สมรสเท่าเทียมคืออะไร
เนื่องจากปัจจุบันคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมายของไทย ที่ใช้มายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2519 จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2563 ได้มีการผลักดันให้เกิด #สมรสเท่าเทียม ขึ้นอย่างจริงจัง โดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล และคณะฯ ได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการร่างแก้ไข ปพพ. มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องใน ปพพ. ที่มีเงื่อนไขเดิม อนุญาตการหมั้นและการสมรส “เฉพาะชายและหญิง” เปลี่ยนเป็นให้ “บุคคลทั้งสอง” ได้การรับรองสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคน คู่รักหลากเพศ หรือ LGBTQ เกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ระบุว่า รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว
พ.ร.บ.คู่ชีวิต VS สมรสเท่าเทียม ต่างกันอย่างไร
เมื่อสังคมเริ่มตระหนักถึงความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น จึงมีการเริ่มผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีอยู่ 2 แนวทางหลักด้วยกัน
1. เสนอให้ยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (พ.ร.บ.คู่ชีวิต) ออกมาเป็นกฎหมายแยกต่างหาก เพื่อรับรองสิทธิตามกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกันเป็นการเฉพาะ
ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้เกิดศัพท์ของของ LGBTQ ในทางกฏหมาย โดยมีการแก้ไขปรับปรุงมาแล้วหลายร่าง จนถึงมาร่างที่ 6 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว และปรับเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของคู่ชีวิตในระดับที่ใกล้เคียง กับ คู่สมรส เช่น คู่ชีวิตสามารถเข้าถึงทรัพย์สินร่วมกัน และร่วมกันทำธุรกรรมได้ เช่น กู้ซื้อบ้านร่วมกัน อุปการะบุตรบุญธรรม การฟ้องหย่าได้เหมือนคู่สมรส และ ฟ้องร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู รวมทั้งการรับมรดกตามกฎหมาย ในกรณีที่คู่รักเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม มีสิทธิบางอย่างที่คู่ชีวิตยังไม่ได้รับ เช่น สิทธิการรับสวัสดิการ ถ้าอีกฝ่ายเป็นข้าราชการ และการขอสัญชาติไทยให้กับคู่ชีวิต
2. เสนอให้แก้ไข ปพพ. บรรพ 5 ว่าด้วยการสมรสที่แต่เดิมระบุเพียง ชาย-หญิง ให้ทุกเพศสามารถสมรสได้ตามกฎหมาย เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม
แม้ตอนนี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะผ่านมติ ครม. แล้วก็จริง แต่แทนที่จะออกกฎหมายเพื่อใช้สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ การกฎหมายคู่สมรส หรือ มาตรา 1448 น่าจะเป็นทางออกที่ตรงจุดกว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็จะได้สิทธิ์ในฐานะคู่สมรสเหมือนกันหมดแบบ 100% ทำไมคนที่รักเพศเดียวกันจึงต้องเลี่ยงไปใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ได้สิทธิน้อยกว่าคู่รักชาย-หญิง ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยเหมือนกัน
ดังนั้นในเวลานี้ จึงเป็นการต่อสู้กันของสองกลุ่มความคิด ซึ่งก็มีคนสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือรับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และฝ่ายที่สองคือ ไม่รับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ไปแก้ไขมาตรา 1448 แทน ซึ่งการแก้กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านหลายขั้นตอน อาจกินเวลาหลายปีและไม่รู้ว่าสุดท้ายจะได้รับการอรุมัติหรือไม่
สำหรับแนวทางการกำหนดกฎหมายแยกคือร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับการแก้ไขกฎหมายเดิม ปพพ. ว่าด้วยการสมรส มีข้อเปรียบเทียบที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก iLawClub
กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย มีสาระสำคัญอะไรบ้าง
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก iLawClub
สมรสเท่าเทียม ประโยชน์ที่จะได้รับมีอะไรบ้าง
หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา กฎหมายไทยก็จะยอมรับการจดทะเบียนสมรสของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และคู่สมรสทุกเพศก็จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทั้งด้านสวัสดิการและด้านต่าง ๆ อย่างเช่น
- สิทธิและหน้าที่ในการหมั้นและรับหมั้น
- หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันและกัน
- หน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาล/ผู้พิทักษ์ ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะ
- สิทธิดำเนินคดีอาญาแทนคู่อีกฝ่าย
- สิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
- สิทธิการให้และรับมรดก
- สิทธิในการเลิกเป็นคู่ (หย่า) โดยเหตุแห่งความยินยอมของอีกฝ่าย
- สิทธืรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
- สิทธิในการเซ็นยินยอมรักษาพยาบาล
- สิทธิในการจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต
- สิทธิรับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรส
- สิทธิในการใช้นามสกุลร่วมกับอีกฝ่าย
- สิทธิในการเปลี่ยนสัญชาติอีกฝ่ายเป็นสัญชาติไทย
- สิทธิในการขอวีซ่าเดินทางในฐานะคู่สมรส
การสมรสเท่าเทียม เป็นวิธีหนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายเก่า ๆ ให้ทันโลกทันสมัย และอาจส่งผลให้เปลี่ยนแปลงค่านิยมเก่าที่ทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศได้ ซึ่งทุกการเคลื่อนไหวจะนำไปสู่ความเข้าใจของคนในสังคม และทำให้เรื่องความเท่าเทียมชัดเจนยิ่งขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับอีก 30 ประเทศทั่วโลก ที่ยอมรับการสมรสเท่าเทียมแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : constitutionalcourt.or.th, parliament.go.th, ilaw.or.th, เฟซบุ๊ก สมรสเท่าเทียม Marriage Equality