x close

เรื่องของ...ของหมั้น

หมั้นหมาย

เรื่องของ...ของหมั้น (i Do)

          ก่อนแต่งงาน...หลายคู่รักตัดสินใจหมั้นหมายกันก่อน เพื่อจะได้ศึกษานิสัยใจคอกันให้มากขึ้น แต่ก็มีหลายคู่ที่เดินทางไปไม่ถึงฝั่งฝัน ต้องถอนหมั้นกันไปก่อนด้วยหลายสาเหตุ ในกรณีนี้หลายคู่รักยังมีความเข้าใจเรื่อง "ของหมั้น" ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งถือเป็นอีกสิ่งสำคัญ สำหรับว่าที่คู่บ่าว-สาวควรรู้

          ตามมาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ฝ่ายหญิง

ความหมายของ "ของหมั้น"

          คือเป็นทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคา และอาจถือเอาได้ สรุปง่าย ๆ ของหมั้นก็คือวัตถุที่มีรูปร่าง หรือไม่มีรูปร่างก็ได้ ขอให้อาจมีราคาและถือเอาได้ ของหมั้นอาจเป็น แหวน ทอง หรือสิทธิเรียกร้อง มูลค่าเท่าไหร่ไม่สำคัญ ของหมั้นต้องให้ไว้กับฝ่ายหญิงในขณะหมั้น ถ้าตกลงว่าจะมาให้วันหลังหรือติดไว้ครึ่งหนึ่ง ถือว่าไม่ใช่ของหมั้น

          อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเป็นคู่หมั้น อาจมีเหตุอันทำให้ทั้งคู่ต้องถอนหมั้น จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องสิทธิของ "ของหมั้น" นั้น ควรจะเป็นของฝ่ายใด เนื่องจากตามความหมายของการหมั้นที่สมบูรณ์ เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นจะต้องตกเป็นสิทธิแก่ฝ่ายหญิง

กรณีที่หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น

          1. ของหมั้นเป็นสิทธิของฝ่ายหญิงทันที เมื่อได้ทำสัญญาหมั้น

          2. ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนสมรส ตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. มาตรา 1441 "ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งต้องตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย"

          3. หญิงบอกเลิกสัญญาหมั้น เมื่อมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น คือ ตาม ปพพ. มาตรา 1443 "ในกรณีที่มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย" และตาม ปพพ. มาตรา 1444 "ถ้าเกิดเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้น อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงต้องรับผิด ใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้น ผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น เสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น"

          4. ชายหญิงหมั้นกันแบบไม่จริงจัง โดยไม่คิดจดทะเบียนสมรสกันสักที แบบนี้ฝ่ายชายจะมาขอของหมั้นคืนไม่ได้

          5. ฝ่ายชายไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับฝ่ายหญิงอันเป็นคู่หมั้น

กรณีที่หญิงต้องคืนของหมั้น

          1. ฝ่ายหญิงผิดสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายชาย

          2. ชายบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดขึ้นแก่หญิงคู่หมั้น คือ ปพพ. มาตรา 1443 และ 1444

          3. หญิงคู่หมั้นไปร่วมประเวณีกับชายอื่น หรือชายอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืน และชายได้บอกเลิกสัญญาหมั้น

          4. หญิงคู่หมั้นไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย

          การหมั้นหมายมีวัตถุประสงค์ให้ "คู่รัก" ใช้เวลาศึกษานิสัยใจคอกันให้มากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากคู่หมั้น กลายเป็นคู่สมรส ดังนั้น ควรใช้เวลาที่มีค่าในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

วางแผนแต่งงาน ชุดแต่งงาน เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงานแต่งงาน คลิกเลย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2554 ISSUE 47


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของ...ของหมั้น อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2554 เวลา 10:50:51 5,856 อ่าน
TOP