x close

พิธีแต่งงานในโบสถ์ พิธีศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายยิ่ง

แต่งงาน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           พิธีแต่งงานตามหลักของแต่ละศาสนานั้น มีรายละเอียดของพิธีกรรมที่ต่างกันไป วันนี้กระปุกเวดดิ้งจึงขอนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ "พิธีแต่งงานในโบสถ์" มาฝากกันค่ะ


           โดยสิ่งที่เป็นหัวใจของการแต่งงานในศาสนาคริสต์ คือ การที่คู่บ่าวสาวสมัครใจที่จะร่วมชีวิตกัน และทำพันธสัญญาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผ่านผู้ประกอบพิธีซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระองค์ ด้วยการกล่าวคำมั่นสัญญาจะรับเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเป็นสามีหรือภรรยาไปตลอดชีวิต ก็คือ พันธสัญญาที่คู่บ่าวสาวมีต่อพระเจ้า โดยมีแขกที่มาร่วมในพิธีเป็นพยานค่ะ

           
ส่วนลำดับพิธีการแต่งงานในโบสถ์ รวมทั้งสิ่งที่ต้องเตรียมนั้น มีขั้นตอนดังนี้...

            เริ่มต้นสิ่งแรกไม่แตกต่างกับงานแต่งงานทั่วไป คือ การสู่ขอ จองสถานที่ จัดงานเลี้ยง พิมพ์และส่งการ์ดเชิญ โดยที่สำคัญคือ จองโบสถ์ และการจองผู้ประกอบพิธีกรรม คือ บาทหลวง (สำหรับคาทอลิก) หรือศิษยาภิบาล (สำหรับคริสเตียนหรือโปรแตสแตนท์) การเลือกวันและสถานที่ จัดพิธีแต่งงาน พร้อมการปรึกษาหารือกับบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายด้วยค่ะ ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับพิธีแต่งงานในโบสถ์ได้จากบาทหลวงหรือศิษยาภิบาล

            เริ่มต้นก่อนวันสมรสด้วยการซ้อมใหญ่ มักจะทำการซ้อมในคืนก่อนวันสมรส โดยพระผู้ประกอบพิธีกรรม คู่บ่าวสาว และผู้ร่วมพิธีทุกคนจะมาพร้อมกันที่โบสถ์ เพื่อซ้อมลำดับพิธีกรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบตามธรรมเนียม โดยที่พ่อแม่ฝ่ายชายเป็นเจ้าภาพอาหารค่ำหลังเสร็จจากการซ้อมเสร็จค่ะ และนอกจากแขกที่มาร่วมเป็นพยานรักภายในงานแล้ว จะต้องมี ผู้ร่วมประกอบพิธีศีลสมรส อันได้แก่…

           1. ผู้ถือแหวน (Ring bearer) เป็นเด็กชายอายุไม่เกิน 13 ปี ทำหน้าที่ถือพานแหวน ซึ่งอาจจะเป็นแหวนแต่งงานจริง ๆ หรือแหวนที่ทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในพิธีก็ได้

        
2. ผู้ถือดอกไม้ (Flower girls) เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 3-7 ปี มีหน้าที่โปรยกลีบดอกไม้หรือถือช่อดอกไม้นำหน้าขบวนเจ้าสาว

         3. ผู้จุดเทียน (Candle lighters) เป็นหญิง 1 ชาย 1 ที่คู่บ่าวสาวเลือกให้ทำหน้าที่จุดเทียนที่แท่นบูชา เพื่อเริ่มพิธีศีลสมรส จะเป็นคนคู่แรกที่เดินออกมา เทียนนี้ห้ามมิให้ดับก่อนพิธีเสร็จสิ้น และทั้งสองจะเดินไปจุดเทียนที่ถืออยู่ในมือจากเทียนแท่นที่อยู่ตรงกลางด้านหน้าของโบสถ์ หลังจากนั้นทั้งสองก็จะนำเทียนในมือไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา เมื่อจุดเทียนเรียบร้อยแล้วทั้งสองคนก็จะเดินออก และดนตรีในโบสถ์ก็จะดังขึ้น

         4. ผู้ร่วมขบวนพิธี ขบวนเจ้าสาวก็จะเดินเข้าสู่โบสถ์นำโดยเด็กเล็ก ๆ โปรยดอกไม้ ต่อด้วยเพื่อนเจ้าสาว เด็กถือแหวนที่ใช้ประกอบพิธี และเจ้าสาวที่เดินคล้องแขนมาพร้อมกับบิดาของตน ซึ่งหมายถึงบิดาเต็มใจที่จะยกลูกสาวให้กับเจ้าบ่าว นั่นเอง โดยพิธีแต่งงานที่สมบูรณ์ตามที่ศาสนาจักรกำหนดจะต้องมีคู่สมรส พระผู้ประกอบพิธี แหวนแต่งงาน และพยาน 2 คน แต่คู่บ่าวสาวอาจให้มี เพื่อนเจ้าสาว เพื่อนเจ้าบ่าว ผู้ถือดอกไม้ ผู้ถือแหวน ผู้อ่านพระคัมภีร์ร่วมพิธีด้วย

            ทั้งนี้ "เพื่อนเจ้าบ่าว" มักเป็นญาติหรือเพื่อนที่เจ้าบ่าวไว้วางใจให้ช่วยเตรียมงานและดูแลความเรียบร้อยในระหว่างประกอบพิธี บทบาทของเพื่อนเจ้าบ่าวที่สำคัญ คือ เป็นผู้รักษาแหวนให้กับเจ้าบ่าวก่อนถึงพิธีแลกแหวน ส่วน "เพื่อนเจ้าสาว" อาจมีคนเดียวหรือหลายคน ในกรณีที่มีหลายคนเจ้าสาวจะมอบให้คนหนึ่งเป็นหัวหน้า เรียกว่า Maid of honor เธอผู้นี้จะเดินนำหน้าขบวนเพื่อนเจ้าสาวในขณะที่เดินเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธี เป็นผู้รักษาช่อดอกไม้เจ้าสาวในระหว่างพิธี และเป็นผู้เปิดผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวเมื่อบาทหลวงประกาศให้เจ้าบ่าวจุมพิตเจ้าสาวหลังเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานค่ะ

          5. ผู้อ่านคัมภีร์ (Lector) มีหน้าที่อ่านคำสอนจากพระคัมภีร์ตามที่พระผู้ประกอบพิธีออกนาม จึงต้องมีการซักซ้อมกันก่อน หัวใจของพิธีการแต่งงานแบบชาวคริสต์อยู่ที่ตรงนี้นั่นเอง เพราะถ้าหากคู่บ่าวสาวทำผิดต่อคำสัญญานี้ก็จะไม่ได้รับพระพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

          6. ผู้เชิญแขก (Ushers) มีหน้าที่นำพ่อแม่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าสู่ที่ประกอบพิธี และนำแขกเข้านั่งประจำที่ โดยแขกฝ่ายเจ้าสาวจะนั่งทางด้านซ้ายและแขกเจ้าบ่าวจะนั่งด้านขวา

แต่งงาน

           สำหรับลำดับขั้นตอน "พิธีแต่งงานแบบคริสต์" มีขั้นตอนการแต่งงาน ดังนี้...

            1. เริ่มต้นสถานที่ในการจัดงาน ซึ่งก็คือ "โบสถ์" การประกอบพิธีกรรม และที่สำคัญรองลงมา คือ "ผู้ประกอบพิธี" ซึ่งจะเชิญบาทหลวงสำหรับผู้นับถือคาทอลิก (ถ้านับถือแบบคริสเตียนให้เชิญศิษยาภิบาลแทน) พร้อมด้วยการทาบทามญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่เป็นเด็กมาช่วยในงานพิธีด้วย โดยเด็กน่ารักเหล่านี้เองที่รับหน้าที่เป็นผู้โปรยดอกไม้ และเป็นผู้ถือแหวนเพื่อนำขบวนเจ้าสาวเข้าสู่โบสถ์

            2. พิธีจุดเทียน ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของอายุว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ค่ะ แต่ที่ถือปฏิบัติต่อ ๆ กันมานั้น นิยมให้เป็นเด็กผู้หญิง 1 คน และเด็กผู้ชาย 1 คน หรืออาจจะเป็นเด็กผู้หญิงทั้งคู่ โดยบริเวณด้านหน้าของโบสถ์ที่จะใช้ในการประกอบพิธีจะมีเชิงเทียน 2 แท่น ตั้งอยู่ทางซ้ายและขวา เมื่อเริ่มเข้าสู่พิธีคนจุดเทียนที่ได้รับเลือกจะเดินถือเทียนเปล่าไปต่อไฟจากแท่นเทียนที่อยู่ด้านหน้าโบสถ์ หลังจากนั้นก็จะนำเทียนที่อยู่ในมือไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา ครั้นพอจุดเทียน เรียบร้อยแล้วเด็กทั้งสองจะเดินออกมาค่ะ

          
3. พิธีบรรเลงเพลง เมื่อเด็กน้อยทั้งสองเดินออกมาหลังจากจุดเทียนเสร็จเรียบร้อย วงดนตรีที่อยู่ในโบสถ์ก็จะบรรเลงเพลงต้อนรับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้นักเปียโน เพื่อให้มาเล่นสำหรับพิธีนี้โดยเฉพาะ

           4. พิธีแต่งงาน หรือ การพาเจ้าสาวเข้าสู่โบสถ์ ขบวนเจ้าสาวประกอบไปด้วยเด็กน้อยผู้ถือแหวนหมั้น เด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาว รวมทั้งบิดาผู้เป็นคนพาเจ้าสาวเดินคล้องแขนเข้ามาภายในโบสถ์ การที่เจ้าสาวเดินควงแขนมาพร้อมกับคุณพ่อของเธอไปตามทางเดินสู่พิธีนั้น ถือเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าบ่าวเป็นผู้รับหน้าที่แทน ในการปกป้องทะนุถนอมดูแลต่อเจ้าสาว รวมทั้งตัวเจ้าสาวเองก็มีหน้าที่ปรนนิบัติและให้ความเคารพนับถือสามีด้วยเช่นกัน จังหวะนี้เองแขกเหรื่อที่มาร่วมพิธีภายในงานต้องลุกขึ้นยืน เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าสาวค่ะ

           5. พิธีอ่านคัมภีร์คู่ชีวิต เมื่อบิดาพาเจ้าสาวมาถึงบริเวณที่ประกอบพิธี บาทหลวงหรือศิษยาภิบาลผู้ประกอบพิธีนั้นจะอ่านข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับการใช้ ชีวิตคู่ เพื่อให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวรับทราบถึงภาระหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติต่อกันเมื่อก้าวเท้าสู่การใช้ชีวิตคู่ต่อไป

           6. พิธีกล่าวคำปฏิญาณ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือได้ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด ในสมัยก่อนนั้นคู่บ่าวสาวจะกล่าวคำปฏิญาณตามบาทหลวงหรือผู้ประกอบพิธีกรรม แต่ในปัจจุบันนี้ผู้ประกอบพิธีเพียงแต่กล่าวนำให้เท่านั้น ส่วนคู่บ่าวสาวมักจะมีคำปฏิญาณเป็นของตนเอง ส่วนจะร่างมาก่อนหรือจะมาพูดกันสด ๆ ในพิธีก็ตามแต่จะสะดวกค่ะ ซึ่งบ่าวสาวบางคู่ก็แอบจดใส่กระดาษโน้ตเล็ก ๆ มาอ่านกันในงานด้วยเพราะกลัวว่าอาการตื่นเต้นจะทำให้หลงลืมได้ค่ะ

           7. พิธีแลกแหวนแต่งงานและลงนาม หลังจากที่ให้คำมั่นสัญญากันแล้วก็เข้าสู่พิธีการแลกแหวนแต่งงาน ซึ่งทั้งคู่จะสวมแหวนแต่งงานให้แก่กัน และแหวนของชาวคริสต์นั้นต้องเป็นแหวนที่กลมเกลี้ยงปราศจากรอยต่อใด ๆ เพื่อสื่อถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งในสมัยก่อนนั้นนิยมใช้แหวนทองด้วย เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด แต่สำหรับในยุคนี้จะนิยมแหวนที่ทำขึ้นด้วยทองคำขาวหรือเงินตามความชอบของแต่ละบุคคลค่ะ จากนั้นจึงลงนามในหนังสือสำคัญที่โบสถ์จะเป็นผู้ออกให้ แต่เป็นคนละใบกับทะเบียนสมรส

           8. พิธีจุดเทียนครอบครัว ถือเป็นพิธีการสุดท้าย โดยเริ่มจากเจ้าสาวจุดเทียนซ้ายและเจ้าบ่าวจุดเทียนขวา ทั้งคู่ต้องมาจุดเทียนตรงกลางพร้อมกัน เพื่อแสดงถึงการรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน หลังจากนั้นบาทหลวงหรือผู้ประกอบพิธีกรรมจะอธิษฐานขอพรสำหรับครอบครัวใหม่ และประกาศการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการสิ้นสุดพิธีแต่งงานโดยสมบูรณ์

             ซึ่งหลังจากนั้น คู่บ่าวสาวก็จะจูงมือกันเดินออกจากโบสถ์ พร้อมการโปรยดอกไม้จากแขกที่มาร่วมงาน ต่อจากนั้น คือ การโยนช่อดอกไม้ของเจ้าสาวที่หน้าโบสถ์ ซึ่งจะมีเพื่อนเจ้าสาว รวมทั้งบรรดาสาวโสดมารอรับ เพื่อที่จะได้ช่อดอกไม้ ซึ่งถ้าคนใดได้ช่อดอกไม้มักมีความเชื่อว่าจะได้เป็นเจ้าสาวคนต่อไปค่ะ รวมถึงเพื่อสร้างความสนุกสนานภายในงานด้วยค่ะ

แต่งงาน

             เป็นอย่างไรบ้างค่ะ สำหรับลำดับพิธีการแต่งงานในโบสถ์ที่สุดแสนจะโรแมนติก ถือเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยที่เรามาฝากกันค่ะ


   


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
chormuang.com และ weddinghitz.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีแต่งงานในโบสถ์ พิธีศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายยิ่ง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 09:44:49 38,279 อ่าน
TOP