เกร็ดความรู้...ลำดับพิธีการหมั้นแบบจีน

พิธีแต่งงาน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สำหรับหนุ่มสาวที่มีโครงการจะ "หมั้นหมาย" และกำลังตระเตรียมงานหมั้นอยู่ โดยเฉพาะ "พิธีหมั้นแบบจีน" ในวันนี้กระปุกเวดดิ้งก็มีลำดับขั้นตอนพิธีการหมั้นแบบจีนมาฝากกันค่ะ ซึ่งปัจจุบันอาจต้องปรับและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัย โดยสามารถกำหนดปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะของทั้งสองฝ่าย ส่วนขั้นตอนงานจะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันเลยค่ะ...

          โดยขั้นตอนแรกของพิธีหมั้นแบบจีนนั้น จะให้ความสำคัญอยู่ที่ฤกษ์รับตัวเจ้าสาว ซึ่งทางพ่อแม่ของทั้งคู่จะนำดวงของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ไปให้ซินแสตรวจและหาฤกษ์ให้ เมื่อได้ฤกษ์แล้วก็จะต้องตระเตรียมงานพิธี แต่สมัยนี้บางคู่ก็นิยมฤกษ์สะดวก อาจหมั้นและแต่งในวันเดียวกันไปเลย และสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างของพิธีหมั้น คือ แหวนหมั้น โดยให้ซินแซกำหนดช่วงเวลาที่เป็นสิริมงคลที่สุดในการสวมแหวนหมั้นมาให้ด้วย

          ซึ่งตามประเพณีแบบจีนจะสวมแหวนหมั้นก่อน แล้วจึงออกไปตั้งขบวนขันหมาก และเริ่มพิธีหมั้นด้วยการเชิญเฒ่าแก่ทั้งสองฝ่าย บิดามารดาทั้งสองฝ่ายขึ้นนั่งบนเวที โดยฝ่ายหญิงอยู่ด้านขวามือ ฝ่ายชายอยู่ด้านซ้าย ซึ่งประเพณีจีนจะนิยมให้ว่าที่คู่บ่าวสาวนั่งบนโซฟาตรงกลาง เมื่อขึ้นไปนั่งบนเวทีแล้วก็ทำการสวมแหวนหมั้นตามฤกษ์ที่ซินแซให้ไว้ โดยคุณพ่อฝ่ายชายจะหยิบแหวนหมั้นส่งให้เฒ่าแก่ เพื่อมอบให้ฝ่ายชายทำการสวมแหวนหมั้นให้กับฝ่ายหญิง ซึ่งหลังจากนั้นทั้งคู่ก็จะกลายเป็นคู่หมั้นกันแล้ว

          ต่อจากนั้นทางฝ่ายชายจะเตรียมออกไปยกขบวนขันหมาก ส่วนของที่ทางฝ่ายหญิงเตรียมไว้ทั้งหมดจะตั้งไว้บนโต๊ะข้างเวที หลังจากนั้นเฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเปิดสินสอด และตรวจนับพร้อมประกาศจำนวนสินสอด รวมถึงสิ่งของ เมื่อเปิดทรัพย์สินครบแล้วจะร่วมกันโปรย โหงวเจงจี้ หรือ เมล็ดพืช 5 อย่าง ลงบนสินสอดทั้งหมด พร้อมด้วยการพูดจาอันเป็นมงคลให้ทรัพย์สิน และเชิญคุณพ่อคุณแม่ ญาติ แขกในงานมาร่วมโปรย ส่วนคุณพ่อคุณแม่เจ้าสาวจะทำการหยิบเครื่องเพชร เครื่องทองมารวมอยู่ในพานเงินสินสอด แล้ววางส้มสี่ลูกลงไปบนสินสอด ทำการรวบห่อสินสอดทั้งหมดด้วยผ้าห่อสินสอด เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีรับสินสอดค่ะ

          และขั้นตอนสุดท้าย ปิดท้ายด้วยการทาน ขนมอี๋ หรือ ขนมบัวลอยจีน ซึ่งขนมบัวลอยจีนจะต้มน้ำตาลและไข่ต้มสุก โดยขนมอี๋นี้จะตักใส่ชามออกมาเสิร์ฟให้กับแขกที่อยู่ในงานรับประทานร่วมกัน สำหรับคู่บ่าวสาวจะตักไข่ให้ชามละสองฟอง โดยการรับประทานของคู่บ่าวสาวจะต้องให้เหลือขนมอี๋ติดก้นชามไว้ 4 หรือ 8 เม็ด เสมือนเป็นคำอวยพรให้รักกันเหนียวแน่น กลมเกลียว อายุยืนยาว และการรับประทานไข่จะต้องตักทานทั้งสองลูก ไม่ให้ใช้ช้อนตัด โดยจะทานหมดหรือไม่หมดลูกก็ได้ บางครอบครัวจะใช้ไข่ไก่ฟองเล็กหรือไข่นกกระทา จากนั้นก็จะเชิญแขกร่วมรับประทานอาหารที่ทางฝ่ายเจ้าสาวเตรียมไว้

          ตามประเพณีจีนทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะต้องเตรียมของมาแลกกันนำกลับส่วนหนึ่ง ฝ่ายหญิงจะไม่รับมาเปล่า ๆ ส่วนของที่ต้องมาแลกกันนั้น ได้แก่ ส้มจะแลกอย่างละครึ่งหนึ่ง หลังจากแลกเสร็จ ขนมต่าง ๆ ก็จะแบ่งแจกจ่ายญาติ รวมถึงแขกที่มาร่วมงาน ด้วยการนำของใส่ถุงสีแดง สีของความมงคล เป็นอันเสร็จพิธีการหมั้นแบบจีนโดยสมบูรณ์ค่ะ

          สำหรับสิ่งของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะต้องเตรียมในพิธีหมั้นจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปชมกันเลยค่ะ

สิ่งที่ฝ่ายเจ้าสาวต้องจัดเตรียมในพิธีหมั้น โดยสิ่งของทุกอย่างรวมถึงขนมและผลไม้ จะจัดใส่ถาดปูผ้าแดงด้วยค่ะ

         1. ของมีค่าและแหวนหมั้นสำหรับมอบให้ฝ่ายชาย จะจัดใส่พานดอกไม้วางบนโต๊ะ ของประกอบพิธีหมั้น จัดใส่ถาดปูผ้าแดงและใส่ยอดต้นทับทิมหรือที่ชาวจีน เรียกว่า ฮั่งฮวย ยาว 1 คืบไว้ทุกถาด ซึ่งหมายถึงความเป็นสาวบริสุทธิ์ และซองเงินสำหรับจัดของไหว้เจ้าที่บ้านฝ่ายชายค่ะ

         2. เอี๊ยมสีแดง ปักลายอักษร ซังฮี่ หรือคู่ยินดีและปักตัวหนังสือ 4 คำ "แป๊ะนี้ไห่เล่า" แปลว่า อยู่กินกันจนถึงร้อยปีคู่ พร้อมด้วยลวดลายมังกรและหงส์ ซึ่งลายนี้มีชื่อเรียกว่า เล้งหงกิ๊กเซี้ยง หมายถึง เวลาแห่งความสุขและความรุ่งเรืองที่กำลังมาหาขอให้คู่สมรสได้พบแต่สิ่งดี ๆ ในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ส่วนบนเอี๊ยมมีกระเป๋าให้ใส่ โหงวเจ๊งจี้ หรือเมล็ดธัญพืช 5 อย่าง คือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วเขียว สาคู และถั่วดำ ห่อใส่กระดาษแดง อวยพรให้สามีภรรยาพร้อมทั้งลูกหลานของตระกูลได้งอกงามรุ่งเรืองค่ะ

         3. เหรียญทองลายมังกร เรียกว่า เหรียญกิมเล้ง มักใส่ในกระเป๋าเอี๊ยมสีแดง พร้อม โหงวเจ๊งจี้ เพื่ออวยพรให้ร่ำรวย และอาจมีใส่เงินทองเพิ่มเข้าไปด้วยค่ะ

         4. ต้นชุงเฉ้า หรือ ต้นเมียหลวง ลักษณะคล้ายต้นกุยช่าย ห่อน้ำตาลอ้อย 2 ต้น เป็นไม้มงคลหมายถึง ลูกสาวของเราเป็นภรรยาแต่งอย่างสมเกียรติตามประเพณี

         5. ใบทับทิม หรือ อั้งฮวย หมายถึง ความเป็นสาวบริสุทธิ์ ให้ฝ่ายหญิงเตรียมไว้จำนวนมาก แล้วนำมาแบ่งใส่ประดับในของทุกถาดที่ฝ่ายชายจะต้องยกกลับค่ะ

          6. ส้มเช้ง 1 ถาดใหญ่ ติดตัวอักษร ซังฮี้ สีแดง มีจำนวนส้มเป็นเลขคู่ เช่น 20 ลูก บางบ้านมีจัดส้มสีทองปนไป 4 ลูกด้วย ไว้สำหรับแลกกับฝ่ายชาย ความหมายให้เป็นมงคลทั้งสองฝ่าย

         7. กล้วย 1 เครือ ติดตัวอักษร ซังฮี้ สีแดง หมายถึง ลูกสาวที่แต่งงานไปแล้วสืบลูกสืบหลานเสมือนหนึ่งต้นกล้วยแตกหน่อแตกกอ จะได้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง

         8. ซาลาเปา มีอักษรมงคล 12 ลูก จัดใส่ถาด มีความหมายว่า ลูกสาวที่แต่งงานไปแล้วจะนำพาให้สามีรุ่งเรืองเฟื่องฟู มีบุตรหลานอยู่ด้วยกันจนแก่จนเฒ่า เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้ทางร้านเขียนตัวอักษรจีน 12 ตัว 12 ลูก เรียงกันเป็นข้อความว่า อยู่กันจนแก่เฒ่าร้อย ๆ ปี ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ซาลาเปานี้ฝ่ายชายนำกลับไปไหว้เจ้าที่บ้านค่ะ

         9. ขนมพกท้อ 24 ลูก ให้ฝ่ายชายแจกญาติพี่น้องของทั้งสองครอบครัว

         10. ส้มจีนเคลือบน้ำตาล หรือที่เรียกกัน กิ๊กเปี๊ยะ 1 ห่อ หมายถึง เป็นมงคลหวานชื่น ชีวิตคู่จะได้หวานชื่นตลอดไปเลยค่ะ

         11. ลำไยแห้ง 2 ชุด

         12. ไข่ทาสีแดง 1 ถาด จัดเป็นเลขคู่ บางบ้านเตรียม 24 ลูก เพื่ออวยพรเป็นนัยว่าเจ้าสาวจะไปให้กำเนิดลูกหลานมาก ๆ ค่ะ

         13. โอวเต่ากิ๊ว คือ ขนมถั่วดำคลุกน้ำตาล มีแซมข้าวพองสีแดงทำเป็นลูกกลม ๆ นิยมใช้ 14 ลูก หรือ 7 คู่ค่ะ

         14. เผือก หรือ โอวเท้า บางบ้านไม่นิยมไข่ ก็จัดเป็นเผือก หมายถึง ความสมบูรณ์ นิยมจัดเป็นเลขคู่ค่ะ

         15. เม็ดสาคู เอาไว้โรยในของต่าง ๆ เป็นเคล็ดอวยพร สาคูเม็ดกลม ๆ คู่บ่าวสาวกลมเกลียวกันค่ะ

         16. ปิ่นทองยู่อี่ เสียบที่ปากกระเป๋าเอี๊ยม หมายถึง ทุกเรื่องให้สมปรารถนา ในวันส่งตัวฝ่ายชายต้องเอาปิ่นยู่อี่มาคืน เพื่อให้เจ้าสาวได้ติดผมตอนส่งตัว สายของเอี๊ยมนิยมใช้โซ่ทองคล้องใส่ไว้ หรือใช้ทองจริงนิยมเป็นทองหนัก 4 บาท เพราะถือเคล็ดเลข 4 เป็นเลขดี

สิ่งที่เจ้าบ่าวต้องเตรียม

       1. สินสอดทองหมั้น หรือที่เรียกว่า เพ้งกิม พร้อมด้วย แหวนหมั้น ที่จะต้องนำไปมอบให้ฝ่ายเจ้าสาว เพ้ง หมายถึง เงินสินสอด ซึ่งแล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง แต่ถ้าเจ้าสาวยังมีอากง อาม่า หรือปู่ย่าอยู่ฝ่ายชายต้องจัดเงินอั่งเปาอีกก้อนหนึ่งให้เป็นพิเศษด้วย พร้อมชุดหมู 1 ชุด อีกต่างหาก โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้รับขึ้นมา ส่วน กิม คือ ทอง แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกเช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะพิถีพิถันก็อาจขอเป็น สี่เอี่ยกิม แปลว่าทอง 4 อย่าง เพราะเลข 4 เป็นเลขดีของคนจีน ทอง 4 อย่าง เช่น กำไลทอง สร้อยคอทองคำ ตุ้มหูทอง เข็มขัดทอง

       2. กล้วย 1 เครือ สีเขียว ส่วนใหญ่นิยมใช้กล้วยหอม ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี แล้วนับจำนวนให้ลงเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็จะดีมาก เวลาใช้ให้เอากระดาษแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ "ซังฮี่" บนเครือกล้วย และทาสีแดงบนลูกกล้วยทุกใบ และฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้เอากลับ เมื่อพิธีสู่ขอเสร็จแล้ว กล้วยเป็นผลไม้ที่มี 2 นัยมงคล นอกจากจะมีความหมายให้มีลูกหลานสืบสกุลแล้ว ยังหมายถึง ดึงสิ่งดี ๆ ให้มาเป็นของเรา ซัง แปลว่า คู่ ฮี่ แปลว่า ยินดี ซังฮี่ จึงแปลว่า ความยินดีของหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งก็คือคู่บ่าวสาวนั่นเอง และกล้วยนี้บางครั้งฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้เตรียมมามอบให้

       3. อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้น เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น แต่บางบ้านไม่เอา เพราะเป็นความหวานที่กินยากต้องทั้งปอกทั้งแทะ

       4. ส้ม เป็นผลไม้มงคลให้โชคดี นิยมใช้ส้มเช้งเขียว ติดตัวหนังสือ ซังฮี่ สีแดงทุกผล และต้องให้จำนวนเป็นเลขคู่ แล้วแต่ฝ่ายหญิงกำหนดว่ากี่คู่ค่ะ

       5. ขนมหมั้น โดยฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวน คือ จะให้เป็นขนม 4 สี เรียกว่า ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ หรือขนม 5 สี เรียกว่า โหงวเส็กทึ้ง ซึ่งประกอบด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา, ขนมเปี๊ยะโรยงา, ขนมถั่วตัด, ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน หรือบางบ้านอาจจะขอให้มีน้ำตาลทราย, ซาลาเปาไส้หวาน, และคุกกี้กระป๋องด้วย โดยจำนวนของขนมแต่งงานและคุกกี้กระป๋อง ฝ่ายหญิงมักกำหนดจำนวน โดยนับจากจำนวนของญาติมิตรที่จะเชิญ มีคำเรียกการให้ขนมแต่งงานแก่ญาติมิตรว่า สั่งเปี้ย หรือ ซั้ง แปลว่า ให้เปี้ย แปลว่า ขนม ในที่นี้หมายถึงขนมหมั้นหรือขนมแต่งงานค่ะ

       6. ชุดหมู 3 ถาด แบ่งเป็น ถาดที่ 1 เป็นชุดหัวหมูพร้อม 4 เท้า และหาง โดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อยติดตัวหนังสือซังฮี่ ถาดที่ 2 เป็นถาดขาหมูสดติดตัว ซังฮี่ เช่นเดียวกัน ถาดที่ 3 เป็น โต้วเตี้ยบะ เท่านั้น คือเป็นเนื้อหมูตรงส่วนท้องของแม่หมู เพื่ออวยพรให้เจ้าสาวเป็นแม่คนที่อุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดบุตรแก่ฝ่ายชาย และมีธรรมเนียมว่าทางฝ่ายหญิงก็ต้องให้ชุดหมูสดตอบแทนแก่ฝ่ายชายด้วยค่ะ ซึ่งชุดหมูของฝ่ายหญิงนั้น จะเป็นชุดหัวใจหมูที่ต้องสั่งพ่อค้าเป็นพิเศษว่าเป็นชุดหัวใจที่ยังมีปอดและตับติดอยู่ด้วยกันด้วยนะคะ ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชุดหัวใจนี้จะแบ่งเป็น 2 แบบ แบบ 1 คือ ฝ่ายหญิงแบ่งชุดหัวใจให้ฝ่ายชายครึ่งหนึ่ง ส่วนแบบ 2 คือ เอาชุดหัวใจนี้ไปประกอบอาหารให้ว่าที่คู่บ่าวสาวรับประทานร่วมกัน เพื่อเป็นเคล็ดอวยพรให้หญิงชายมีจิตใจร่วมกันเป็นใจหนึ่งใจเดียวกันค่ะ

       7. ของเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว โดยที่ฝ่ายชายต้องเตรียมของไหว้ 2 ชุด คือ ชุด 1 สำหรับไหว้เจ้าที่ ชุด 2 สำหรับไหว้บรรพบุรุษ ส่วนการจัดเตรียมของไหว้จะต้องมีของทั้งของคาว ขนมไหว้ ผลไม้ไหว้ เหล้า อาหาร 10 อย่าง ธูปเทียนดอกไม้ และของไหว้พิเศษ คือ เส้นหมี่ เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่ยืนยาว และเฒ่าแก่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือและมีชีวิตครอบครัวที่ดีมาเป็นผู้นำขบวน หรือช่วยถือของขันหมากเพื่อเป็นสิริมงคล โดยที่ก่อนจบพิธีหมั้นจะมีการนำของหมั้นของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย มาแบ่งครึ่งก่อน แล้วเอาของอีกครึ่งหนึ่งมาแบ่งกันค่ะ




 
 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- bloggang.com

- toffeeclub.com

- download.clib.psu.ac.th

- klothailand.com

- weddinganswer.com

arpoy.net

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดความรู้...ลำดับพิธีการหมั้นแบบจีน อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:42:23 20,665 อ่าน
TOP
x close