ในพิธีแต่งงานแบบไทยอันศักดิ์สิทธิ์อย่าง "พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร" หรือ "พิธีรดน้ำสังข์" ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในการแต่งงานแบบไทย ที่มีความงดงามที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมของไทยแท้ ๆ วันนี้กระปุกเวดดิ้งมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพิธีรดน้ำสังข์ ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ส่วนประกอบภายในงานอะไรบ้างมาฝากกัน
"พิธีรดน้ำสังข์" เป็นขั้นตอนหลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม จากนั้นจะเป็นฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ โดยคู่บ่าวสาวต้องนั่งที่ตั่งรดน้ำสังข์ ซึ่งจะมีหมอนสำหรับรองมือและพานรองรับน้ำสังข์ ส่วนด้านหลังจะเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวยืนอยู่ จากนั้นพระสงฆ์หรือผู้เป็นประธานในพิธีจะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่หากเป็นฝ่ายหญิงแล้ว พระท่านไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวได้ จึงต้องจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน พร้อมสวมมงคลแฝดให้คู่บ่าวสาวคนละข้าง ซึ่งสายมงคลแฝดจะโยงห่างกันประมาณ 2 ศอก เพื่อความสะดวก และส่วนปลายของมงคลจะโยงมาพันที่บาตรน้ำมนต์ และหางสายสิญจน์พระสงฆ์จะส่งกันไปโดยจับเส้นไว้ในมือ จนถึงพระองค์สุดท้ายก็จะวางสายสิญจน์ไว้ที่พาน และญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะทยอยกันมารดน้ำสังข์ตามลำดับ ซึ่งในระหว่างที่ญาติผู้ใหญ่กำลังรดน้ำ พระสงฆ์ก็จะทำการสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลไปพร้อมกัน
อนึ่ง "หอยสังข์" ที่นำมาใช้ในพิธี นั้นในสมัยโบราณ นับถือกันว่าเป็นของที่เป็นอุดมมงคลอย่างสูง เพราะว่า "สังข์" คือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 14 อย่าง อันเกิดจากการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูร จึงถือเป็นของสิริมงคลในงานพิธีมงคลสมรส การใช้น้ำพระพุทธมนต์ที่เกิดจากการเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นสิ่งมงคลเช่นกันมาบรรจุในสังข์ จึงเสมือนเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตคู่
ลำดับขั้นตอนการทำพิธีรดน้ำสังข์
เมื่อคู่บ่าวสาวสวมแฝดมงคลและนั่งพนมมือคู่กันในที่จัดไว้แล้ว จะมีคนคอยตักน้ำพระพุทธมนต์เติมในสังข์ เพื่อส่งให้ผู้ที่จะรดน้ำอวยพร โดยเริ่มจากพ่อแม่ของคู่บ่าวสาว ญาติผู้ใหญ่ตามลำดับ นิยมรดใส่ในมือให้เจ้าสาวก่อน แล้วจึงรดให้เจ้าบ่าว และกล่าวอวยพรให้คู่บ่าวสาว ขณะรดน้ำสังข์พระสงฆ์จะสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว
โดยมีเคล็ดลางเกี่ยวกับพิธีรดน้ำสังข์ คือ หลังจากพิธีรดน้ำสังข์เสร็จและ ถอดมงคลแฝดออก หากฝ่ายใดลุกขึ้นยืนก่อน ฝ่ายนั้นจะได้เป็นผู้ที่อยู่เหนือคู่ครองของตน เช่น เจ้าสาวลุกขึ้นก่อน สามีจะกลัวผู้ใหญ่มักจะบอกให้ทั้งสองฝ่าย ช่วยประคับประคองกันลุกขึ้นแทน ส่วนในสมัยโบราณ ในพิธีการแต่งงานจะไม่มีการรดน้ำสังข์ แต่จะมี “พิธีซัดน้ำ” โดยพระสงฆ์จะเป็นผู้ทำพิธี โดยตักน้ำมนต์ในบาตรซัดสาดใส่คู่บ่าวสาว บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว นั่งห้อมล้อมให้คู่บ่าวสาวนั่งเบียดกันชิดกัน
อุปกรณ์และวิธีใช้ในพิธีรดน้ำสังข์
1. พวงมาลัยบ่าวสาว : ใช้สำหรับคล้องคอบ่าวสาว มักจะเป็น "มาลัยสองชาย" หมายถึง มาลัยที่นิยมผูกต่อริบบิ้นหรือโบทั้งสองชาย และมีอุบะห้อยชายมาลัย และยังมีความเชื่อว่า ให้ใช้มาลัยบ่าวสาวคู่เดียวกันคล้องคอทั้งพิธีแต่งงานช่วงเช้าและช่วงเย็น เพราะจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างราบรื่น ไม่มีการเลิกราหรือเปลี่ยนคู่อีกด้วย
2. แป้งเจิม : ใช้เจิมหน้าผาของบ่าวสาว ตามพิธีแต่งงานของไทย
3. มงคลแฝด : ใช้สวมศีรษะของคู่บ่าวสาว ซึ่ง "มงคลแฝด" หรือ "มงคลจักร" คือ ด้ายมงคลแฝดสำหรับบ่าวสาวสวมศีรษะในพิธีรดน้ำสังข์ เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล รวมทั้งเป็นการเชื่องโยงให้คู่บ่าวสาวกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
4. พานวางหอยสังข์ และพานสำหรับน้ำสังข์ : ใช้ขันใบเล็กตักน้ำใส่ในหอยสังข์ แล้วยื่นให้ผู้ที่เข้ามารดน้ำสังข์
5. ชุดตั่งรดน้ำสังข์ : ประกอบด้วย เก้าอี้นั่ง 2 ตัว, โต๊ะวางมือ 2 ตัว, โต๊ะวางพานรับน้ำสังข์ 2 ตัว, โต๊ะวางอุปกรณ์ 1 ตัว โดยมีขั้นตอนในการจัดวางชุดตั่งรดน้ำสังข์ คือ วางเก้าอี้ให้คู่กันบริเวณหน้าฉาก โดยเจ้าบ่าวจะนั่งด้านขวามือของเจ้าสาว ขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าสาวก็จะนั่งอยู่ด้านซ้ายมือของเจ้าบ่าว และด้านหน้าเก้าอี้ ตั้งโต๊ะวางมือ ส่วนพานดอกไม้สำหรับรับน้ำสังข์ จะตั้งอยู่บริเวณหน้าโต๊ะวางมือ ส่วนโต๊ะวางอุปกรณ์ เช่น พานวางหอยสังข์ และพานน้ำสำหรับใส่ในหอยสังข์ จะตั้งไว้บริเวณด้านขวาข้างฝ่ายเจ้าบ่าว
6. หมอนรองมือ : ใช้สำหรับรองมือและแขนเพื่อให้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวไม่ให้เมื่อยเมื่อรับน้ำสังข์
7. พานพุ่มดอกไม้สำหรับรับน้ำสังข์ : เป็นพานสำหรับรองรับน้ำสังข์ อาจมีการจัดเป็นพานพุ่มดอกไม้ให้ดูสวยงาม
9. อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ซุ้มดอกไม้ประดับบริเวณโดยรอบของคู่บ่าวสาว และฉากหลังที่ตกแต่งด้วยผ้าสีอ่อนหวาน เพื่อความสวยงาม
ถือเป็นขั้นตอนของการเตรียมการที่ไม่ยุ่งยากเลยใช่ไหมค่ะ เป็นความรู้สำหรับบ่าวสาวที่กำลังวางแผนเตรียมตัวในการเข้าพิธีสมรสก่อนเข้าพิธีแต่งงานจริงได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
,