x close

เกร็ดความรู้...เมื่อผิดสัญญาหมั้นหมายกับสิ่งที่ควรจะทำ

สัญญาหมั้น

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เมื่อคู่รักตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตครองคู่กัน หลายคู่ยังไม่พร้อมทั้งการเงินและการงาน จึงต้องมีการทำ "พิธีหมั้นหมาย" เพื่อจับจองตัวไว้ก่อน ซึ่งในสมัยก่อน "การหมั้นหมาย" ถือเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวเชื่อและทำตามสืบต่อกันมา ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่ว่า ครอบครัวของเพื่อนหรือพี่น้องจะได้เป็นทองแผ่นเดียวกัน, บางคู่ก็ถูกหมั้นหมายไว้ตั้งแต่เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะเท่าเทียมกัน หรือเป็นการศึกษาดูใจก่อนแต่งงานระหว่างฝ่ายหญิงและชายก่อน ซึ่งด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลายคู่ไปไม่รอดถึงกับต้องผิดสัญญากัน ดังนั้น วันนี้กระปุกเวดดิ้งเลยขอมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการผิดสัญญาหมั้น ว่าเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้นแต่ละฝ่ายควรต้องทำอะไรบ้าง...

          การหมั้น คือ การที่ชายและหญิงได้ทำสัญญาว่าจะทำการสมรส อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา ส่วน "สัญญาหมั้น" ไม่เป็นเหตุการณ์บังคับให้ชายหญิงต้องสมรสกัน และไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ ๆ ต้องอยู่กินร่วมกันเหมือนดั่งเช่นสามีภรรยา ซึ่งหากชายหญิงแม้เป็นคู่หมั้นกันแล้วต้องการที่จะล้มเลิกข้อผูกมัดระหว่างกันเองก็สามารถทำได้ แต่ในส่วน "ของหมั้น" และ "สินสอด" นั้น จะแบ่งคืนกันอย่างไรก็ได้ตามแต่ที่ได้ตกลงกันไว้

          ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรณีการผิดสัญญาหมั้นที่หมายถึงการทำผิดต่อคู่หมั้นโดยไม่มีเหตุอันควร สินสอดทองหมั้นเมื่อมอบให้ฝ่ายหญิงแล้ว ต่อมาฝ่ายชายผิดสัญญาไม่ยอมยกขันหมากมาตามวันและเวลาที่ตกลงกัน ทำให้ฝ่ายหญิงเป็นม่ายขันหมาก ฝ่ายชายจะถูกริบสินสอดทองหมั้นทั้งหมดและจะเรียกร้องคืนไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นไม่ยอมแต่งงานกับฝ่ายชาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องคืนสินสอดทองหมั้นทั้งหมดให้แก่ฝ่ายชายอย่างครบถ้วน

          กรณีที่ผิดสัญญาหมั้นได้แก่...

  - ฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น โดยไปทำการหมั้นหรือทำการสมรสกับชายอื่น

  - ฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นโดยมอบของหมั้นให้บ้างแล้ว และสัญญาว่าจะนำของหมั้นที่ยังขาดมามอบให้อีก ถ้าไม่นำมามอบให้ตามที่ตกลงจะถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นก็ได้

  - ฝ่ายชายไปทำการหมั้นหรือทำการสมรสกับหญิงอื่น

  - ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น โดยทั้งคู่ไม่สมัครใจทำการสมรสกัน หรือคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงหลังการหมั้น เช่น ไปร่วมประเวณีกับคนอื่นเป็นประจำ กรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายสามารถเรียกของหมั้นคืนได้ พร้อมเรียกร้องให้ชดใช้ค่าทดแทน ในขณะที่เมื่อฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นฝ่ายหญิง ก็มีสิทธิ์ริบสินสอดนอกเหนือจากการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าทดแทน

          อย่างไรก็ตาม การชดใช้ค่าทดแทนตามกฎหมายระบุให้เรียกร้องได้ เช่น เพื่อทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง, ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการใช้จ่ายหรือตกเป็นลูกหนี้ในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร, ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวกับอาชีพการทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เช่น ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ การผิดสัญญาหมั้นมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น สิทธิเรียกร้องคำทดแทนมีอายุความนาน 6 เดือน ส่วนการเรียกร้องของหมั้นหรือสินสอด คือ มีความอายุความนาน 10 ปี


   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดความรู้...เมื่อผิดสัญญาหมั้นหมายกับสิ่งที่ควรจะทำ อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2556 เวลา 18:07:19 9,204 อ่าน
TOP