ลำดับขั้นตอนพิธีการแต่งงานช่วงเช้า เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีแต่งงานตามธรรมเนียมไทย

          ลำดับขั้นตอนพิธีการแต่งงานช่วงเช้า มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง วันนี้ขอนำความรู้เกี่ยวกับประเพณีงานแต่งงานตามธรรมเนียมของไทยมาให้ศึกษากัน บอกเลยเรื่องนี้ว่าที่บ่าวสาวควรรู้เอาไว้ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวถูกต้องนั่นเอง

พิธีการแต่งงานช่วงเช้า

            คู่แต่งงานหนุ่มสาวในปัจจุบันหลายคู่ น้อยคนนักที่จะรู้ว่าลำดับขั้นตอนของพิธีแต่งงานตามประเพณีไทยในช่วงเช้านั้น มีอะไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำความรู้เกี่ยวกับประเพณีแต่งงานตามธรรมเนียมของไทยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ นั้นอาจไม่กำหนดตายตัว แต่อาจจะมีลดหย่อนหรือเพิ่มเติมในส่วนอื่น ๆ บ้าง เพื่อให้งานแต่งงานนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เรียบง่าย ไม่ทำให้บ่าวสาวต้องกังวลมากที่สุด

            สำหรับพิธีในช่วงเช้าของการแต่งงาน ส่วนใหญ่จะเริ่มตามฤกษ์งามยามดีของแต่ละคู่ โดยเป็นช่วงของการจัดพิธีทางศาสนาพุทธเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจะเป็นพิธีแห่ขันหมาก ซึ่งมักจะเริ่มในเวลา 09.19 น. (หรือตามฤกษ์งามยามดีของแต่ละคู่) ซึ่งถือเป็นเลขที่เป็นมงคลที่สุดในการเริ่มพิธีแต่งงานที่บ่าวสาวหลายคู่เลือกใช้กัน โดยมีขั้นตอนของพิธีการแต่งงานในช่วงเช้า ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 พิธีสงฆ์

            พิธีการแรกเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว ที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานเพื่อจะอำนวยอวยพรให้คู่บ่าวสาวอยู่กันอย่างมีความสุข และเมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้วลำดับต่อไป คือ พิธีการแห่ขบวนขันหมาก หรืออีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมทำกันมากในปัจจุบัน คือ ทำหลังจากประกอบพิธียกขันหมาก สู่ขอ และประกอบพิธีหมั้นจนเสร็จแล้วจึงค่อยประกอบพิธีสงฆ์ก็ได้เช่นกัน

            สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์มีขั้นตอน ได้แก่ เมื่อพระสงฆ์มาถึงและนั่งที่อาสน์แล้ว คู่บ่าวสาวจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และรับศีล 5 จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญสูตรคาถาอันเป็นมงคล พร้อมทำน้ำมนต์สำหรับใช้ในพิธี แล้วต่อด้วยการตักบาตร ในกรณีเริ่มพิธีสงฆ์ในช่วงเช้าแล้วต่อด้วยการถวายสังฆทาน หรือหากเป็นช่วงสายจะถวายสังฆทานแล้วจึงถวายภัตตาหารเพล หรืออาจจัดเป็นปิ่นโตอาหารถวาย พร้อมดอกไม้ ธูป เทียน ปัจจัย เครื่องไทยธรรม หลังจากนั้นพระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำมนต์ให้เพิ่มความเป็นสิริมงคลจึงเป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์

พิธีการแต่งงานช่วงเช้า
ภาพจาก hin255 /shutterstock.com

ขั้นตอนที่ 2 พิธีการตั้งขบวนแห่ขันหมาก แห่ขันหมาก รับขันหมาก

            ในปัจจุบันนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งในวันเดียว ดังนั้น จึงมีการรวบรัดเอา ขันหมากหมั้น และ ขันหมากแต่ง เข้าไว้ด้วยกัน โดยจะมีทั้ง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท และเมื่อตั้งขบวนขันหมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะมีขบวนกลองยาวนำหน้าเพื่อสร้างความครึกครื้น ตามด้วยขบวนขันหมากเอก-ขันหมากโท โดยขั้นตอนนี้ต้องให้เจ้าสาวเตรียมตัวรอขันหมากบนบ้าน ส่วนเจ้าบ่าวก็จะไปบริเวณที่จัดขบวนขันหมากเตรียมตัวรอฤกษ์เคลื่อนขบวนมาบ้านเจ้าสาว จากนั้นเมื่อมาถึงบ้านเจ้าสาว ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไปต้อนรับพร้อมกับให้เด็กหญิงถือพานหมากที่จัดเป็นจำนวนคู่ไว้สำหรับต้อนรับ จากนั้นขบวนขันหมากก็จะเตรียมตัวเข้าไปในบ้าน ซึ่งจะต้องผ่านด่านประตูทั้ง 3 คือ ประตูนาก ประตูเงิน และประตูทอง โดยเจ้าบ่าวจะเตรียมซองไว้ เพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนขอผ่านประตู หลังจากนี้ถือเป็นพิธีการช่วงต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 พิธีกั้นประตู

            เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงบ้านของฝ่ายเจ้าสาว บรรดาญาติของฝ่ายเจ้าสาวจะมาช่วยกันกั้นประตูเงิน-ประตูทอง เพื่อเรียกค่าเปิดทางจากฝ่ายเจ้าบ่าว ส่วนผู้ที่กั้นประตูจะถือสายสร้อยทอง สายสร้อยเงิน หรือผ้าแพรคนละด้าน เพื่อกั้นไม่ให้ขบวนผ่านไปได้ ซึ่งถ้าอิงประเพณีหลักดั้งเดิมก็จะมีประตูหลัก ๆ 3 ประตู คือ ประตูนาก ประตูเงิน ประตูทอง (จะเรียกประตูชัย ประตูเงิน และประตูทองก็ได้เช่นกัน) โดยฝ่ายชายจะต้องเจรจาขอผ่านทาง และต้องให้ซองใส่เงิน ให้แก่ผู้กั้นประตู หลังจากผ่านประตูทุกด่านเรียบร้อยแล้ว จะมีเด็กหญิงญาติของฝ่ายหญิงเตรียมล้างเท้าให้กับเจ้าบ่าว จากนั้นฝ่ายหญิงจะจัดเด็กผู้หญิงถือพานหมากพลูไว้รอเชิญขบวนขันหมากขึ้นเรือน ซึ่งเจ้าบ่าวต้องเตรียมซองเงินไว้เป็นรางวัลด้วยเช่นกัน


ขั้นตอนที่ 4 พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด

            เมื่อฝ่ายเจ้าสาวรับขบวนขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีการต่อไปก็คือการนำของจากขบวนขันหมากมาจัดวางเรียงกัน จากนั้นเถ่าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มการเจรจาสู่ขอ เมื่อตกลงยินยอมยกลูกสาวให้ ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด และจัดวางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงิน-ผ้าทอง แล้วทำทีเป็นตรวจนับตามธรรมเนียม ซึ่งตามประเพณีโบราณให้ใส่เกินจำนวนไว้เล็กน้อย เพื่อเป็นเคล็ดว่าคู่บ่าวสาวอยู่ด้วยต่อไปเรื่อย ๆ จะมีเงินงอกเงย ทั้งนี้ หลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด ต่อมาแม่ของเจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้า แล้วแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี

พิธีการแต่งงานช่วงเช้า

ขั้นตอนที่ 5 พิธีสวมแหวนหมั้น

            หลังจากที่ได้นับสินสอดกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาฤกษ์อันเป็นมงคลตามที่กำหนด ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นฝ่ายหญิงไหว้พร้อมกับสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย เมื่อสวมแหวนเสร็จมักจะมีการถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก และรอเวลาที่จะประกอบพิธีสำคัญต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร

            สำหรับการทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร เริ่มจากบ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นไปนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้านซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด และแป้งเจิมที่นำมาใช้นั้นเป็นของที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อย จากนั้น ประธานหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่น ๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส

ขั้นตอนที่ 7 พิธีรับไหว้

            หลังเสร็จพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรจะเป็นพิธีรับไหว้หรือพิธีไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว การไหว้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่นั้น คู่บ่าวสาวต้องก้มกราบ 3 ครั้ง ส่วนญาติคนอื่นให้กราบครั้งเดียวโดยไม่ต้องแบมือ เมื่อก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไหว้และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือคู่บ่าวสาว พร้อมกับให้พรและใส่ซองเงิน หรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานให้ไว้เป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว

พิธีการแต่งงานช่วงเช้า
ภาพจาก hin255 /shutterstock.com

ขั้นตอนที่ 8 พิธีส่งตัวเข้าหอ พิธีร่วมเรียงเคียงหมอนหรือพิธีปูที่นอน

            ถือเป็นพิธีสำคัญในช่วงสุดท้าย (สำหรับคู่ที่มีฤกษ์ยามในช่วงเช้า หรือคู่ที่ถือฤกษ์สะดวกอยากทำพิธีให้เสร็จสิ้นในช่วงเวลาเดียวกัน) โดยผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวมาส่งตัวเข้าหอ ซึ่งเจ้าบ่าวจะมารออยู่ที่ห้องหอก่อนแล้ว ส่วนสำคัญของพิธีนี้จะอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ที่จะมาทำพิธีปูที่นอน ก่อนที่จะพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอแล้วเจิมหน้าผาก และนำตัวเจ้าสาวเข้ามา โดยที่เจ้าสาวจะต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของตัวเองเพื่อเป็นการขอพร และเมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นคนพามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแลลูกสาวด้วย จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ธรรมเนียมบางท้องถิ่นจะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าวก็สามารถทำได้เช่นกัน

            ส่วนพิธีร่วมเรียงเคียงหมอน หรือพิธีปูที่นอนนั้น จะเริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวในอนาคต เนื่องจากพ่อแม่จะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาที่มีครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมมาช่วยปูที่นอนให้ เพื่อถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดี โดยที่ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้จะต้องอาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวเรียบร้อย แล้วจึงเข้ามาในห้องหอ เพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน ได้แก่ หินบดยาหรือหินก้อนเส้า, ฟักเขียว, แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว), พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว และขันใส่น้ำฝนมาประกอบพิธีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นอันประกอบพิธีแต่งงานช่วงเช้าเสร็จสิ้น จากนั้นจะเป็นการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน

            อย่างไรก็ตามพิธีเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา เพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวคู่บ่าวสาวเท่านั้น การใช้ชีวิตคู่จำเป็นจะต้องมีอีกหลายสิ่งที่ควรยึดมั่นทั้งความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ รวมถึงการให้อภัย ที่จะทำให้ชีวิตคู่ของคุณกลายเป็นครอบครัวที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ แต่เห็นวิธีการขั้นตอนแล้วไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะคะ สำหรับการจัดงานแต่งงานในช่วงเช้า แต่อาจจะมีการเตรียมงานที่มากหน่อย ซึ่งสิ่งสำคัญของงานแต่งงาน คือ การวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อวันพิธีจะได้ดำเนินพิธีให้ผ่านลุล่วงไปด้วยดี และไม่มีเรื่องติดขัดค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
student.nu.ac.th, เฟซบุ๊ก brideintermag

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลำดับขั้นตอนพิธีการแต่งงานช่วงเช้า เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีแต่งงานตามธรรมเนียมไทย อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2563 เวลา 13:48:14 330,258 อ่าน
TOP
x close