x close

เรื่องควรรู้ก่อนที่จะจัดงานแต่งงาน

วางแผนแต่งงาน



Lessons to learned. Before the Wedding (Bridals Choice)

          ขอนำเอาข้อมูลอ้างอิงการจัดงานแต่งงาน ที่เก็บรวบรวมจากคู่บ่าวสาวที่ผ่านมา นำมาเล่าเรื่องราวข้อผิดพลาดจากการจัดงานแต่งงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปเป็นประสบการณ์ นำไปปรับใช้แก้ไข เพื่อป้องกันหรือให้เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด เพื่ออะไรเหรอ ?? ก็เพื่อในเมื่องานเสร็จสิ้นลงคู่บ่าวสาวจะได้ไม่นั่งซ้ำใจเมื่องานจบ อย่าลืมนะคะงานผ่านไปแล้วจะมาย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นกับงานแต่งงานนั้นมีอะไรบ้าง

      1. เรื่องของใบสัญญาในการจองแพ็กเกจแต่งงาน

          การเช่าตัดชุดวิวาห์ ควรอ่านสัญญาให้ครบถ้วนถึงราคาเช่าตัดนั้นได้รวมค่าลูกไม้หรืออื่น ๆ อีกหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจโดนบวกค่าลูกไม้ตกแต่ง หรือคิดค่าแรงปักเลื่อมเพิ่มเติมอีก เพราะฉะนั้น ก่อนเขียนสัญญาควรอ่านให้ละเอียด และสอบถามเรื่องนี้เพิ่มเติมจะเป็นการดีที่สุด การวางเงินประกันชุดวิวาห์ บางครั้งไม่มีการตกลงในเรื่องนี้ พอทำสัญญากันเสร็จสิ้นทางร้านจะมีการขอเงินประกันชุดในการใส่วันงานเพิ่มอีก เรื่องนี้ถึงแม้ว่าทางร้านจะคืนเงินประกันชุดให้ในวันคืนชุดก็ตาม แต่บางครั้งก็เสียความรู้สึกอยู่ลึก ๆ นะคะ

วางแผนแต่งงาน

      2. เรื่องของช่างแต่งหน้าวันงาน

          ราคาไม่ได้เป็นตัวบอกฝีมือเสมอไป บางทีช่างที่ราคาไม่แพงอาจจะแต่งสวยก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้มีเวลาก็ไปดูผลงานของช่างที่ร้าน หรือผลงานจากภาพถ่ายหลาย ๆ ท่านก่อนตัดสินใจ ช่างบางคนมีความชำนาญด้านการแต่งหน้าเพียงอย่างเดียว แต่เกล้าผมไม่เก่งหรือไม่ชำนาญพอ คุณควรพิจารณาสอบถามและดูผลงานก่อน ส่วนเรื่องทรงผมและดอกไม้ประดับผม ต้อง Confirm ให้แน่นอนว่าเราอยากได้แบบไหนติดดอกอะไร ถ้าแยกช่างแต่งหน้ากับช่างทำผม ควรจะตกลงกับช่างทำผมโดยตรงด้วยตนเองจะดีกว่า พอถึงวันจริงก็ควรนัดช่างก่อนเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเริ่มพิธี เพราะเชื่อหรือไม่ว่าการแต่งหน้า ทำผม ค่อนข้างใช้เวลามาก ถึงจะได้ผลงานที่ประณีต อย่าคิดว่าช่างที่มีฝีมือดี ๆ จะแต่งหน้าได้เร็วนะคะ นั่นเป็นเพราะเขารีบทำรีบจบงานให้ไว ๆ มากกว่า

          ส่วนฝีมือนั้นถ้าดูกันผิวเผินแล้ว คนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องการแต่งหน้าอาจจะดูไม่ออกก็ได้ การรักษาเวลาของช่างแต่งหน้า ทำผม และตัวเจ้าสาวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ โปรดอย่ามองข้ามเรื่องนี้ เพราะจะได้มีเวลาแก้ไขประดิดประดอยอย่างสบายใจ ไม่ต้องทำแบบฉุกละหุก และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาของช่างแต่งหน้ารับงานซ้อนเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกับช่างแต่งหน้าก่อนในเรื่องของการรักษาเวลา ดังนั้น คุณควรขอเบอร์ช่างผมโดยตรงไว้เลยเพื่อความแน่นอนกรณีที่ต้องไปแต่งหน้าทำผมที่สตูดิโอ ควรเผื่อเวลาเดินทาง เผื่อเวลารถติด รวมทั้งเผื่อเวลาที่ต้องไปนั่งรอคิวแต่งหน้าที่สตูติโอให้ดี ๆ นะคะ อ้อ ! แล้วอย่าลืมเผื่อเวลาตอนเดินทางกลับมาที่สถานที่จัดงานด้วย ถ้าบริหารเวลาผิดพลาด เกิดมาสายเกินกำหนดเวลา 1-2 ชั่วโมง ไม่อยากจะคิดเลยว่าจะเป็นอย่างไร

วางแผนแต่งงาน

      3. เรื่องของดอกไม้ประดับผมเจ้าสาว

          อย่าเชื่อใจการรับปากของช่างแต่งหน้า+ทำผมเรื่องของดอกไม้ประดับผม เพราะท่านอาจโดนข้อแก้ตัวมาตรฐานเมื่อถึงวันจริงว่า “หาดอกไม้ตามที่ต้องการไมได้ เพราะไม่มีขาย หรือว่าขาดตลาด เลยเอาดอกไม้...? มาแทน” ถามว่าถ้าโดนคำตอบแบบนี้ประกอบกับเวลาที่บีบมาเรื่อย ๆ คุณจะมีเวลาที่ไหนมาหาดอกไม้ประดับได้ตามที่ตัวเองชอบ ทางออกที่ดีที่สุดคือตกลงเฉพาะราคาค่าแต่งหน้าทำผม ส่วนดอกไม้ทำผมให้คิดแยกออกต่างหาก แต่ถ้าคู่บ่าวสาวไม่คิดมากกับเรื่องนี้ หรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ก็คงไม่มีอะไรน่าซีเรียส

วางแผนแต่งงาน

      4. เรื่องของช่างภาพ ช่างถ่ายภาพวันงาน

          ควรกำหนดให้ช่างภาพมาก่อนเวลาเพื่อเก็บภาพบรรยากาศก่อนแขกเดินทางมาถึง และคู่บ่าวสาวได้มีเวลาถ่ายรูปส่วนตัวก่อน เคยมีหลายคู่ที่พลาดโอกาสได้ถ่ายรูปส่วนตัวในสถานที่จัดงาน หรือในบรรยากาศสวย ๆ ในสวนของโรงแรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน การทำความเข้าใจกับช่างภาพถึงรูปแบบของภาพที่คุณอยากให้เป็น เช่น อยากให้มีภาพบรรยากาศหน้างานและในงานแค่ไหน เน้นภาพคู่มากน้อยแค่ไหน บางครั้งได้ภาพคู่บ่าวสาวมากเกินไป หรือได้ภาพเดี่ยว ๆ มากกว่า มีภาพของแขกเหรื่อมากเกิน ภาพออกมาดีมีแต่รูปเจ้าบ่าวเจ้าสาว เสียดายที่ถ่ายรูปคู่กับเจ้าบ่าวน้อยไป บางภาพเจ้าบ่าวดูดีเจ้าสาวดูไม่ดีเท่าไหร่ เลยมีรูปให้เลือกน้อย ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะขยายรูปไหนดี รูปที่ดีก็ดันถ่ายกับญาติ ๆ อะไรจำพวกนี้

          ตกลงกับช่างภาพให้ดี รูปที่เราอยากให้ช่างถ่ายรูปในงานเป็นแบบใด เช่น เอารูปจับมือ เอารูปเดินมาแบบนี้นะ เอารูปเผลอ ๆ ประมาณนี้นะ เอารูปของแต่ง เช่น เทียน ดอกไม้ พานของชำร่วย ฯลฯ เพราะบางทีไม่ได้ทำความเข้าใจกับช่างภาพ ก็ถ่ายไปเรื่อย ผลพอล้างภาพออกมาก็อาจจะได้ผลงานที่หงุดหงิดหัวใจเจ้าภาพได้เหมือนกัน หาโอกาสถ่ายภาพกับครอบครัวไว้ก่อน คือควรจะถ่ายรูปกับคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวไว้ก่อนเริ่มงาน เพราะเมื่อแขกมากันแล้วโอกาสที่จะได้ถ่ายไม่มีแล้วค่ะ พ่อแม่ก็ต้องดูแลรับแขกของท่าน (ซึ่งอาจจะมากกว่าแขกเราเองอีกค่ะ) จะได้ไม่เกิดปัญหาพองานจบมานั่งดูรูปเกิดไม่มีเฉพาะที่ถ่ายในครอบครัวตัวเองเลย หรือถ้ามีก็จะมีรูปคนอื่นมาแจมอีก มันก็จะเสียโอกาสตรงนี้ไปนะ เผื่อ ๆ ไว้หน่อย

      5. เรื่องของนักดนตรี

          ทำความเข้าใจเรื่องการรักษาเวลานักดนตรี ส่วนใหญ่ต้องมาถึงสถานที่จัดงานก่อนเวลา 1-2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อเตรียมหาที่ในการจัดวางอุปกรณ์ และเซตเครื่องดนตรีให้พร้อมก่อนถึงเวลา ต้องมีการตั้งเสียงต่าง ๆ นานาอีก คุณควรตกลงกับนักดนตรีถึงตรงนี้ด้วย เพราะบางครั้งแขกเข้ามาในงานกันแล้ว นักดนตรียังมานั่งเซตเสียงเครื่องดนตรีกันอยู่เลย

          อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ควรเตรียมแผนสองไว้เสมอในเรื่องของเครื่องดนตรี หากมีการผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น สายเครื่องดนตรีขาดระหว่างเล่นดนตรี ไฟฟ้าขัดข้อง สายเสื่อมสภาพใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้าง, ไมล์ใช้งานไม่ได้เนื่องจากถ่านหมด, สัญญาณไมล์ลอยติด ๆ ดับ ๆ เรื่องเหล่านี้ควรตกลงกับนักดนตรีก่อนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เขาเตรียมทางแก้ไว้พร้อมหรือยัง คิดดูเอาเองนะคะว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ขึ้นจริง ๆ ขณะนั้นคู่บ่าวสาวยืนรับแขกอยู่ด้านหน้างาน มันอึดอัดหัวใจเพียงใด เพราะตอนนั้นบ่าวสาวคงได้แต่ยืนดูตาปริบ ๆ

      6. เรื่องของ Presentation และปัญหาของลำโพงขยายเสียง

          ควรจะทำความเข้าใจกับคนเปิด Presentation, ผู้ควบคุมในการหรี่ไฟ, ผู้ควบคุมดนตรี หรือคุมแผ่น CD เพลง ให้เข้าใจตรงกันให้มากที่สุด และควรซ้อมก่อนถึงเวลาจริง ๆ อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อหาข้อผิดพลาดและแก้ไข ปัญหาการเปิด File Presentation ไม่ได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ กับหลายงานมาแล้วเหตุเพราะ บางครั้งเจ้าบ่าวทำ Presentation เอง หรือไม่ก็เพื่อน ๆ สนิทเป็นคนทำให้ ตอนทำก็ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านทำแต่พอใช้งานจริง ก็ Write ใส่แผ่น CD มาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งและไม่ได้ทำการทดลองก่อน ผลปรากฏพอถึงเวลาฉาย Presentation กลับเปิดไม่ออก ทำให้เสียโอกาส เสียความรู้สึก ต้องข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย

          ถ้าเป็นกรณีนี้ขอแนะนำให้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำ Presentation ในตอนแรกยกใส่รถเป็นเครื่องสำรองไว้ด้วยจะได้ไม่เสียเวลาขับรถวิ่งไปวิ่งมาให้เสียเวลา ยอมเหนื่อยในครั้งแรกไว้ก่อน กันไว้ดีกว่าแก้ ปรับเสียงลำโพงให้เป็นระบบ MONO จะดีที่สุด ถ้าลำโพงเสียงเป็นเซอร์ราวด์+สเตอริโอนั้น หมายความว่าเสียงลำโพงดนตรีกับเสียงร้องจะถูกแยกกันโดยระบบทำให้แขกที่นั่งอยู่ด้านฝั่งลำโพงเซอร์ราวด์จะไม่ได้ยินที่บ่าวสาวพูดบนเวทีค่ะ ทางที่ดีที่สุดควรให้นักดนตรีหรือผู้ควบคุมเครื่องเสียงปรับลำโพงให้ MONO ตลอดงานจะดีที่สุด

วางแผนแต่งงาน

      7. เรื่องจิปาถะอื่น ๆ

           กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนว่าจะขอให้ใครมาช่วยยกหรือถืออะไร ในช่วงเช้าขบวนขันหมาก หรือคนนั่งหน้าโต๊ะรับแขกในช่วงงานเย็น หรือกำหนดแม่งานให้แน่นอน

          ระวังรอยเปื้อนชุดแต่งงาน เจ้าสาวควรระวังเรื่องคราบที่จะเปื้อนชุด เช่น คราบจากสีดอกไม้จากพวงมาลัย คราบจากเครื่องสำอางหรือแป้ง ซึ่งบางครั้งหากซักไม่ออกทางร้านจะคิดค่าปรับ พวงมาลัยจึงควรเป็นพวงมาลัยสดมากกว่าพวงมาลัยย้อมสี (ปัจจุบันก็นิยมพวงมาลัยสดอยู่แล้ว)

          สมุดประสาทพร ที่ต้องใช้ จะอยู่ระหว่าง 3-4 เล่ม (อย่าลืมปากกาสี), กาวติดกระดาษ, กระดาษกาว, ที่หนีบ, แม็ก, ลูกแม็ก เอาไปเผื่อไว้ก่อน เพราะบางช่วงเวลาแขกอาจมาพร้อมกันหลายคน ทำให้บางครั้งแขกต้องยืนรอเซ็นสมุดอวยพรหน้างาน เพราะสมุดเซ็นมีเล่มเดียวหรือสองเล่มเท่านั้น แถมปากกาสีก็มีไม่เพียงพอ

          แผนที่โต๊ะหรือป้ายชื่อโต๊ะ (โต๊ะจีน) ควรทำไว้เพื่อไม่ให้แขกงง คนเชิญแขกจะได้ไม่งง และเพื่อเป็นระเบียบในการให้แขก ได้นั่งในที่ที่เรากำหนด

          น้ำดื่ม "อวยพร" หรือพวงมาลัยคล้องบ่าวสาว ควรกำหนดคนและกำหนดเวลาไว้ด้วยว่าใครจะเป็นผู้ถือส่งให้ประธานในพิธี หรือผู้กล่าวนำอวยพรบ่าวสาว

          กรณีสั่งดอกไม้เพิ่ม ถ้าสั่งดอกไม้เพิ่มควรคุยราคาให้ชัดเจนก่อน เพราะราคาดอกไม้ในท้องตลาดจะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาไม่แน่นอน และเพื่อป้องกันการโก่งราคากันภายหลัง

          เจ้าสาวงานเย็นที่ใส่ชุดยาวลากพื้น ได้โปรดมั่นใจและจำไว้ว่าไม่ต้องถกกระโปรง เพราะตอนดูรูปว่าเจ้าสาวถกกระโปรงตลอดทั้งงานจะดูไม่สวย มันจะเลอะก็ปล่อยมันเลอะไปเลย

          เตรียมกระดาษซับมัน บางทีอากาศร้อนทำให้เจ้าสาวมีเหงื่อออกตามผิวหน้า อาจทำให้เครื่องสำอางเลอะได้ ควรพกกระดาษซับมันไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาใช้งานจะได้หยิบใช้ได้ทันท่วงที

          กรณีจัดงาน Outdoor ในการจัดงานกลางแจ้ง เช่น ในสวนสาธารณะ ริมทะเล และสนามกีฬา ปัญหาที่พบเห็นได้บ่อย คือ "ไฟฟ้าตก" โดยเฉพาะในช่วงหัวคำซึ่งเป็นเวลาที่ทุกครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องไฟฟ้าตกได้ เดี๋ยวตรงโน้นดับ ตรงนี้ดับ เกิดปัญหากับช่างไฟฟ้าไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรดี ข้อแนะนำขอให้มีการเผื่อเรื่องเครื่องปั่นไฟ

          กรณีของชำร่วยไม่พอ ควรมีการเผื่อของชำร่วยนอกเหนือจากแขกที่เชิญไว้ไม่น้อยว่า 100 ชิ้น จะเป็นการดี เผื่อเหลือไว้ก่อนอุ่นใจที่สุดค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Bridals Choice


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องควรรู้ก่อนที่จะจัดงานแต่งงาน อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2556 เวลา 16:42:37 1,806 อ่าน
TOP