตรียมข้าวปลาอาหารไว้ต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน โดยฝ่ายชายจะต้องเตรียมสิ่งของต่อไปนี้สำหรับวันแต่งงาน

          ดาบ 1 เล่ม (มีนัยหมายถึง การมีอาวุธประจำกาย คือ ดาบสรีกัญไชย เอาไว้ปกป้องภรรยาและครอบครัวต่อไป)
          ขันหมาก 1 สำรับ
          หีบ (ใส่เงิน หรือสมบัติส่วนตน เป็นนัยหมายถึงการตั้งตัว สร้างครอบครัวใหม่)
          ผ้าห่มผืนใหม่ 1 ผืน
          เงินใส่ผี (แล้วแต่ตระกูลของฝ่ายสาวกำหนด มีนัยหมายถึง เงินสินสอดทองหมั้นในปัจจุบัน)

        ส่วนเครื่องสักการะในบายศรีประกอบด้วย (ใส่ทุกอย่างเป็นจำนวนคู่)

          ข้าวเหนียวสุกปั้น
          ใส่ใข่ต้มสุกแกะเปลือก หรือปลา หรือ เนื้อ
          ขนมหวาน (ขนมชั้นหรือ ข้าวแต๋น ทองหยิบ ทองหยอด เป็นต้น)
          ผลไม้
          หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง
          ด้ายมงคล (สำหรับผูกข้อมือ) ใส่ในบายศรี

          เมื่อพร้อมแล้ว ญาติทางฝ่ายสาวจะให้ผู้แทนถือขันข้าวตอก ดอกไม้ (พานดอกไม้) มาเชิญฝ่ายเจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาว และฝ่ายเจ้าบ่าวพร้อมญาติผู้ใหญ่ก็จะตั้งขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าสาว ในขบวนประกอบด้วยดนตรีพื้นเมืองแห่อย่างสนุกสนาน มีเจ้าบ่าวถือดาบและหีบ และญาติถือสิ่งของที่เตรียมมาทั้งหมดนำหน้าขบวนมุ่งไปยังบ้านเจ้าสาว พอถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะมีผู้แทนคอยปิดกั้นประตูไม่ให้เจ้าบ่าวเข้าไป โดยจะต้องถามก่อนว่า 

          "โฮะ! จะปากั๋นไปไหนปะล้ำปะเหลือ มากั๋นนักจะอี้เนี่ย" แล้วผู้แทนฝ่ายเจ้าบ่าวที่มีโวหารดีจะพูดในลักษณะมงคลว่า

           "หมู่เฮาเอาแก้วแสงดีมาหื้อมาปั๋นพี่น้องบ้านนี้"

          ผู้แทนเจ้าสาวจะตอบว่า "บ้านข้าเจ้านี้มีประตูเงิน ประตูคำ จะเข้าไปง่ายๆ บ่ได้ จะต้องซื้อเข้าก่อนเน้อ"

          ฝ่ายเจ้าบ่าวจะถามว่า "นี้เป็นประตูเงินเฮาจะเอา…….."

          แล้วมีการต่อรองราคากันจนตกลงตามความพอใจทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะจ่ายเงินให้ผู้กั้นประตูและจากนั้นมีการกั้นประตูทอง หรือประตูคำกันต่อไป โดยจะมีการโห่ร้องหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน

          การกั้นประตูจะใช้สร้อยคอ หรือเข็มขัดเงิน-ทอง แล้วแต่ฐานะของผู้กั้น และอาจกั้นตอนขึ้นบันไดอีก และที่บันไดจะมีเด็ก ๆ ญาติฝ่ายเจ้าสาวมาตักน้ำล้างเท้าให้เจ้าบ่าว หรือทำเป็นเช็ดเท้าให้บ่าว ซึ่งเจ้าบ่าวจะจ่ายเงินให้ตามสมควร จากนั้นญาติฝ่ายเจ้าสาวจะเชื้อเชิญญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวขึ้นมานั่งร่วมทำพิธี และจูงมือเจ้าบ่าวให้มานั่งเคียงข้างเจ้าสาว โดยให้ หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา เอาขันปอกมือหรือพานบายศรีไว้ตรงกลาง แล้วให้เจ้าบ่าวเอาแหวนหรือสร้อยสวมใส่ใก้แก่เจ้าสาวเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นก็เชิญปู่อาจารย์ทำพิธีปัดเคราะห์เรียกขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาว ผูกมือ และกล่าวคำอวยพร จากนั้นจึงเชิญบิดามารดาฝ่ายเจ้าสาวและฝ่ายเจ้าบ่าว พร้อมแขกผู้ใหญ่ตลอกจนแขกที่มาในงานผูกข้อมือตามลำดับจนเสร็จพิธี 

 จูงเข้าห้อง

          เมื่อเสร็จพิธีผูกข้อมือแล้ว (บางคนผูกคู่บ่าวสาวโยงติดกัน หรือ "มัดติดกัน" โดยมุ่งหมายให้รักกันอย่างแนบแน่น อยู่ด้วยกันไปตราบสิ้นอายุขัย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน จึงนิยมผูกด้ายโยงไว้เป็นเครื่องหมาย) จากนั้นเจ้าภาพจะเชิญคู่ของญาติผู้ใหญ่ หรือแขกอาวุโสที่มีชีวิตแต่งงานราบรื่นและเจริญรุ่งเรือง มีลูกหลานเต็มบ้าน ลูกหลานเหล่านั้นก็เจริญก้าวหน้ามีเกียรติปรากฏทั่วไป มาจูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ห้องหอตามฤกษ์ โดยปฏิบัติ ดังนี้…

          ถือพานบายศรีนำหน้า
          แขกผู้อาวุโสฝ่ายหญิงจูงมือเจ้าสาว
          แขกผู้อาวุโสฝ่ายชายจูงมือเจ้าบ่าว
          ถือสลุงเงินและของขวัญตามไปด้วย

          เมื่อจูงมือเข้าห้องหอแล้วให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งบนเตียง หรือบนฟูกที่จัดตกแต่งไว้ ให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา ให้ทั้งสองหันหน้ามาหาผู้ใหญ่ที่จูงเข้าห้องเพื่อรับโอวาท สั่งสอนในการครองเรือน ให้รักทะนุถนอมรักษาน้ำใจ  เสียสละซึ่งกันและกัน ซึ่งการให้โอวาทเรียกว่า "สอนบ่าว สอนสาว" แล้วให้เจ้าสาวกราบฝากตัวกับเจ้าบ่าว โดยกราบตรงหน้าอก เจ้าบ่าวเอามือโอบกอดเจ้าสาวไว้ เป็นการรับว่ายินดีปกป้องคุ้มครองเจ้าสาวต่อไป

 การไหว้พ่อแม่

          เมื่อหนุ่มสาวอยู่กินกันได้ 3 วัน หรือ 7 วันแล้ว ก็พากันไป "ไหว้พ่อแม่" ตลอดถึงญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายโดยคู่สามี-ภรรยาใหม่จะช่วยกันหาเครื่องสักการะอุปโภคและบริโภค เช่น เสื้อผ้า อาหารแห้ง ขนม ให้ครบบุคคลที่ตนจะไหว้ตามสมควร พร้อมทั้งมีพานดอกไม้ ธูปเทียนไปเคารพกราบไว้ โดยมีความหมายว่าไปคารวะฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกหลานในตระกูล และขอคำแนะนำในการครองเรือน ตลอตถึงการขอศีลขอพรจากผู้ใหญ่ใหเป็ศิริมงคลแก่ตนต่อไป 

          ส่วนทางญาติผู้ใหญ่อาจเตรียมทุนไว้มอบให้ เพื่อสร้างครอบครัวตามฐานะของแต่ละท่าน เงินเหล่านี้เรียกว่า "เงินขวัญถุง" จึงมักจะเก็บไว้เป็นศิริมงคลให้เงินไหลเข้ามาเพิ่มเติมอีก ให้เกิดความรุ่งเรืองในชีวิตครอบครัวตลอดไป

          และนี่คือ "พิธีแต่งงานแบบล้านนา" วัฒนธรรมอันสวยงามของชาวไทยภาคเหนือ ที่เราหยิบมาบอกกันค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีแต่งงานแบบล้านนา อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2555 เวลา 15:43:55 6,581 อ่าน
TOP