x close

สามี (ภรรยา) ตีตรา


สามี (ภรรยา) ตีตรา (i DO)


          การจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อตกลงปลงใจจะจดทะเบียนเป็นคู่สามีภรรยากันแล้ว ทั้งคู่จะมอบอำนาจให้ใครไปทำการแทนนั้นไม่ได้ ภายหลังเมื่อจดทะเบียนกันแล้วย่อมมีผลคุ้มครองตามกฎหมาย

          การจดทะเบียนสมรสนั้น อันที่จริงจะส่งผลให้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายกลายเป็นสามี-ภรรยาตีตราด้วยกันทั้งคู่ การจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจ จะไปบังคับให้ใครมาแต่งไม่ได้

          คู่สมรสหลายคู่จัดพิธีแต่งงานและอยู่ร่วมกัน แต่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ครั้นอีกฝ่ายทวงถามก็ผัดวันประกันพรุ่งไปก่อน ทำให้เกิดความสงสัยว่า จะใช้หมายฟ้องร้องให้ศาลบังคับให้ไปจดทะเบียนสมรส ในข้อหาผิดสัญญาสมรสได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ การสมรสเป็นเรื่องเฉพาะตัว กฎหมายจะไม่เข้าไปบังคับเอามากมายถึงเพียงนั้น

          การจดทะเบียนสมรสทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่น่าดีใจก็มีและอาจจะน่าเสียใจก็ได้ แล้วแต่ว่าใครจะถูกใจแบบไหน สิทธิหน้าที่อย่างแรกที่มีต่อกันในฐานะสามีภรรยา ได้แก่ การอุปการะเลี้ยงดูกันและกัน ไม่เลือกว่าชายต้องดูแลหญิงหรือหญิงต้องดูแลชาย ฝ่ายหญิงยังมีสิทธิ์ที่จะได้ใช้ชื่อสกุลของฝ่ายชาย รวมทั้งการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อหากต้องการ

          นอกจากนี้ สามี-ภรรยายังมีสิทธิ์จะได้รับมรดกหากอีกฝ่ายด่วนเสียชีวิตไป รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะหึงหวงคู่สมรสอย่างออกหน้าออกตาได้ถูกต้องตามกฎหมาย หากมีมือที่สามเข้ามาก้าวก่าย อย่างการเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทน ในกรณีที่ภรรยาถูกล่วงเกินในทำนองชู้สาว หรือมีผู้หญิงอื่นมาแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว


          เรื่องทรัพย์สินเงินทองที่มีก็ต้องมากองเป็นกระเป๋าเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่าใครจะเป็นฝ่ายทำมาหาได้ เรียกว่าเป็น "สินสมรส" อีกทั้งการจัดการทรัพย์สินสมรสที่กฎหมายบัญญัติควบคุมไว้ ยังต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน

          อย่างการจัดการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การให้กู้ยืมเงินหรือให้โดยเสน่หาที่ไม่ใช่การให้ตามสมควร การประนีประนอมยอมความ การมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย หรือการนำทรัพย์สินไปเป็นประกัน หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงาน หรือศาล เป็นต้น หากอีกฝ่ายไม่ให้ความยินยอมก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้อนุญาต ถ้าการที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมนั้นไม่มีเหตุผลสมควร

          นอกจากสิทธิหน้าที่ในระหว่างกันแล้ว การจดทะเบียนสมรสยังมีผลต่อบุคคลอื่น อย่างลูกที่เกิดมาในระหว่างสมรส ย่อมเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ทำให้ได้สิทธิมากมายในฐานะลูกของพ่อ หรือกรณีที่สามีหรือภรรยาไปก่อหนี้ในระหว่างสมรส เจ้าหนี้สามารถเรียกบังคับชำระหนี้ได้จากสินสมรส หากยังไม่พอใช้หนี้เจ้าหนี้ยังตามจากทรัพย์สินส่วนตัวของสามีและภรรยาได้อีก เพราะถือว่าเป็น "หนี้ร่วม" ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

          แต่หากมีใครมาทำละเมิดกับสามีหรือภรรยาจนถึงแก่ความตาย ภรรยาหรือสามีของผู้ตายสามารถใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขาดไร้อุปการะ เพราะคู่สมรสมีหน้าที่ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน รวมทั้งการมีคู่สมรสยังสามารถยื่นหักลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้อีกด้วย


          ทะเบียนสมรสเป็นเครื่องผูกมัดตามกฎหมาย ให้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีความผูกพันกัน ความซื่อสัตย์และการดูแลกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ตามติดมากับการจดทะเบียนสมรสด้วย และหากถึงคราวที่อยากจะออกจากสถานะความเป็นสามีภรรยา ตามกฎหมายก็ต้องจดทะเบียนหย่าตามมา ซึ่งอาจสร้างความว้าวุ่นได้พอสมควร เพราะทะเบียนสมรสจะมีอายุยืนยาวตลอดไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันไป


 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สามี (ภรรยา) ตีตรา อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2567 เวลา 10:33:13
TOP