จดทะเบียนหย่า จะหย่าร้างต้องทำอย่างไร รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน

          จดทะเบียนหย่า ต้องทำอย่างไร หากไม่รู้เรื่องกฎหมาย จะต้องเริ่มต้นที่ตรงไหน อ่านเข้าใจง่าย ๆ ได้ที่นี่... เมื่อมีรักมีจดทะเบียนสมรส เมื่อเลิกรักก็ต้องมีจดทะเบียนหย่า ใครกำลังมีปัญหาเหล่านี้ เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก 

          ยามรักกันน้ำต้มผักก็ว่าหวาน กว่าจะผ่านด่านพ่อตาแม่ยายมาได้ จนกระทั่งแต่งงาน จดทะเบียนสมรสกัน สิ่งเหล่านี้ว่ายากแล้ว แต่การหย่าร้างกันนั้นยากยิ่งกว่า วันดีคืนดีเกิดโป๊ะแตกจับได้ว่าคู่ของเราแอบมีกิ๊กขึ้นมา มีชู้จนชาวบ้านรู้กันทั่ว ลูกก็ทิ้งให้เราเลี้ยง เงินทองก็ไม่เคยมาส่งเสียเหลียวแล เมื่อคิดจะหย่าร้าง อยากจะให้อดทนนึกถึงตอนรักกันและพูดคุยกันดี ๆ ก่อน แต่ถ้าไม่ไหวจะเคลียร์แล้วจริง ๆ จะทำอย่างไรดี มาอ่านข้อมูลตรงนี้ไว้เป็นความรู้กัน

จดทะเบียนหย่า
 
 

การหย่าร้าง


ตามกฎหมายของไทย การหย่านั้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

1. การหย่าโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย

 


          ต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อ มีพยาน 2 คน และนัดกันนำหนังสือหย่าดังกล่าวไปจดทะเบียนหย่า ที่สำนักทะเบียน สำนักงานเขต/อำเภอ พร้อมพยาน 2 คน เพราะกฎหมายกำหนดว่าเมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว (ปพพ. มาตรา 1515)

2. การฟ้องหย่า


          ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้หย่า ในเมื่อพยายามหาทางพบปะพูดคุยกันหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เราก็ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยสามารถติดต่อทนายความเพื่อขอคำแนะนำ จากนั้นทนายจะส่งหนังสือบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งมาหย่าภายในระยะเวลากำหนด หากอีกฝ่ายไม่มาหย่า ต้องทำสำนวนส่งฟ้องศาลต่อไป

สาเหตุที่เราจะนำมาฟ้องหย่าได้นั้นอยู่ในมาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

          (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (และสามารถเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้อีกด้วย ตามมาตรา 1523)

          (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

                    - ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

                    - ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

                    -  ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรงอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

                    - สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนผิดหรือรู้เห็นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

                    - สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

จดทะเบียนหย่า

          (5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

           (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี ถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (10) สามีหรือภริยามีสภาพไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

เอกสารการหย่า


เอกสารที่ใช้เพื่อการจดทะเบียนหย่า ได้แก่

          - บัตรประจำตัวประชาชน

          - ทะเบียนบ้านทั้ง 2 ฝ่าย

          - ใบเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล (ถ้ามี)

          - ใบสำคัญการสมรส

          - หนังสือหย่าหรือหนังสือสัญญาหย่า

          - พยานบุคคลจำนวน 2 คน อายุ 20 ปีขึ้นไป พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน

จดทะเบียนหย่า

ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่า


การจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอม มีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ดังนี้

1. การรับเรื่อง


          คู่หย่าตกลงเรื่องทรัพย์สิน การปกครองบุตร (ถ้ามี) โดยทำเป็นหนังสือหย่าแล้วยื่นคำร้อง พร้อมหนังสือหย่าต่อนายทะเบียน

2. ตรวจสอบหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง


          - บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้สำหรับบุคคลซึ่งไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

          - สำเนาทะเบียนบ้าน

          - ใบสำคัญการสมรส หรือสำเนาทะเบียนสมรส

          - หนังสือหย่าหรือข้อตกลงการหย่า ที่มีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน

          - พยานอย่างน้อย 2 คน

3. ตรวจสอบคุณสมบัติ


          คู่หย่าแสดงความยินยอมที่จะจดทะเบียนหย่า

4. ผู้มีอำนาจในการจดทะเบียน

 


          ต้องมีนายทะเบียน (นายทะเบียน/ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต หรือผู้รักษาราชการแทน) เป็นผู้จดทะเบียนให้

จดทะเบียนหย่า

5. ชี้แจงผลการจดทะเบียนหย่า


          นายทะเบียนชี้แจงผลของการจดทะเบียนการหย่าให้ผู้ร้องทราบ

6. การลงรายการให้ทะเบียน


          - ลงรายการด้วยวิธีการพิมพ์ข้อความลงในทะเบียนหย่า และใบสำคัญการหย่า หากผู้ร้องทั้ง 2 ฝ่ายประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน อำนาจปกครองบุตร หรือเรื่องอื่น นายทะเบียนจะพิมพ์รายละเอียดนั้นไว้ในช่องบันทึก

          - เมื่อพิมพ์ข้อความลงในทะเบียนหย่าแล้ว หากมีข้อผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ทันทีก่อนการสั่งพิมพ์

          - กรณีไม่มีการแก้ไขและได้สั่งพิมพ์แล้วจะไม่สามารถเรียกกลับมาแก้ไขได้อีก และเพื่อป้องกันการแก้ไขหรือลบข้อมูลโดยมิชอบ ให้สั่งพิมพ์ใบทะเบียนการหย่าและใบสำคัญการหย่า เพื่อให้ผู้ร้องและพยานลงลายมือชื่อ แล้วมอบให้คู่หย่าฝ่ายละ 1 ฉบับ

7. นายทะเบียนเก็บรักษาทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน


          นายทะเบียนจะเก็บรักษาทะเบียนไว้เป็นหลักฐานตลอดไป โดยการจัดเก็บเข้าแฟ้มเรียงลำดับตามเลขทะเบียน โดยมิให้ทำลายเพราะเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมาย ซึ่งใช้รับรองสิทธิต่าง ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

8. กรณีเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าหรือระบบการสื่อสารขัดข้อง


          ให้ถือปฏิบัติตามระบบเดิม คือ การบันทึกข้อความต่าง ๆ โดยการเขียนด้วยมือลงในคำร้อง และทะเบียนการหย่า แต่ต้องนำมาจัดเก็บข้อมูลการจดทะเบียนหย่าดังกล่าวไว้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์อีกครั้งหนึ่ง

จดทะเบียนหย่า

ข้อควรรู้


          - กรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คู่หย่าไม่ต้องจดทะเบียนหย่าอีก

          - เหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516 ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยินยอม รู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น หรือเหตุนั้นเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

          - ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

          จดทะเบียนหย่า ขอให้เป็นขั้นตอนสุดท้ายในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ ชีวิตคู่เดินมาถึงทางตันแล้วจริง ๆ แต่หากยังพอมีความรักความผูกพัน ลองหันหน้าปรับตัวเข้าหากันอีกสักครั้ง แม้จะแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่ก็อาจทำให้ปัจจุบันและอนาคตดีขึ้นได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักบริหารการทะเบียน, webportal.bangkok.go.th, info.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จดทะเบียนหย่า จะหย่าร้างต้องทำอย่างไร รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน อัปเดตล่าสุด 4 มีนาคม 2567 เวลา 14:28:06 498,948 อ่าน
TOP
x close