x close

พานขันหมาก การจัดขบวนขันหมาก มีอะไรบ้าง ประเพณีแต่งงานแบบไทยที่บ่าวสาวต้องรู้

          พานขันหมาก มีอะไรบ้าง และการจัดขบวนขันหมากจะต้องเรียงลำดับก่อน-หลังอย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบ บ่าวสาวคู่ไหนที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานตามประเพณีไทยมาดูข้อมูลกันเลย

ขันหมาก

          สำหรับคู่บ่าวสาวที่กำลังจะมีพิธีแต่งงานแบบไทยคงไม่พูดถึง "พานขันหมาก" ไม่ได้ แต่บ่าวสาวสมัยใหม่หลาย ๆ คู่อาจจะไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการแห่ขันหมากสักเท่าไร วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะมาแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเตรียมขบวนขันหมากตามประเพณีไทย ซึ่ง พานขันหมากมีอะไรบ้าง รวมทั้งการจัดขบวนขันหมากต้องลำดับอะไรก่อน-หลัง เรามีคำตอบมาบอกกันค่ะ

พานขันหมาก มีอะไรบ้าง

          ประเพณีการแห่ขันหมากในงานแต่งงาน ในขบวนจะแบ่งออกเป็น "ขันหมากเอก" และ "ขันหมากโท" ติดตามด้วยเหล่าบริวารขันหมาก ส่วนรูปตามแบบฉบับฝีมือชาววังที่นิยมทำกันนั้นมี 2 แบบ คือ แบบใช้พลูจีบ กับ แบบที่ไม่ใช้พลูจีบ โดยทั้ง 2 แบบจะใส่หมากพลูเป็นจำนวนคู่ อย่าง คู่ 4 หรือ คู่ 8 นำมาจัดเรียงให้สวยงาม สาเหตุที่ต้องมีการใส่หมากพลูลงไปในพานขันหมาก ก็เพราะในสมัยก่อนนิยมกินหมาก จึงมีการใช้หมากพลูเป็นเครื่องต้อนรับ เพื่อแสดงไมตรีจิต และหมายถึงความยินดีต้อนรับอย่างเป็นกันเองด้วยไมตรีจิต ซึ่งนอกจากพานขันหมากเอกแล้ว ยังมีพานต่าง ๆ ที่ฝ่ายชายจะต้องเตรียมทั้งหมดเพื่อแห่ในขบวนขันหมาก ดังนี้

พานขันหมากเอก ประกอบด้วย

          1. พานขันหมาก เป็นพานของฝ่ายชายเชิญมาที่บ้านฝ่ายหญิง ประกอบด้วย พลู 2 พาน ในพานจะมีหมาก 8 ผล, พลู 4 เรียง เรียงละ 8 ใบ, ถุงเงิน 2 ใบ, ถุงทอง 2 ใบ ข้างในบรรจุถั่วเขียว, งาดำ, ข้าวเปลือก, ข้าวตอก และซองเงิน 1 ซอง

          2. พานสินสอด พานทองหมั้น ใช้สำหรับใส่เงิน, ทอง, เพชร, นาค ไว้ในพานเดียวกัน หรือ 2 พานก็ได้ ซึ่งพานนี้จะมีผ้าคลุมไว้ ส่วนใหญ่ใช้ผ้าลูกไม้ ภายในพานนอกจากสินสอดเงินทองแล้ว จะต้องมีใบเงิน, ใบทอง, ใบนาค, กลีบกุหลาบ, กลีบดาวเรือง, กลีบบานไม่รู้โรย, ดอกมะลิ, ดอกรัก, ถุงเงิน และถุงทอง

         3. พานแหวนหมั้น ใช้พานขนาดเล็กซึ่งจะมีการออกแบบที่รองแหวนด้วยการจัดประดับพานด้วยดอกไม้ เพื่อความสวยงามด้วย

          4. พานธูปเทียนแพ ไม่ต้องทำขนาดใหญ่มากจนเกินไป เพื่อจะใช้พานนี้ในการรับไหว้ ผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้เช่นกัน

          5. พานผ้าสำหรับไหว้ หรือพานธูปเทียนแพ จำนวนแล้วแต่จะกำหนด ซึ่งพานไหว้ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนจะใช้พานธูปเทียนแพเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืน และผ้าสำหรับห่ม 1 ผืน เทียน และธูปหอม ดอกไม้ 1 กระทง อันนี้สำหรับเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ไม่ต้องจัดพานดังกล่าว แต่จะจัดในส่วนที่สอง คือ สำรับที่จะใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่ พ่อและแม่ของทั้งสองฝ่าย โดยการใช้ผ้าขาวสำหรับนุ่งและผ้าห่ม อย่างละ 1 ผืน หรือจะใช้เสื้อผ้า หรือของอื่น ๆ แทนก็ได้ แต่ไม่ต้องใช้ธูปเทียนและดอกไม้

          6. ร่มสีขาว 2 คัน โดยจะให้เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายถือ

          7. ช่อดอกไม้เล็ก ๆ สำหรับเจ้าบ่าวถือ

          8. พานต้นกล้วย 1 คู่ ต้นอ้อย 1 คู่ เพื่อสื่อถึงให้คู่บ่าวสาวทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ต้นกล้วยยังหมายถึงให้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นต้นเล็กนำมาให้เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนถือ

ขันหมาก

พานขันหมากโท หรือ ขันหมากบริวาร ประกอบด้วย

          1. พานขนมมงคล 9 อย่าง จำนวน 2 พาน ได้แก่ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองเอก, ขนมจ่ามงกุฎ, ขนมเสน่ห์จันทร์, ขนมลูกชุบ, ขนมหม้อแกง, ขนมข้าวเหนียวแดง, ขนมข้าวเหนียวแก้ว และขนมชั้น ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ขนมโบราณอย่าง ขนมกง, ขนมทองเอก, ขนมชะมด, ขนมสามเกลอ, ขนมโพรงแสม, ขนมรังนก ซึ่งปัจจุบันหายากและหลายคนก็ไม่รู้จักแล้ว ส่วนขนมที่ไม่นิยมนำมาใช้ในงานมงคล คือ ขนมต้มแดง ต้มขาว เพราะเป็นขนมที่ใช้ในการทำพิธีทางไสยศาสตร์

          2. พานขนมเสน่ห์จันทร์ หรือขนมเปี๊ยะ 1 คู่

          3. พานไก่ต้ม หมูนอนตอง

          4. พานวุ้นเส้น 1 คู่

          5. พานมะพร้าว 1 คู่

          6. พานกล้วยหอม ต้องใส่เป็นคู่ และส้ม 1 คู่

          7. พานส้มโอ 1 คู่

          8. พานชมพู่เพชร 1 คู่

          9. พานขนมกล่อง ไว้สำหรับแจกญาติผู้ใหญ่ ซึ่งจะใช้ขนมอะไรก็ได้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน

ขันหมาก

พานผ้าเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย

          1. ธูป 5 ดอก เทียน 2 เล่ม

          2. มะพร้าวอ่อน 1 คู่, กล้วยน้ำว้า 2 หวี, ไก่ต้ม 1 ตัว, หมูนอนตอง 1 ที่

          3. เหล้า 1 คู่

          4. ผ้าขาว 1 พับ (ประมาณ 4 ศอก หรือ 2 เมตร)

สิ่งที่เจ้าสาวจะต้องเตรียม คือ

          1. พานเชิญขันหมาก เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิงและผ่านประตูเงิน-ประตูทอง ฝ่ายหญิงก็จะลงมาเชิญขันหมากขึ้นเรือน เป็นธรรมเนียมมารยาทที่เชื้อเชิญญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายขึ้นเรือน

          2. เด็กสาวที่เป็นลูกหลานวัยเด็ก ๆ ไว้ล้างเท้าเจ้าบ่าว ก่อนขึ้นเรือนของฝ่ายหญิง

          3. ประตูเงิน-ประตูทอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติของฝ่ายหญิงถือกั้นไว้

ขันหมาก

พานขันหมากทำเอง

          สำหรับบ่าวสาวคู่ไหนที่ต้องการทำพานขันหมากเอง สามารถจัดเตรียมพานขันหมากแบบง่าย ๆ ได้ โดยควรประกอบด้วย

          - พานเชิญขันหมาก

          - พานขันหมากเอก 1 พาน บรรจุหมาก-พลูเป็นจำนวนคู่ ถั่ว-งา-ข้าวเปลือก-ข้าวตอก ในถุงเงินถุงทอง ดอกรัก และใบเงิน ใบทอง ในบาก

          - พานสินสอดทองหมั้น จำนวนพานตามฐานะ ส่วนใหญ่นิยมแยกเป็นพานเงินสด 1 พาน กับพานเครื่องประดับอีก 1 พาน จะได้คู่กันพอดี

          - พานแหวนหมั้น 1 พาน

          - พานดอกไม้ธูปเทียนแพ 1 พาน สำหรับเจ้าบ่าวถือในขบวนขันหมาก และใช้ไหว้ผู้ใหญ่ในพิธีหมั้น หรือบางคู่ก็ใช้ในพิธีไหว้ผู้ใหญ่ด้วย

          - พานขันหมากโท ประกอบด้วยหมากและพลู

          - พานขนมมงคล 9 ชนิด 1 คู่ ประกอบด้วย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ทองเอก จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ถ้วยฟู และเม็ดขนุน ซึ่งขนมแต่ละชนิดสื่อถึงความหมายที่ดี เช่น ความเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยเงินทอง มีคนคอยสนับสนุน ความเฟื่องฟู มีคนเอ็นดูรักใคร่ และมียศถาบรรดาศักดิ์

          - พานผลไม้มงคล 1 คู่ ประกอบด้วยผลไม้ที่มีชื่อหรือลักษณะเป็นมงคล เช่น มะพร้าว ส้มโอ ทับทิม องุ่น ส้มสายน้ำผึ้ง (บางบ้านอาจมีมากกว่า 1 คู่ แต่ต้องเป็นจำนวนคู่)

          - พานต้นกล้วย-ต้นอ้อย 1 คู่ สมัยก่อนเมื่อเสร็จพิธีแล้วนิยมนำไปปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล

          นอกจากนั้นบางบ้านอาจมีการผสมผสานวัฒนธรรมจีนเข้ามาด้วย เช่น มีคู่พานวุ้นเส้น พานไก่ต้มคู่กับพานหมูนอนตอง (หมูสามชั้นต้มวางบนใบตอง) ซึ่งก็ไม่ผิดแต่อย่างใด ถ้ามีพานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะวางไว้ระหว่างพานผลไม้มงคลกับพานขนมมงคล ทั้งนี้ จำนวนของพานขันหมากที่ใช้สำหรับงานแต่งงานในปัจจุบันจะแปรผันตามรูปแบบการจัดขบวน

ลําดับขบวนขันหมาก

          เมื่อเตรียมพานขันหมากพร้อมแล้ว ในส่วนของการจัดเรียงลำดับขบวนขันหมากต้องจัดอย่างไร แล้วใครถืออะไรบ้าง มาดูกันเลย

          1. เถ้าแก่และเด็กนำขันหมาก (เด็กผู้ชาย) โดยในตอนเริ่มขบวน เถ้าแก่จะอยู่เรียงต่อจากเจ้าบ่าว แต่เมื่อเดินทางมาใกล้ถึงหน้าบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่ก็จะเป็นฝ่ายออกมารับหน้า ซึ่งถือว่าเป็นแทนเจ้าบ่าว

          2. เจ้าบ่าวถือช่อดอกไม้เล็ก ๆ หรือพานธูปเทียนแพรก็ได้ ซึ่งเมื่อเริ่มแห่ ขบวนเจ้าบ่าวอยู่หน้าสุด ตามด้วยเถ้าแก่ ส่วนต้นกล้วยและต้นอ้อยที่เดินตามเจ้าบ่าวมานั้น เมื่อขบวนเคลื่อนย้ายมาถึงหน้าบ้านแล้วให้มาอยู่หลังสุด ก่อนขบวนรำ

          3. คนถือซองเงิน พ่อแม่เจ้าบ่าว

          4. คู่ต้นกล้วย-ต้นอ้อย

          5. ขันหมากเอก (ญาติผู้ใหญ่ถือ)

          6. คู่พานขันหมากพลู

          7. พานขันหมากเงินสินสอด พานทองหมั้น

          8. พานแหวนหมั้น พานธูปเทียนแพ

          9. คู่พานผ้าไหว้

          10. ขันหมากโท (ญาติหรือเพื่อนถือ)

ขันหมาก
anek namasen/shutterstock.com

          11. คู่พานขาหมู

          12. คู่พานวุ้นเส้น

          13. คู่พานมะพร้าว

          14. คู่พานกล้วยหอม-ส้ม-ชมพูเพชร

          15. คู่พานส้มโอ

          16. คู่พานขนมมงคล 9 อย่าง

          17. คู่พานขนมเสน่ห์จันทร์ หรือขนมเปี๊ยะ

          18. คู่พานขนมกล่อง

          19. ปิดท้ายด้วยขบวนรำ

          ข้อควรจำ : สมัยโบราณมีความเชื่อเรื่องขนมหรือกับข้าวที่ไม่ควรใช้ในงานแต่งงาน หรืองานมงคล เช่น แกงบวด ต้มยำ ต้มผัก เพราะถือเคล็ดเรื่องชื่อฟังแล้วไม่เป็นมงคล รวมถึง ปลาร้า ปลาเจ่า เพราะเกรงว่าจะเกิดกลิ่นเหม็น ส่วนอาหารคาวที่ไม่นิยมทำคือ ข้าวต้ม เพราะใช้เลี้ยงแขกในงานศพ

          ถึงแม้ในพิธีงานแต่งงานอาจจะมีความยุ่งยาก เพราะต้องเตรียมของเป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแค่เราควรวางแผนให้ดีก่อนล่วงหน้า รับรองได้เลยว่างานแต่งงานของคุณจะผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : weddingsquare.com, weddinglist.co.th, manitawedding.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พานขันหมาก การจัดขบวนขันหมาก มีอะไรบ้าง ประเพณีแต่งงานแบบไทยที่บ่าวสาวต้องรู้ อัปเดตล่าสุด 4 มีนาคม 2564 เวลา 11:24:14 587,860 อ่าน
TOP