เก็บเงินแต่งงานยังไง ให้ได้จัดงานแต่งงานแบบอยู่ในงบพอดี และไม่เดือดร้อนกับการใช้ชีวิต มาดูวิธีการ วางแผนเก็บเงินแต่งงานกันดีกว่า
เมื่อความรักสุกงอม คู่รักทั้งหลายก็คงกำลังวางแผนแต่งงานกันอยู่ ซึ่งการเตรียมตัวเพื่อจะแต่งงานนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง หนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญมาก ๆ คือเรื่องเงิน ไหนจะค่าจัดงาน ค่าชุดแต่งงาน ค่าสินสอด ทั้งหมดก็เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นคู่รักจึงควรวางแผนเก็บเงินแต่งงานให้ดี ว่าแต่จะเก็บเงินแต่งงานยังไงให้บรรลุเป้าหมาย และไม่เบียดเบียนการใช้ชีวิต กระปุกดอทคอมมีวิธีเก็บเงินแต่งงานมาฝากกัน
เก็บเงินแต่งงานยังไง
การจะเก็บเงินแต่งงานในยุคนี้นั้น ควรเป็นหน้าที่ของทั้งว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่จะช่วยกันเก็บหอมรอมริบ เพื่อจัดงานในฝันครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ควรเป็นภาระของฝ่ายชายเพียงผู้เดียว (เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายชายมีความพร้อมทางฐานะสูง) เนื่องจากการตกลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันควรร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเผชิญปัญหากันเสียตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ที่สำคัญคือการเก็บเงินจากทั้ง 2 ทางย่อมดีกว่าทางเดียวอย่างแน่นอน เมื่อตกลงกันได้แล้ว เรามาดูกันดีกว่า ว่าวิธีเก็บเงินแต่งงานควรทำยังไง
1. คำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ทั้งหมด
โดยค่าใช้จ่ายสำหรับงานแต่งงานควรแบ่งเป็น 2 ก้อนใหญ่ ๆ และเก็บแยกบัญชีกันไว้ นั่นคือ
-
ค่าสินสอด - เริ่มจากตกลงกับทางผู้ใหญ่ให้เรียบร้อยว่าต้องการเท่าไร และไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้คืนกลับมาทำทุน เพราะแต่ละบ้านย่อมไม่เหมือนกัน ควรแยกเป็นสัดส่วนเอาไว้ ไม่นำมาปะปนกับงบการจัดงานแต่ง
-
งบประมาณการจัดงานแต่ง - เงินในส่วนนี้ควรคำนวณครอบคลุมทั้งค่าชุดบ่าวสาว แหวน ช่างแต่งหน้า ออร์แกไนเซอร์ ค่าสถานที่ ค่าอาหาร หมอดูฤกษ์ยาม เพื่อที่จะได้สามารถเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้หากต้องการมีทริปฮันนีมูน ก็ควรเก็บเงินเอาไว้ต่างหากอีกก้อนหนึ่ง เพื่อไม่ไปเบียดเบียนค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวัน
2. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในงานแต่งงานออกไป
จริงอยู่ที่งานแต่งงานมักเป็นสิ่งที่หลายคนฝันถึงและอยากให้ออกมาอย่างที่วาดหวังไว้ทั้งหมด แต่งบประมาณบางอย่างอาจจะแพงเกินไป หากตัดได้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีกเยอะ เช่น แทนที่จะจ้างดนตรีสด ก็เลือกเปิดเพลงแทน หรือเปลี่ยนสถานที่จัดงานจากโรงแรมเป็นร้านอาหารแทน หรือแม้แต่ปรับแบบชุดเจ้าสาวให้ดูเรียบง่ายขึ้นก็อาจจะลดราคาไปได้อีกเยอะ ซึ่งควรตกลงกันก่อน แล้วตีตัวเลขออกมาจากนั้นจึงตั้งใจเก็บเงินให้ได้มากกว่าจำนวนที่คำนวณเรียบร้อยแล้วเล็กน้อย เผื่อขาดเผื่อเหลือ
3. เปิดบัญชีใหม่สำหรับเก็บเงินแต่งงานโดยเฉพาะ
ควรเป็นบัญชีที่เปิดร่วมกันของว่าที่บ่าวสาว และแยกออกจากบัญชีส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้นำเงินที่หามาได้ หรือตั้งใจเก็บไว้จัดงานแต่งงาน มาออมลงในบัญชีนี้ วิธีนี้จะเป็นการทำให้ทั้งคู่เห็นความก้าวหน้าของเงินที่ช่วยกันเก็บหอมรอมริบ มีกำลังใจมากขึ้นเมื่อเห็นจำนวนเงินเข้าใกล้เป้าหมาย
4. เก็บเงินประมาณ 10-20% ของเงินเดือน ก่อนนำไปใช้
คู่รักต้องตกลงกันก่อนว่า จะนำเงินเดือนประมาณ 10-20% มาเก็บลงในบัญชีที่เปิดร่วมกันนี้ เพื่อให้มียอดเงินเพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือน และเป็นการกันเงินออมออกจากค่าใช้จ่ายปกติได้อย่างเห็นผล ซึ่งถือเป็นตัวช่วยที่ดีในการแบ่งเบาภาระอย่างเท่าเทียมกัน
5. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายร่วมกัน
แนะนำให้ทั้งคู่มานั่งคำนวณบัญชีรายรับ-รายจ่ายร่วมกัน เพื่อให้เห็นว่ามีรายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดออกไปได้บ้าง เช่น ค่าช้อปปิ้งฟุ่มเฟือย ค่าสังสรรค์ ค่าเหล้า ค่าหวย ค่าบุหรี่ หรือค่ากินอาหารนอกบ้านบ่อย ๆ ลองมาดูว่าสามารถลด ละ เลิกส่วนไหนได้บ้าง เพราะถ้าลดค่าใช้จ่ายบางอย่างได้ ก็เท่ากับว่าจะมีเงินเก็บมากยิ่งขึ้น
6. กำหนดวันแต่งงานแบบที่ไม่กดดันจนเกินไป
ปัจจุบันเงินหายาก การเก็บหอมรอมริบก็ยากไปด้วย แต่หากคู่รักอยากแต่งงานก็ต้องมีเป้าหมาย ลองกำหนดวันแต่งงานกันดูว่าอีก 2 ปีหรือ 3 ปี เราจะสามารถเก็บเงินได้ไหวหรือไม่ เช่น หากเก็บเงินรวมกันได้เดือนละ 1 หมื่นบาท 1 ปีก็จะได้เงิน 120,000 บาท หากเก็บได้เท่านี้ประมาณ 3 ปี เราจะสามารถจัดงานแต่งงานได้ตามวันที่เราต้องการหรือเปล่า
7. หารายได้เสริม
สำหรับบางคู่ การเก็บเงินจากเงินเดือนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นการหารายได้เสริมอาจเป็นทางเลือกที่ดี เช่น ขายของออนไลน์ ขายของตลาดนัด เป็นติวเตอร์ ทำขนมขาย ฯลฯ ซึ่งเงินที่ได้หลังจากหักต้นทุนแล้วควรนำไปไว้ในบัญชีเพื่อการแต่งงานโดยเฉพาะ เผลอ ๆ อาจจะเก็บเงินถึงเป้าหมายเร็วกว่าที่คิดด้วย
8. ลงทุนกับกองทุนต่าง ๆ
หากคู่รักอยากให้เงินออมงอกเงย ลองเลือกลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม RMF SSF หุ้น พันธบัตรต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้มีเงินออมสะสมได้เร็วขึ้น อีกทั้งกองทุนบางประเภทยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย ถือเป็นการวางแผนการเงินระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า แต่ควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน พร้อมกับประเมินความเสี่ยงและสภาพคล่องทางการเงินไว้ล่วงหน้าด้วย
9. วางแผนจ้าง Wedding Planner
อย่าคิดว่าจัดงานแต่งงานเองแล้วจะประหยัด เพราะมันมักจะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บานปลายมาโดยที่ไม่รู้ตัว การจ้าง Wedding Planner จะเป็นการช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีที่สุด เพราะเราสามารถกำหนดงบประมาณที่เราจ่ายไหว และเขาจะสามารถจัดการทุกอย่างให้อยู่ในงบได้โดยที่คู่รักไม่ต้องเหนื่อยหรือมานั่งปวดหัว
ทั้ง 9 วิธีนี้เป็นวิธีการเก็บเงินแต่งงานที่ได้ผล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือบ่าวสาวต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจะเดินร่วมทางกัน เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งไม่ใส่ใจและไม่พยายามช่วยกันเพื่อให้งานแต่งงานเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็อาจไม่สำเร็จก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : investopedia.com, scb.co.th, masii.co.th, fwd.co.th