กฎหมายสมรสเท่าเทียม เปิดรายละเอียดกฎหมายที่ให้สิทธิคู่รัก LGBTQIAN+ โดยสมบูรณ์

          กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในที่สุดร่างกฎหมายที่รอคอยกันมานานก็ผ่านมติ สว. และเตรียมบังคับใช้เสียที มาดูรายละเอียดกฎหมายที่ให้สิทธิคู่รัก LGBTQIAN+ รับสวัสดิการในฐานะคู่สมรส
กฎหมายสมรสเท่าเทียม

          ในที่สุดกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ผ่านมติวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่เหล่า LGBTQIAN+ เรียกร้องกันมานาน และต่อจากนี้กฎหมายฉบับนี้จะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ และมีผลบังคับใช้จริง 120 วัน หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคู่รักในสังคมที่เปิดกว้างแบบนี้ กระปุกดอทคอมจึงขอนำรายละเอียดกฎหมายฉบับนี้มาให้ดูกันว่ากฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

ข้อกฎหมายสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

          ร่าง พ.ร.บ. กฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้คนไทยทุกคน ทุกกลุ่มความหลากหลาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับแก้ไขล่าสุดนี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 หมวด 68 มาตรา ซึ่งมีข้อกฎหมายสำคัญหลัก ๆ ดังนี้

การหมั้น - สมรส จะทำได้เมื่ออายุ 18 ปี

  • การหมั้น - จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว และการหมั้นจะสมบูรณ์ได้เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น สำหรับ สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายผู้หมั้นให้แก่บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายผู้รับหมั้น แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส
  • การสมรส - จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้วเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ เว้นแต่การสมรสกับบุคคลวิกลจริต คนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี และบุคคลที่ทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่

ทรัพย์สินคู่สมรสบอกล้างได้ตั้งแต่อยู่ร่วมกันถึง 1 ปี นับแต่หย่า

          สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่คู่สมรสได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นคู่สมรสกันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นคู่สมรสกันอยู่ หรือภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นคู่สมรสกันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต โดยทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส
          โดยคู่สมรสต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

          1. ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

          2. ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

          3. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี

          4. ให้กู้ยืมเงิน

          5. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

          6. ประนีประนอมยอมความ

          7. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

          8. นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

          ทั้งนี้ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว แล้วทำให้เกิดความเสียหายดังต่อไปนี้
  • จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
  • ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
  • มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
  • ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
          โดยส่งผลให้อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้
กฎหมายสมรสเท่าเทียม

หนี้สินคู่สมรส ให้รวมที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อระหว่างเป็นคู่ชีวิต

          หนี้ที่คู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้รวมถึงหนี้ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้

          1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

          2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

          3. หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งคู่สมรสทำด้วยกัน

          4. หนี้ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

          แต่ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมาย นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

เหตุให้ฟ้องหย่าของคู่สมรส

          เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ได้เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนหย่า โดยเหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

          1. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่สมรส เป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือกระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          2. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติชั่ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นคู่สมรสของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสมาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          3. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำร้าย หรือทรมานร่างกาย จิตใจ หมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          4. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

  • (4/1) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นคู่สมรสกันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
  • (4/2) คู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          5. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          6. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นคู่สมรสอย่างร้ายแรง โดยการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสมาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          7. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          8. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          9. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          10. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณี หรือไม่อาจกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

คู่สมรสมีสิทธิเรียกค่าทดแทนเมื่ออีกฝ่ายมีชู้

          คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้ หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้ก็ได้ เว้นแต่กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณี หรือไม่อาจกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายได้ตลอดกาล จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

          จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้สิทธิคู่รัก LGBTQIAN+ เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศทุกประการ ซึ่งในกฎหมายสมรสปกติจะใช้คำว่า “สามี-ภรรยา” แต่ในกฎหมายฉบับนี้จะใช้คำว่า “คู่สมรส” แทน ทำให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในทุกเพศ จากนี้ก็เหลือเพียงแต่รอทูลเกล้าฯ เพื่อลงราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : รัฐสภา, pptvhd36.com, bbc.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฎหมายสมรสเท่าเทียม เปิดรายละเอียดกฎหมายที่ให้สิทธิคู่รัก LGBTQIAN+ โดยสมบูรณ์ อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2567 เวลา 17:49:00 35,801 อ่าน
TOP
x close