
เรื่อง : Tong
พิธีแต่งงานแบบล้านนาแท้ ๆ ความงดงามแห่งขนบประเพณี และวิถีชีวิตพื้นเมืองภาคเหนือที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ ครั้งนี้ ประเพณีสำคัญได้ถูกจัดเตรียมขึ้นอีกครั้ง ณ โรงแรมศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดเชียงใหม่ แสดงถึงศักยภาพความพร้อม ของการเป็นสถานที่จัดพิธีแต่งงานแบบล้านนาที่ครบครัน ถูกต้อง และสวยงามตามประเพณี
สถานที่จัดงาน ณ โรงแรมศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา เป็นรีสอร์ทระดับ 5 ดาว ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เพียง 5 นาที จากไนท์ บาซาร์ และสถานีรถไฟ หรือ 10 นาที จากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจจากความงามของเวียงกุมกาม รอบพื้นที่ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิด จำนวนถึง 20,000 ต้น บริเวณรีสอร์ทมีทุ่งข้าวปันนา นาปลูกข้าวที่เป็นนาออร์แกนิค ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมบริการอันอบอุ่นในรูปแบบลักชูรี่ล้านนาให้บริการห้องพัก สปา ห้องอาหาร และบริการด้านจัดเลี้ยงรวมถึงการจัดงานแต่งงาน
การสาธิตพิธีแต่งงานแบบล้านนา จัดขึ้นบริเวณ "เฮือนศิลป์สล่า" ภายในรีสอร์ท เรือนไม้แบบล้านนาโบราณตกแต่งดอกไม้สีหวาน เพื่อเพิ่มบรรยากาศงานแต่งงาน รอบบริเวณตกแต่งเติมบรรยากาศแบบภาคเหนือด้วยตุงและโคมล้านนา ด้านหน้าเรือนเป็นสนามหญ้า ซึ่งจัดแบ่งเป็นราชวัตร มีรั้วรอบขอบกั้นด้วยระแนงไม้ไผ่ ดูเรียบง่าย เข้ากับบรรยากาศ ตรงทางเข้าราชวัตรตกแต่งด้วยงานสานใบมะพร้าวฝีมือสร้างสรรค์ของสล่าเมือง ที่นำใบมะพร้าวมารัดร้อยเป็นลวดลายสวยงาม จัดทำเป็นทรงโค้งสลับไขว้ บางมุมสานเป็นช่อ มีลักษณะคล้ายแจกันเล็ก ๆ มีช่องสำหรับตกแต่งดอกไม้ ดูอ่อนหวานสวยงาม บางมุมปักด้วยธงเล็ก ๆ แบบล้านนาหลายอัน
ก่อนเข้าสู่พิธีแต่งงาน บริเวณด้านข้างทุ่งข้าวปันนาจัดเป็นพรี-ค๊อกเทล ต้อนรับในรูปแบบตลาดล้านนาโบราณที่เรียกว่า "กาดหมั้ว" ที่ขายของหลากหลาย แต่ละร้านจัดเมนูอาหารทานเล่นแบบโบราณ อาทิ ขนมครก หมี่พันลับแลแบบดั้งเดิม ไข่ปิ้ง เมี่ยงคำ เสิร์ฟในกระทงใบตอง น้ำตาลปั้นเสียบไม้คล้ายลูกอมแบบโบราณ และน้ำสมุนไพร พร้อมการแสดงฟ้อนนกกิงกะหล่า การแสดงร่ายรำ ซึ่งหมายถึงการเชื้อเชิญ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนพิธีการแต่งงาน เริ่มตั้งแต่การแห่ขบวนขันหมาก การกั้นประตูเงินประตูทอง ไปจนถึงพิธีผูกข้อมือ การจัดเลี้ยงรับรองขันโตก และการปล่อยโคมลอย ที่แสดงถึงความงดงามของประเพณีไทยล้านนา

การแห่ขันหมาก
ขบวนแห่ขันหมากแบบล้านนาดั้งเดิมของฝ่ายเจ้าบ่าว ประกอบไปด้วยวงปี่กลอง หญิงสาวฟ้อนรำนำขบวน ร่วมด้วยบรรดาเพื่อน ๆ และญาติของเจ้าบ่าว ขบวนแห่ดูมีชีวิตชีวาสนุกสนานตลอดทางไปยังบ้านของเจ้าสาว โดยมีผู้ปกครองของเจ้าบ่าวเดินนำ แห่พานใส่ดอกไม้มงคล หรือ "ขันอัญเชิญ" ตามด้วยพานใส่ขันหมากหรือ "ขันหมากเอก" พร้อมกับพานใส่ของกำนัลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือ "ขันหมากรอง" ซึ่งทำมาจากหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบนาค มีถุงข้าวเปลือกและข้าวสาร ถุงถั่วงา บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเป็นคนถือชั้นใส่เสื้อผ้า ถุง และดาบ สิ่งของเหล่านี้แสดงถึงฐานะและยศถาบรรดาศักดิ์ของฝ่ายชาย ในขบวนยังมีกล้วย มะพร้าว อ้อย ขนมหวาน และผลไม้ต่าง ๆ
การกั้นประตูเงินประตูทอง
หน้าประตูบ้านของฝ่ายเจ้าสาวจะมีผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวยืนรอรับขบวนขันหมาก เมื่อขบวนขันหมากมาถึงจะมีการต่อรองระหว่างสองครอบครัวซึ่งเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน ถือเป็นประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องตกลงที่จะจ่าย "ค่าผ่านประตู" ก่อนที่จะเจอหน้าเจ้าสาวที่เก็บตัวอยู่ในห้อง เจ้าบ่าวจะต้องเดินผ่านประตูเงินประตูทอง ที่มีบรรดาญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ของฝ่ายเจ้าสาวยืนขวางประตูทางเข้าไว้ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมซองใส่เงินเป็นค่าผ่านประตูก่อนจะได้พบเจอเจ้าสาว

บายศรีสู่ขวัญ
ที่ด้านหน้าห้องพิธีบายศรีสู่ขวัญจะมีนางรำหรือช่างฟ้อนรอต้อนรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เพื่อทำการฟ้อนอวยพร เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องพิธี โดยมีผู้หญิงช่วยล้างเท้าของทั้งคู่ด้วยน้ำดอกไม้หอม เมื่อทั้งสองเข้ามาด้านใน ผู้ประกอบพิธีจะกล่าวอวยพรให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ด้วยการทำพิธีหลักคือ บายศรีสู่ขวัญ ตามความเชื่อของชาวล้านนาที่ว่า ดวงจิตของคนเรามีทั้งหมด 32 ดวงที่คอยปกปักรักษา เมื่อเจ้าตัวรู้สึกเหนื่อย ป่วย เศร้าโศก หรือจำเป็นต้องเดินทางไกล เชื่อว่าดวงจิตได้หายไปจากร่างกายหนึ่งดวงหรือมากกว่านั้น จึงต้องมีพิธีเรียกให้ดวงจิตนั้นกลับมาสู่ร่างกาย โดยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีจะทำให้บุคคลผู้นั้นเข้มแข็ง พร้อมนำพาโชคลาภ และสุขภาพที่ดี

การผูกข้อมือและพิธีสืบชะตา
ถือเป็นพิธีสำคัญของพิธีวิวาห์ พิธีการผูกข้อมือเป็นการมอบพรให้แก่คู่บ่าว-สาว โดยทั้งเจ้าบ่าว-เจ้าสาวจะตกลง "ผูกชีวิตเข้าด้วยกัน" ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มต้นพิธีด้วยการหลั่งน้ำสังข์ลงบนมือของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เพื่อให้เกิดโชคลาภ จากนั้นผู้ประกอบพิธีรวมถึงบรรดาญาติ ๆ จะทำการผูกข้อมือ และให้พรแก่ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มีชีวิตคู่ที่มีความสุขตลอดไป
จากนั้นจะทำพิธีสืบชะตา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตคู่ ในการประกอบพิธีจะมีเสาไม้ 3 ต้นค้ำกันไว้เพื่อให้ทั้งคู่ช่วยเหลือค้ำจุนกันไปตลอดชีวิต คู่บ่าว-สาวจะนั่งอยู่ใต้เสา 3 ต้น และนำสายสิญจน์ที่ผูกเสาทั้ง 3 มาสวมบนศีรษะของคู่บ่าว-สาว และรับพรจากผู้ชำนาญในการประกอบพิธี
จัดเลี้ยงรับรองขันโตก
ปิดท้ายพิธีการทั้งหลาย ด้วยงานเลี้ยงขันโตกดินเนอร์ จัดเสิร์ฟอาหารพื้นเมืองแบบล้านนา เริ่มตั้งแต่ออเดิร์ฟเมือง ที่ประกอบไปด้วยไส้อั่ว หมูยอ แหนมหั่นชิ้นเล็กพอดีคำ แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง แนมด้วยผักสดนานาชนิด พร้อมแกงฮังเล ที่ทำจากหมูสามชั้นผัดจนหอมเครื่องเทศและขิงสด แกงโฮะ ที่ภาษาพื้นเมืองหมายถึงแกงหลาย ๆ อย่างนำมารวมกัน ผัดผักรวมกุ้งสด และไก่ทอด เติมความประทับใจด้วยการปล่อยโคมลอยที่ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่
พิธีมงคลสมรสไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ใด ด้วยประเพณีท้องถิ่นไหน ล้วนถือว่าเป็นงานสำคัญสุดพิเศษ สำหรับที่เชียงใหม่ดินแดนแห่งวัฒนธรรมอันสวยงามที่มีตำนานเล่าขานมาอย่างยาวนาน พิธีแต่งงานแบบล้านนาจึงนับเป็นประสบการณ์ความทรงจำอันมีค่าสำหรับคู่บ่าว-สาวที่จัดงานตามวัฒนธรรมล้านนา

Kingdom of Lanna… Wedding Tradition




จุฬามณีบนสรวงสวรรค์





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ISSUE 53