x close

พิธีแต่งงานแบบล้านนาแท้ ๆ ความงดงามแห่งขนบประเพณี

พิธีแต่งงาน

Kingdom of Lanna… Wedding Tradition (i Do)
เรื่อง : Tong

          พิธีแต่งงานแบบล้านนาแท้ ๆ ความงดงามแห่งขนบประเพณี และวิถีชีวิตพื้นเมืองภาคเหนือที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ ครั้งนี้ ประเพณีสำคัญได้ถูกจัดเตรียมขึ้นอีกครั้ง ณ โรงแรมศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดเชียงใหม่ แสดงถึงศักยภาพความพร้อม ของการเป็นสถานที่จัดพิธีแต่งงานแบบล้านนาที่ครบครัน ถูกต้อง และสวยงามตามประเพณี

          สถานที่จัดงาน ณ โรงแรมศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา เป็นรีสอร์ทระดับ 5 ดาว ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เพียง 5 นาที จากไนท์ บาซาร์ และสถานีรถไฟ หรือ 10 นาที จากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจจากความงามของเวียงกุมกาม รอบพื้นที่ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิด จำนวนถึง 20,000 ต้น บริเวณรีสอร์ทมีทุ่งข้าวปันนา นาปลูกข้าวที่เป็นนาออร์แกนิค ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมบริการอันอบอุ่นในรูปแบบลักชูรี่ล้านนาให้บริการห้องพัก สปา ห้องอาหาร และบริการด้านจัดเลี้ยงรวมถึงการจัดงานแต่งงาน

          การสาธิตพิธีแต่งงานแบบล้านนา จัดขึ้นบริเวณ "เฮือนศิลป์สล่า" ภายในรีสอร์ท เรือนไม้แบบล้านนาโบราณตกแต่งดอกไม้สีหวาน เพื่อเพิ่มบรรยากาศงานแต่งงาน รอบบริเวณตกแต่งเติมบรรยากาศแบบภาคเหนือด้วยตุงและโคมล้านนา ด้านหน้าเรือนเป็นสนามหญ้า ซึ่งจัดแบ่งเป็นราชวัตร มีรั้วรอบขอบกั้นด้วยระแนงไม้ไผ่ ดูเรียบง่าย เข้ากับบรรยากาศ ตรงทางเข้าราชวัตรตกแต่งด้วยงานสานใบมะพร้าวฝีมือสร้างสรรค์ของสล่าเมือง ที่นำใบมะพร้าวมารัดร้อยเป็นลวดลายสวยงาม จัดทำเป็นทรงโค้งสลับไขว้ บางมุมสานเป็นช่อ มีลักษณะคล้ายแจกันเล็ก ๆ มีช่องสำหรับตกแต่งดอกไม้ ดูอ่อนหวานสวยงาม บางมุมปักด้วยธงเล็ก ๆ แบบล้านนาหลายอัน

          ก่อนเข้าสู่พิธีแต่งงาน บริเวณด้านข้างทุ่งข้าวปันนาจัดเป็นพรี-ค๊อกเทล ต้อนรับในรูปแบบตลาดล้านนาโบราณที่เรียกว่า "กาดหมั้ว" ที่ขายของหลากหลาย แต่ละร้านจัดเมนูอาหารทานเล่นแบบโบราณ อาทิ ขนมครก หมี่พันลับแลแบบดั้งเดิม ไข่ปิ้ง เมี่ยงคำ เสิร์ฟในกระทงใบตอง น้ำตาลปั้นเสียบไม้คล้ายลูกอมแบบโบราณ และน้ำสมุนไพร พร้อมการแสดงฟ้อนนกกิงกะหล่า การแสดงร่ายรำ ซึ่งหมายถึงการเชื้อเชิญ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนพิธีการแต่งงาน เริ่มตั้งแต่การแห่ขบวนขันหมาก การกั้นประตูเงินประตูทอง ไปจนถึงพิธีผูกข้อมือ การจัดเลี้ยงรับรองขันโตก และการปล่อยโคมลอย ที่แสดงถึงความงดงามของประเพณีไทยล้านนา

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

การแห่ขันหมาก

          ขบวนแห่ขันหมากแบบล้านนาดั้งเดิมของฝ่ายเจ้าบ่าว ประกอบไปด้วยวงปี่กลอง หญิงสาวฟ้อนรำนำขบวน ร่วมด้วยบรรดาเพื่อน ๆ และญาติของเจ้าบ่าว ขบวนแห่ดูมีชีวิตชีวาสนุกสนานตลอดทางไปยังบ้านของเจ้าสาว โดยมีผู้ปกครองของเจ้าบ่าวเดินนำ แห่พานใส่ดอกไม้มงคล หรือ "ขันอัญเชิญ" ตามด้วยพานใส่ขันหมากหรือ "ขันหมากเอก" พร้อมกับพานใส่ของกำนัลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือ "ขันหมากรอง" ซึ่งทำมาจากหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบนาค มีถุงข้าวเปลือกและข้าวสาร ถุงถั่วงา บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเป็นคนถือชั้นใส่เสื้อผ้า ถุง และดาบ สิ่งของเหล่านี้แสดงถึงฐานะและยศถาบรรดาศักดิ์ของฝ่ายชาย ในขบวนยังมีกล้วย มะพร้าว อ้อย ขนมหวาน และผลไม้ต่าง ๆ

การกั้นประตูเงินประตูทอง

          หน้าประตูบ้านของฝ่ายเจ้าสาวจะมีผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวยืนรอรับขบวนขันหมาก เมื่อขบวนขันหมากมาถึงจะมีการต่อรองระหว่างสองครอบครัวซึ่งเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน ถือเป็นประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องตกลงที่จะจ่าย "ค่าผ่านประตู" ก่อนที่จะเจอหน้าเจ้าสาวที่เก็บตัวอยู่ในห้อง เจ้าบ่าวจะต้องเดินผ่านประตูเงินประตูทอง ที่มีบรรดาญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ของฝ่ายเจ้าสาวยืนขวางประตูทางเข้าไว้ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมซองใส่เงินเป็นค่าผ่านประตูก่อนจะได้พบเจอเจ้าสาว

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

บายศรีสู่ขวัญ

          ที่ด้านหน้าห้องพิธีบายศรีสู่ขวัญจะมีนางรำหรือช่างฟ้อนรอต้อนรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เพื่อทำการฟ้อนอวยพร เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องพิธี โดยมีผู้หญิงช่วยล้างเท้าของทั้งคู่ด้วยน้ำดอกไม้หอม เมื่อทั้งสองเข้ามาด้านใน ผู้ประกอบพิธีจะกล่าวอวยพรให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ด้วยการทำพิธีหลักคือ บายศรีสู่ขวัญ ตามความเชื่อของชาวล้านนาที่ว่า ดวงจิตของคนเรามีทั้งหมด 32 ดวงที่คอยปกปักรักษา เมื่อเจ้าตัวรู้สึกเหนื่อย ป่วย เศร้าโศก หรือจำเป็นต้องเดินทางไกล เชื่อว่าดวงจิตได้หายไปจากร่างกายหนึ่งดวงหรือมากกว่านั้น จึงต้องมีพิธีเรียกให้ดวงจิตนั้นกลับมาสู่ร่างกาย โดยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีจะทำให้บุคคลผู้นั้นเข้มแข็ง พร้อมนำพาโชคลาภ และสุขภาพที่ดี

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

การผูกข้อมือและพิธีสืบชะตา

          ถือเป็นพิธีสำคัญของพิธีวิวาห์ พิธีการผูกข้อมือเป็นการมอบพรให้แก่คู่บ่าว-สาว โดยทั้งเจ้าบ่าว-เจ้าสาวจะตกลง "ผูกชีวิตเข้าด้วยกัน" ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มต้นพิธีด้วยการหลั่งน้ำสังข์ลงบนมือของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เพื่อให้เกิดโชคลาภ จากนั้นผู้ประกอบพิธีรวมถึงบรรดาญาติ ๆ จะทำการผูกข้อมือ และให้พรแก่ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มีชีวิตคู่ที่มีความสุขตลอดไป

          จากนั้นจะทำพิธีสืบชะตา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตคู่ ในการประกอบพิธีจะมีเสาไม้ 3 ต้นค้ำกันไว้เพื่อให้ทั้งคู่ช่วยเหลือค้ำจุนกันไปตลอดชีวิต คู่บ่าว-สาวจะนั่งอยู่ใต้เสา 3 ต้น และนำสายสิญจน์ที่ผูกเสาทั้ง 3 มาสวมบนศีรษะของคู่บ่าว-สาว และรับพรจากผู้ชำนาญในการประกอบพิธี

จัดเลี้ยงรับรองขันโตก

          ปิดท้ายพิธีการทั้งหลาย ด้วยงานเลี้ยงขันโตกดินเนอร์ จัดเสิร์ฟอาหารพื้นเมืองแบบล้านนา เริ่มตั้งแต่ออเดิร์ฟเมือง ที่ประกอบไปด้วยไส้อั่ว หมูยอ แหนมหั่นชิ้นเล็กพอดีคำ แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง แนมด้วยผักสดนานาชนิด พร้อมแกงฮังเล ที่ทำจากหมูสามชั้นผัดจนหอมเครื่องเทศและขิงสด แกงโฮะ ที่ภาษาพื้นเมืองหมายถึงแกงหลาย ๆ อย่างนำมารวมกัน ผัดผักรวมกุ้งสด และไก่ทอด เติมความประทับใจด้วยการปล่อยโคมลอยที่ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

          พิธีมงคลสมรสไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ใด ด้วยประเพณีท้องถิ่นไหน ล้วนถือว่าเป็นงานสำคัญสุดพิเศษ สำหรับที่เชียงใหม่ดินแดนแห่งวัฒนธรรมอันสวยงามที่มีตำนานเล่าขานมาอย่างยาวนาน พิธีแต่งงานแบบล้านนาจึงนับเป็นประสบการณ์ความทรงจำอันมีค่าสำหรับคู่บ่าว-สาวที่จัดงานตามวัฒนธรรมล้านนา

พิธีแต่งงานแบบล้านนา

Kingdom of Lanna… Wedding Tradition

          สถานที่ ศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา ถ.ราษฎร์อุทิศ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร.0 5337 1999 siripanna.com

          ศิลปินโคมล้านนา แม่บัวไหล คณะปัญญา ศิลปินโคมล้านนาที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ ผู้ประดิษฐ์โคมล้านนาที่นำมาประดับภายในงาน

          ช่างฝีมือถักทางมะพร้าว สล่าเมืองจากบ้านพญาชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

          ตุง ในงานนี้ใช้ตุงชัย มีความหมายเชิงมงคล เชื่อว่าการโบกปลิวตามสายลมของตุงจะช่วยพัดพาให้ขึ้นไปถึงพระธาตุแก้ว
จุฬามณีบนสรวงสวรรค์

          โคม หมายถึง ความสุขสว่างและความรุ่งเรือง

          จ้อ หมายถึง ธงขนาดเล็ก ยอด หรือความเป็นสูงสุด จ้อเป็นภาษาเหนือ หรือเรียกเป็นภาษากลางว่า "ช่อ"

          กาดหมั้ว หมายถึง ตลาดที่ขายของหลากหลาย ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นำของมาขายในอดีต ตามหลักฐานรูปภาพและจารึกมีอายุประมาณ 200-300 ปี ลักษณะของกาดหมั้ว เป็นกาดหรือตลาดในชุมชนที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะนำผลผลิตทางการเกษตรมาขาย กาดหมั้วจะเป็นกาดที่ไม่ค่อยมีแบบแผนเท่าใดนัก เพราะเป็นกาดแบบชาวบ้าน ๆ

          การฟ้อนนกกิงกะหล่า เป็นนกในจินตนาการ เชื่อกันว่ามีตัวเป็นมนุษย์แต่มีปีกเป็นนก ครั้นเมื่อพุทธกาลหลังจากที่พระพุทธเจ้าจำพรรษา ในวันออกพรรษา บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต่างออกมาแสดงความยินดีต้อนรับพระพุทธเจ้า นกกิงกะหล่าก็ออกมาร่ายรำต้อนรับด้วย การฟ้อนนกกิงกะหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของการต้อนรับผู้ที่มาร่วมงาน

          ราชวัตร หมายถึง รั้วกั้นพิธี ทำด้วยไม้ไผ่จักรสาน มีประตูทางเข้าไม่เกิน 4 ด้าน ในที่นี้กั้นเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงขันโตก





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ISSUE 53

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีแต่งงานแบบล้านนาแท้ ๆ ความงดงามแห่งขนบประเพณี อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2555 เวลา 14:19:47 9,740 อ่าน
TOP