ความรู้เกี่ยวการยื่นขอวีซ่าสำหรับจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี กับชาวเยอรมัน
เพราะความรักในปัจจุบันนี้กลายเป็นรักไร้พรมแดนไปแล้ว หนุ่มสาวชาวไทยหลายคนก็ปลูกต้นรักกับชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีอีกหนึ่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการขอวีซ่าแต่งงานกับชาวเยอรมันมาฝากกัน ส่วนจะมีขั้นตอนและเอกสารที่ต้องเตรียมอย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยจ้า
สำหรับคู่แต่งงานที่ต้องการเดินทางไปจดทะเบียนสมรสนั้น จะต้องมีการทำวีซ่าเพื่อจดทะเบียนสมรสในประเทศเยอรมนี ซึ่งจากต้องเตรียมความพร้อมทั้งภาษาเยอรมันที่ต้องผ่านการสอบรับใบประกาศ A1 ที่ goethe หลังจากนั้นคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยจะต้องยื่นคำร้องขอวีซ่า เพื่อจุดประสงค์การจดทะเบียนสมรสต่อทางสถานทูตฯ เท่านั้น (ไม่ใช่วีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ถูกขับออกนอกประเทศได้)
โดยการยื่นคำร้องขอวีซ่าคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยจะต้องแสดงเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส ซึ่งเอกสารต้นฉบับภาษาไทยจะต้องผ่านการรับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือการรับรองไม่ปลอมแปลงจากสถานทูตฯ ด้วยการแปลเอกสาร ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเยอรมนี ส่วนในการยื่นขอจดทะเบียนสมรสต่อสำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี คู่สมรสทั้งสองฝ่ายจะต้องแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอจดทะเบียนสมรสที่เรียกว่า Anmeldung zur Eheschließung โดยสามารถขอรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี หรือที่สถานทูตฯ และแสดงเอกสารทั้งหมดของคู่สมรสต่อนายทะเบียนชาวเยอรมัน
ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยไม่สามารถแจ้งความประสงค์ได้ด้วยตนเอง เพราะยังพำนักอยู่ในประเทศไทย ก็สามารถมอบอำนาจให้คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันไปแจ้งความประสงค์แทนตนได้ โดยจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า Vollmacht zur Anmeldung der Eheschließung ซึ่งแบบฟอร์มนี้สามารถขอรับได้ที่สถานทูตฯ สำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี หรือจากเว็บไซต์ของสำนักทะเบียนเมืองเบอร์ลิน http://www.berlin.de/standesamt1/partnerschaft/ โดยสถานทูตฯ จะแนะนำให้สอบถามนายทะเบียนที่เกี่ยวข้องในประเทศเยอรมนีด้วยว่า นอกเหนือไปจากเอกสารที่ระบุไว้ในคำแนะนำฉบับนี้ นายทะเบียนชาวเยอรมันต้องการเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อจะได้จัดเตรียมเอกสารได้ทันเวลา ทั้งนี้ในกรณีของคู่แต่งงานที่ประสงค์จะไปจดทะเบียนเพื่อใช้ชีวิตคู่ร่วมกับบุคคลเพศเดียวกัน จะต้องสอบถามเอกสารที่จะต้องใช้แสดงต่อทางการเยอรมนีจากสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องโดยตรง
เอกสารที่ต้องใช้ในการขอวีซ่าแต่งงานประเทศเยอรมนี
เอกสารของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมัน ดังนี้*
1. หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชน
2. ใบรับรองถิ่นพำนักในประเทศเยอรมนี หรือใบแจ้งย้ายสำมะโนครัวออกจากประเทศเยอรมนี
3. สูติบัตร
4. คำพิพากษาหย่าที่มีตราประทับรับรองว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือมรณบัตรของคู่สมรสเดิม
เอกสารของคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทย ดังนี้*
1. หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชน
2. สูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิดที่มีรายละเอียดครบถ้วนเช่นเดียวกับสูติบัตร
3. สำเนาทะเบียนบ้านหรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ต้นฉบับหรือสำเนาที่รับรองความถูกต้องแล้ว)
4. คำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนครอบครัวจากสำนักทะเบียนกลาง ที่แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการสมรส-การหย่าด้วยระบบคอมพิวเตอร์
เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีสถานภาพโสด
1. หนังสือรับรองสถานภาพที่ระบุว่าเป็นบุคคลที่ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับผู้ใด (หนังสือรับรองสถานภาพออกโดยสำนักงานเขตหรืออำเภอที่ผู้ร้องแจ้งพำนักและต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ)
เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีสถานภาพหม้าย
1. หนังสือรับรองสถานภาพที่ระบุว่าหลังจากที่คู่สมรสเสียชีวิตแล้ว ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับผู้ใดอีก (หนังสือรับรองสถานภาพออกโดยสำนักงานเขตหรืออำเภอที่ผู้ร้องแจ้งพำนักและต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ)
2. ทะเบียนการสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) และ/หรือใบสำคัญการสมรส
3. มรณบัตรของคู่สมรส
เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีสถานภาพหย่า
1. หนังสือรับรองสถานภาพที่ระบุว่าหลังจากหย่าจากคู่สมรสเดิมแล้วยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับผู้ใดอีก (หนังสือรับรองสถานภาพออกโดยสำนักงานเขตหรืออำเภอที่ผู้ร้องแจ้งพำนักและต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ)
2. ทะเบียนการสมรส พร้อมบันทึก (คร. 2) กับคู่สมรสเดิม
3. ทะเบียนการหย่า พร้อมบันทึก (คร. 6) กับคู่สมรสเดิม
4. ใบสำคัญการหย่า (คร. 7)
5. คำพิพากษาของศาลเรื่องหย่าและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (เฉพาะผู้ร้องที่หย่าตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้น) ซึ่งในบางกรณีอาจต้องแสดงหนังสือรับรองการหย่าจากหน่วยงานยุติธรรมในประเทศเยอรมนี ว่าการหย่าของไทยเป็นที่ยอมรับของเยอรมันแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่หย่าโดยความสมัครใจ ณ สำนักทะเบียนเขตหรืออำเภอในประเทศไทย แบบฟอร์มคำร้องขอให้รับรองการหย่า ขอได้ที่สถานทูตฯ สำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี หรือจาก http://www.berlin.de/sen/justiz/struktur/a2_ausl_scheidg_hinw.html โดยข้อมูลเรื่องการรับรองการหย่านี้ ดูได้จากแผ่นคำแนะนำของสถานทูตฯ (เป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น ไม่มีภาษาไทย)
ทั้งนี้ สำหรับเอกสารของคู่สมรสสัญชาติไทย สามารถติดต่อขอได้จากสำนักทะเบียนในสังกัด สถานทูตฯ ไม่มีหน้าที่ช่วยจัดหาเอกสารให้ ในการยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนชาวเยอรมัน และจะต้องแนบเอกสารพร้อมคำแปลภาษาเยอรมันด้วยทั้งหมด และโดยปกติเอกสารต้นฉบับภาษาไทยจะต้องผ่านการรับรองความถูกต้อง (Legalisationsvermerk) หรือรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง (Echtheitsvermerk) จากสถานทูตฯ ก่อน ในการขอให้สถานทูตฯรับรองเอกสารทั้ง 2 แบบนี้ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงคำแปลต่อทางสถานทูตฯ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแสดงเอกสารต่อนายทะเบียนชาวเยอรมันและจะต้องแนบคำแปลภาษาเยอรมันไปด้วยเสมอ
* หมายเหตุ เอกสารที่ระบุไว้ในที่นี้ไม่อาจถือเป็นสิ้นสุดได้ ทั้งนี้ เพราะนายทะเบียนชาวเยอรมันมีสิทธิ์ที่จะเรียกเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีก และขอแนะนำให้ผู้ร้องสอบถามจากนายทะเบียนชาวเยอรมันโดยตรง เพื่อให้แน่ใจว่าเตรียมเอกสารได้ครบถ้วน
ขั้นตอนการยื่นเอกสาร
สำหรับการยื่นคำร้องขอวีซ่า คู่แต่งงานสัญชาติไทยจะต้องแสดงเอกสารและหลักฐานทั้งฉบับจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด ดังต่อไปนี้
1. หนังสือเดินทางฉบับจริงที่ยังมีอายุการใช้ พร้อมสำเนา 2 ชุด (เฉพาะหน้าที่มีข้อมูลส่วนบุคคล) บางกรณีต้องแสดงหนังสือเดินทางเล่มเก่าที่เคยมีมาแล้วด้วย
2. รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก 2 ใบ
ตัวอย่างรูปถ่าย
3. แบบฟอร์มขอวีซ่าประเภท National Visa ที่กรอกข้อความครบถ้วน 2 ฉบับ
4. ต้องตอบคำถามทุกข้อ โปรดแจ้งที่อยู่, อีเมล และโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ พร้อมลงลายเซ็นที่หน้า 4 ของคำร้องด้วย)
แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าสำหรับประเทศเยอรมนี
5. หลักฐานการแจ้งขอจดทะเบียนสมรสตามมาตราที่ 13 ย่อหน้า 4 ว่าด้วยกฎหมายครอบครัว/ใช้ชีวิตสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันต่อสำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี ตามมาตราที่ 17 กับ มาตราที่ 13 ย่อหน้า 4 ว่าด้วยกฎหมายครอบครัว
6. หลักฐานต้องมาจากสำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี โดยมีข้อความระบุชี้ชัดว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะขอจดทะเบียนสมรส/ใช้ชีวิตสมรสกับบุคคลเพศเดียวกัน หลักฐานดังกล่าวจะสามารถมีได้ เมื่อศาล Oberlandesgericht ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบเอกสารขอยื่นตรวจสอบคุณสมบัติจดทะเบียนสมรสนั้นเรียบร้อยแล้ว
7. หลักฐานแสดงความรู้ภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐาน (ได้แก่ ประกาศนียบัตรระดับ A1 ของสถาบันวัฒนธรรมเยอรมันหรือสถาบันเกอเธ่ ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี)
ทั้งนี้กรุณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักฐานความรู้ภาษาเยอรมันที่สถานทูตฯ กำหนด
ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานความรู้ภาษาเยอรมัน
การขอวีซ่าของผู้ร้องสถานภาพหย่า
กรณีคู่สมรสฝ่ายสัญชาติไทยเคยหย่าและเป็นการหย่าโดยความสมัครใจต่อหน้านายทะเบียนของไทย สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ยื่นขอให้รับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงด้วย เพราะจะต้องยื่นคำร้องเป็นพิเศษอีกฉบับต่อกระทรวงยุติธรรมในประเทศเยอรมนี ให้รับรองการหย่าของในประเทศไทยเสียก่อน นายทะเบียนของเยอรมันจึงจะพิจารณาเอกสารอื่น ๆ และออกหนังสือสำคัญให้ทำการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ สามารถขอรับแบบฟอร์มคำร้องเรื่องรับรองการหย่าได้ที่สถานทูตฯ สำนักทะเบียนประเทศเยอรมนี หรือจากเว็บไซต์ http://www.berlin.de/sen/justiz/struktur/a2_ausl_scheidg_hinw.html
กรณีที่คู่สมรสฝ่ายสัญชาติเยอรมันเคยจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายของต่างประเทศ ต้องยื่นคำร้องต่อทางเยอรมันเช่นกัน เอกสารที่ต้องแนบไปพร้อมแบบฟอร์มคำร้อง ได้แก่ คำพิพากษาหย่า, ทะเบียนการสมรส, ทะเบียนการหย่าและใบสำคัญการหย่าพร้อมคำแปลภาษาเยอรมัน ซึ่งเมื่อการหย่าเป็นที่ยอมรับของทางการเยอรมันแล้ว นายทะเบียนจึงจะออกหนังสือสำคัญ Ehefähigkeitszeugnis ที่แสดงว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้ให้แก่คู่แต่งงาน
การแปลเอกสาร
การแปลเอกสารไทยเป็นภาษาเยอรมันจะดำเนินการแปลในประเทศไทยหรือประเทศเยอรมนีก็ได้ สำนักงานแปลในประเทศไทย แต่ทั้งนี้สถานทูตฯ ขอแนะนำให้ใช้บริการแปลจากล่ามหรือผู้แปลคนเดียว เพื่อที่การสะกดชื่อเฉพาะต่าง ๆ ในเอกสารจะได้ถูกต้องตรงกันทุกฉบับ เพราะล่ามแต่ละคนก็มีวิธีการถ่ายทอดภาษาไทยเป็นตัวสะกดภาษาเยอรมันที่แตกต่างกันออกไป เพื่อไม่ให้หน่วยราชการเยอรมันเกิดความสับสน
การรับรองความถูกต้องของเอกสาร และการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง
สำหรับการรับรองความถูกต้องของเอกสารนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เอกสารของเป็นที่ยอมรับของทางการเยอรมัน โดยนายทะเบียนของเยอรมันจะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่าเอกสารของนั้นจำเป็นต้องผ่านการรับรองความถูกต้อง หรือรับรองไม่ปลอมแปลงโดยสถานทูตเยอรมันหรือไม่
กรณีที่ต้องรับรองสามารถยื่นคำร้องด้วยวาจาได้โดยตรงที่สถานทูตฯ หรือจะยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ถ้าผู้ร้องไม่สามารถมายื่นคำร้องได้ด้วยตนเอง สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ ทั้งนี้ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของเอกสารมาแสดงด้วย ส่วนการยื่นคำร้องให้รับรองความถูกต้องของเอกสาร หรือรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงจะต้องยื่นเอกสารต้นฉบับภาษาไทย (ตัวจริง) พร้อมสำเนาอย่างละ 2 ชุด (การยื่นขอให้รับรองทั้ง 2 แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องยื่นคำแปลต่อสถานทูตฯ การรับรองความถูกต้องของเอกสาร สถานทูตฯจะทำการตรวจสอบโดยเปรียบเทียบตัวอย่างลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจลงนาม เมื่อถูกต้องก็จะทำการประทับตรารับรองให้ส่วนเอกสารที่สถานทูตฯ ไม่มีตัวอย่างลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ สถานทูตฯ ก็จะดำเนินการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง โดยส่งสำเนาเอกสารไปยังหน่วยราชการนั้น ๆ เพื่อขอให้ตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นเอกสารไม่ปลอมแปลงจริง ทั้งนี้ จะใช้เวลาดำเนินการราว 6-8 สัปดาห์ ในบางกรณีอาจใช้เวลานานกว่านี้ เพราะต้องตรวจสอบเอกสารกับหน่วยราชการของไทย ระยะเวลาดำเนินการจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยราชการไทยด้วยเช่นกัน เมื่อดำเนินการรับรองเสร็จสถานทูตฯ จะแจ้งให้ผู้ร้องทราบเพื่อมารับเอกสารคืน หรือถ้าประสงค์จะให้ส่งไปยังหน่วยราชการที่คู่หมั้นในประเทศเยอรมนีก็สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ร้องต้องแจ้งความประสงค์ให้ชัดเจนในขณะที่ส่งมอบเอกสาร เพราะจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการจัดส่งด้วย
กรณียื่นคำร้องโดยตรงที่สถานทูตฯ ผู้ร้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในวันที่ยื่นคำร้อง กรณีที่ผู้ร้องประสงค์ จะให้ส่งเอกสารไปประเทศเยอรมนีและเก็บเงินค่าธรรมเนียมปลายทาง ผู้รับปลายทางจะต้องมีหนังสือยืนยันต่อสถานทูตว่าจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียมทั้งหมดก่อน (Kostenübernahmeerklärung) และเมื่อดำเนินการรับรองเอกสารเรียบร้อยแล้ว สถานทูตฯ ก็จะจัดการส่งเอกสารพร้อมใบแจ้งหนี้ไปยังที่อยู่ของผู้รับปลายทาง (แบบฟอร์มรับรองการชำระค่าธรรมเนียมขอรับได้ที่สถานทูตฯ หรือจะเขียนคำรับรองเองก็ได้เช่นกัน) นอกเหนือจากค่าธรรมเนียม (ปัจจุบันฉบับละ 25-45 เหรียญยูโร โดยให้ชำระเป็นเงินสกุลบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน) สถานทูตฯ จำเป็นต้องเรียกเก็บค่าโทรศัพท์ดำเนินการรายละ 100 บาท (2 เหรียญยูโร) สำหรับการติดต่อกับหน่วยราชการไทยด้วย สำหรับการจัดส่งเอกสารไปยังผู้รับปลายทางในประเทศเยอรมนี ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 200 บาท (5 เหรียญยูโร) สำหรับการจัดส่งภายในประเทศไทย สามารถติดต่อ "บริษัทไปรษณีย์ไทย" ซึ่งมีตัวแทนให้บริการอยู่ที่ห้องรับแขกแผนกกงสุลในสถานทูตฯ รายละเอียดเรื่องนี้ดูได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตฯ
อัตราค่าธรรมเนียม
การรับรองความถูกต้องของเอกสารแสดงสถานภาพบุคคลฉบับละ 25 เหรียญยูโร
การรับรองความถูกต้องของเอกสารทั่วไป (กรณีไม่มีตัวอย่างลายเซ็น) ฉบับละ 45 เหรียญยูโร
การรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลงฉบับละ 30 เหรียญยูโร
การออกหนังสือรับรองเพื่อการสมรสในไทย แบบข้อ 1 และข้อ 2 ฉบับละ 80 เหรียญยูโร
หมายเหตุ : ซึ่งทั้งหมดจะคิดเทียบเป็นเงินสกุลบาทเท่านั้น
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
bangkok.diplo.de, goethe.de