ภาพจาก shutterstock.com/aodaodaodaod
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
สำหรับพิธีแต่งงานแบบไทยในช่วงการแห่ขันหมากนั้น องค์ประกอบทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้ในขบวนขันหมากมักจะมีแต่ความหมายที่เป็นสิริมงคลทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ "ต้นกล้วย" และ "ต้นอ้อย" ซึ่งก็มีความหมายดี ๆ เหมือนกัน
เพราะต้นกล้วยและต้นอ้อยที่ใช้ในขบวนขันหมากแต่งงานนั้น มีความหมายในทางมงคล โดย อ้อย หมายถึงความหวาน ส่วน หน่อกล้วย หมายถึง ความเจริญงอกงาม ดังนั้น การขุดต้องให้ติดรากหรือมีตา และเลือกเอาต้นหรือหน่อที่สมบูรณ์ โดยขุดมาเป็นคู่ และนำมาประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีให้ดูสวยงาม ซึ่งคู่บ่าวสาวจะต้องทำการปลูกร่วมกันคล้ายกับเป็นการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง และหากต้นกล้วยเจริญเติบโตออกดอกออกผลสมบูรณ์ ต้นอ้อยเติบโตหอมหวาน เชื่อกันว่าความรักของหนุ่มสาวคู่นี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ความรักจะสดชื่นหอมหวานอยู่มิรู้คลาย อีกทั้งฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจก็สมบูรณ์พูนสุข
นอกจากนี้ เมื่อคนของฝ่ายเจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายเจ้าสาวแล้ว จะไม่ยอมมอบต้นกล้วยและต้นอ้อยให้โดยง่าย อาจถือหรืออุ้มถ่วงเอาไว้จนกว่าจะได้น้ำมารดเพื่อความเจริญงอกงาม บางทีก็ใช้น้ำมนต์หรือน้ำฝนสะอาด แต่น้ำที่ผู้อุ้มต้องการมากที่สุด คือ สุรา ดังนั้น ในวันยกขันหมากพวกคอสุราจะจับจองหรือขออาสาเป็นคนอุ้มต้นกล้วยต้นและอ้อย เพราะนอกจากจะได้น้ำอมฤตแล้ว ยังได้พูดจาหยอกเย้าต่อรองกับคนของฝ่ายเจ้าสาวเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552