รู้ซึ้งเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรส



รู้ซึ้งเรื่องสินส่วนตัว และสินสมรส
(i Do)

          ในระหว่างคบหาดูใจกัน ทั้งสองฝ่ายอาจไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือทรัพย์สินต่าง ๆ แต่เมื่อตกลงใจ ใช้ชีวิตคู่และจดทะเบียนสมรสแล้ว การทำความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทราบถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า นอกจากจะทำให้ชีวิตคู่ได้รับการวางแผนให้เหมาะสมแล้ว เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ต่างฝ่ายจะได้เจรจาร่วมกันได้อย่างลงตัว

สินส่วนตัว คือ

         ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

         ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะที่เป็นอยู่ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพของคู่ฝ่ายสมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

         ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างที่สมรสกันโดยการรับมรดก หรือโดยการให้ด้วยเสน่หา

         ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น

         การนำทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว ไปแลกเปลี่ยนได้เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หรือนำสินส่วนตัวไปซื้อทรัพย์สินอย่างอื่น หรือขายสินส่วนตัวได้เป็นเงิน หรือกรณีที่สินส่วนตัวได้ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือบางส่วน และเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาทดแทนในกรณีดังกล่าว สินส่วนตัวที่ได้แลกเปลี่ยน หรือซื้อเป็นทรัพย์สินอื่น หรือขายได้เป็นเงิน รวมทั้งเงินทดแทนหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้มาทดแทนนั้น ย่อมเป็นสินส่วนตัวด้วย

สินสมรส คือ

         ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาหรือหาเพิ่มเติม หลังการจดทะเบียนสมรส แม้สามี-ภรรยาจะแยกกันอยู่ โดยยังไม่ได้ทำการหย่าตามกฎหมาย หากแต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินอะไรมาทุกอย่างยังคงเป็นสินสมรส

         ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรส โดยทางพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ซึ่งระบุไว้ว่าให้เป็นสินสมรส

         ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล กำไรอันเกิดจากสินส่วนตัว หรือผลไม้จากต้นไม้ หรือลูกของสัตว์ซึ่งเป็นสินส่วนตัว

สามี-ภรรยากับสิทธิในสินสมรส

          การสมรสเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย สามี-ภรรยาจะมีความสัมพันธ์ในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส โดยสามี-ภรรยาเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกัน สามี-ภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีการจัดการสินสมรสที่สำคัญ ๆ เช่น

         ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

         ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

         ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป

  อย่างไรก็ตามสามี-ภรรยา สามารถแยกกันจัดการสินสมรสได้ 4 กรณี ดังนี้

          1. เมื่อคู่สมรสตกลงแยกกันจัดการสินสมรส โดยการทำสัญญาก่อนสมรสไว้ก่อน

          2. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ อีกฝ่ายมีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลแยกสินสมรสได้

          3. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย จะมีผลให้สินสมรสแยกกันตามกฎหมาย

          4. เมื่อมีการร้องขอต่อศาลให้แยกสินสมรส เพราะสาเหตุเช่น อีกฝ่ายทำความเสียหายแก่สินสมรส ไม่อุปการะ เลี้ยงดู เป็นหนี้สินมากมาย หรือขัดขวางการจัดการสินสมรสโดยไม่มีเหตุอันควรและเมื่อมีการแยกสินสมรสออกจากกันแล้ว สินสมรสส่วนที่แยกออกมาจะถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย รวมถึงทรัพย์สิน เช่น มรดกดอกผลที่ได้มาหลังการแยกสินสมรสด้วย

          รู้กฎหมายเรื่องทรัพย์สิน เงินทองไว้ล่วงหน้าก่อนแต่งงาน ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนครอบครัวได้เป็นอย่างดี




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ISSUE 61

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ซึ้งเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรส อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:16:01 20,989 อ่าน
TOP
x close