x close

7 ธรรมเนียมและที่มาของงานแต่ง ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

แต่งงาน
ที่มาและธรรมเนียมการปฏิบัติต่าง ๆ ของงานแต่งงานที่ควรรู้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          แม้ฉากหน้าของงานแต่งงานจะเต็มไปด้วยความงดงามและบรรยากาศแสนโรแมนติกอย่างที่ทุกคนได้เห็นและสัมผัสกันบ่อย ๆ แต่ใครเลยจะรู้ว่างานแต่งงานมีอะไรมากมายซ่อนอยู่มากกว่าการเป็นพิธีมงคลสมรสเท่านั้น อีกทั้งหลายครั้งที่บ่าวสาวหลงประเด็นการจัดงานแต่งงานไป ดังนั้น เว็บไซต์ All Women Stalk ก็เลยรวบรวมงานแต่งงานแบบดั้งเดิม ที่มา และธรรมเนียมการแต่งงานสมัยเก่ามาให้อ่านกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้และเข้าถึงจุดประสงค์งานแต่งงานกันมากขึ้น

แต่งงาน

1. เพื่อนเจ้าสาว

          เรื่องของเพื่อนเจ้าสาวและจุดประสงค์ดั้งเดิมในเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการรักษาธรรมเนียมของงานแต่งงานมากทีเดียว ถึงแม้ในตอนนี้จะให้ความสำคัญกับการเลือกชุดของพวกเธอมากกว่าไปแล้วก็ตาม เพราะเมื่อย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าชุดของเพื่อนเจ้าสาวมีความใกล้เคียงกับชุดเจ้าสาวเป็นอย่างมาก เนื่องจากจุดประสงค์ที่แท้จริงของการแต่งตั้งเพื่อนเจ้าสาวขึ้นมา ก็เพื่อทำให้วิญญาณร้ายสับสน พร้อมกับปกป้องไม่ให้เจ้าสาวตกอยู่ใต้คำสาปของพวกมันนั่นเอง

แต่งงาน

2. ชุดแต่งงานสีขาว

          เนื่องจากในปี ค.ศ. 1840 สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้แสดงให้เห็นถึงความงดงามของชุดแต่งงานสีขาว นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาหญิงสาวทั่วโลกก็เลยนิยมเลือกสวมชุดแต่งงานสีขาวกันเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งสีขาวยังเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา และพรหมจรรย์ ดังนั้น กระแสของชุดแต่งงานสีขาวก็เลยยังคงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน

แต่งงาน

3. แหวนแต่งงาน

          เมื่อย้อนกลับไปครั้งกรุงโรมยังรุ่งเรือง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ชายสวมแหวนให้กับผู้หญิงมันก็จะหมายความว่า เขาผู้นั้นได้เป็นเจ้าของหญิงที่รักโดยสมบูรณ์ เนื่องจากในสมันนั้นแหวนเป็นสัญลักษณ์ของการครอบครอง อีกทั้งยังเชื่อว่าเส้นเลือดดำของนิ้วนางข้างซ้ายเชื่อมต่อกับหัวใจโดยตรง ก็เลยเป็นเหตุที่ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมแหวนแต่งงานต้องสวมที่นิ้วนางข้างซ้ายเท่านั้น

4. ปาร์ตี้สละโสด

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าธรรมเนียมการเลี้ยงฉลองก่อนสละโสดจะมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล และก่อกำเนิดขึ้นโดยชาวสปาร์ตัน โดยในคืนก่อนที่ชายชาวสปาร์ตันจะเข้าพิธีแต่งงาน พวกเขาจะมีการจัดปาร์ตี้ให้กับชายคนนั้นแบบชายโสดเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเชื่อหรือจุดประสงค์อื่นใด นอกเสียจากการเลี้ยงฉลองกันในหมู่เพื่อนฝูงเหมือนดังเช่นปาร์ตี้สละโสดในยุคปัจจุบันเท่านั้น

แต่งงาน

5. ช่อดอกไม้เจ้าสาว

          ในอดีตช่อดอกไม้เจ้าสาวทำจากสมุนไพรและพืชที่มีความเผ็ดร้อน เช่น กระเทียมหรือผักชีลาวเท่านั้น ส่วนสาเหตุก็เพื่อปัดรังควานจากการรบกวนของวิญญาณชั่วร้าย พร้อมกับปกป้องเจ้าสาวจากโรคภัยต่าง ๆ เท่านั้น โชคดีที่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปวัสดุที่นำมาประกอบเป็นช่อดอกไม้เจ้าสาวเริ่มมีความสวยงาม และดีไซน์ที่เก๋ไก๋มากขึ้นจากการนำดอกไม้ที่มีสีสวย ๆ หรือกลิ่นหอม ๆ มาจัดช่อนั่นเอง

6. การโปรยข้าวสาร

          นอกจากนี้ ในอดีตเมล็ดข้าวเป็นสัญลักษณ์ของเมล็ดแห่งชีวิต ดังนั้น พวกเขาก็เลยใช้การโปรยข้าวสารหลังจากที่บ่าวสาวเดินออกมาจากโบสถ์ เพื่อเป็นการอวยพรให้ทั้งคู่โชคดี ประสบความสำเร็จในการครองคู่ และมีชีวิตแต่งงานที่สมบูรณ์พูนสุข ซึ่งธรรมเนียมนี้ก็ยังนิยมปฏิบัติกันมาถึงปัจจุบัน แต่อาจไม่ค่อยได้เห็นการโปรยข้าวสารบ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นการโปรยริบบิ้นหรือกระดาษสีแทน

7. อุ้มเจ้าสาวข้ามธรณีประตู

          ส่วนการอุ้มเจ้าสาวข้ามธรณีประตูก็แบ่งออกเป็น 2 จุดประสงค์ด้วยกัน โดยคนส่วนหนึ่งก็ทำเพื่อปกป้องเจ้าสาวของพวกเขาจากวิญญาณชั่วร้าย ในขณะที่ผู้คนบางกลุ่มก็ทำเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าสาวสูญเสียพรหมจรรย์เร็วเกินไป แต่สำหรับในตอนนี้คนส่วนใหญ่มองว่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและโรแมนติกที่สุดไปแล้ว

          องค์ประกอบต่าง ๆ ของงานแต่งงานล้วนมีที่มาที่น่าสนใจด้วยกันทั้งนั้น อีกทั้งยังช่วยไขข้อข้องใจเรื่องราวและที่มาของงานแต่งงานในหลาย ๆ ส่วนได้เป็นอย่างดีด้วย ก็หวังว่าที่มาและธรรมเนียมการปฏิบัติต่าง ๆ ของงานแต่งงานที่เว็บไซต์ All Women Stalk ได้นำเสนอไปทั้งหมดนี้ จะช่วยให้บ่าวสาวทุกคู่เข้าถึงจุดประสงค์ของการจัดงานแต่งงานกันมากขึ้นนะคะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 ธรรมเนียมและที่มาของงานแต่ง ไม่รู้ไม่ได้แล้ว อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2557 เวลา 17:22:13 4,641 อ่าน
TOP