จดทะเบียนสมรส เรื่องสำคัญที่คู่บ่าวสาวควรรู้

         จดทะเบียนสมรส ใช้อะไรบ้าง สำหรับหนุ่มสาวที่กำลังถกเถียงหรือลังเลเรื่องการจดทะเบียนสมรส ลองอ่านเรื่องความสำคัญของทะเบียนสมรส และประโยชน์ของทะเบียนสมรสที่เรานำมาฝากกันก่อนดีกว่า

จดทะเบียนสมรส

         เชื่อว่าว่าที่คู่บ่าวสาวที่กำลังจะจัดงานแต่งงานหรือเข้าพิธีวิวาห์คงมีการพูดคุยกันเรื่อง "จดทะเบียนสมรส" เช่น จะจดทะเบียนสมรสดีไหม, จดกับไม่จดแตกต่างกันอย่างไร, การจดทะเบียนสมรสมีขั้นตอนยุ่งยากหรือเปล่า หรือทะเบียนสมรสมีผลดีต่อชีวิตคู่และทายาทอย่างไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งบางคู่เข้าใจตรงกัน บางคู่เข้าใจแตกต่างกัน ดังนั้น วันนี้เราจึงนำข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสมาบอกเล่ากันค่ะ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส


         จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ และต้องนำบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาให้ความยินยอมด้วย กรณีที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง

          - ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ

          - ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา

          - ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น

          - ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้

         หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น, สมรสกับคู่สมรสเดิม, มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์, ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้, ชาย-หญิงที่มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส


          - บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้

          - สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ

          - หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล (กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)

          - สำเนาทะเบียนบ้าน

จดทะเบียนสมรส
ภาพจาก : AUWAE PHOTO / Shutterstock.com

ขั้นตอนในการขอจดทะเบียนสมรส


          - การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส

          - คู่สมรสยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขตใดก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส

          - คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องนำบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอม

          - คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนต่างด้าว ต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือกงสุลสัญชาติที่ตนสังกัด หนังสือรับรองนั้นต้องแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรอง การแปลถูกต้อง ยื่นพร้อมคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต

ค่าธรรมเนียม

         การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท พร้อมจัดยานพาหนะรับ-ส่งนายทะเบียน การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล เสียค่าธรรมเนียม 1 บาท


ทะเบียนสมรสสำคัญอย่างไร


         การจดทะเบียนสมรสและทะเบียนสมรสมีความสำคัญต่อคู่แต่งงาน สามีภรรยา เพราะเป็นเอกสารทางกฎหมายที่ใช้สำหรับยืนยันความสัมพันธ์ และเป็นหลักฐานที่ใช้สำหรับการยืนยันสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา เช่น การรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้บุตรได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย การแบ่งสินสมรส การฟ้องหย่าในกรณีสามีหรือภรรยามีชู้ เป็นต้น

         การจดทะเบียนสมรสและทะเบียนสมรสอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับสามีภรรยาบางคู่ ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น คู่สามีภรรยาที่ทำธุรกิจ หรือนักการเมือง ซึ่งการจดทะเบียนสมรสทำให้ต้องมีการตรวจสอบทางบัญชีการเงินของทั้งสามีภรรยา เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรืออาจเกิดการฟ้องร้องได้ การแต่งงานแบบนี้จึงอาจไม่มีทะเบียนสมรสโดยความยินยอมและตกลงของสามีภรรยาเอง แต่ในขณะเดียวกันการแต่งงานโดยไม่จดทะเบียนสมรสก็กลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้สามีหรือภรรยาโอนทรัพย์สินของตัวเองไปยังบัญชีของอีกฝ่าย เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบหรือการเสียภาษีได้เช่นกัน

จดทะเบียนสมรส

ประโยชน์ของทะเบียนสมรส


          1. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน นั่นหมายความว่าสามีจะหาเลี้ยงภรรยา หรือภรรยาจะหาเลี้ยงสามี หรือจะช่วยดูแลกันและกันก็ได้

          2. การจดทะเบียนสมรสทำให้หญิงหรือภรรยามีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลของสามี หรือจะไม่ใช้ก็ได้

          3. การจดทะเบียนสมรสทำให้หญิงต่างชาติมีสิทธิ์ขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้ (ถ้าอยากถือสัญชาติไทย)

          4. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยามีสิทธิ์จัดการสินสมรสร่วมกัน (ทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส)

          5. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยามีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน

          6. การจดทะเบียนสมรสทำให้มีสิทธิ์รับเงินจากทางราชการหรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสเสียชีวิตเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือการรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน

          7. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยามีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้ เช่น สามีโดนรถชน ภรรยาสามารถเรียกค่าเสียหายถึงชีวิตกับผู้ขับรถชนได้

          8. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยาสามารถหึงหวงคู่สมรสของตัวเองได้อย่างออกหน้าออกตาตามกฎหมาย และหากพบว่าคู่สมรสมีชู้ สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสของตัวเอง และเรียกค่าเสียหายได้จากชู้ด้วย

          9. การจดทะเบียนสมรสทำให้บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้นามสกุลพ่อได้ สมัครเข้าเรียนได้ และรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ (บุตรเป็นสิทธิ์ตามชอบธรรมของแม่อยู่แล้ว)

          10. การจดทะเบียนสมรสทำให้ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้

          11. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยาที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย

          12. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยาฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น ภรรยาโดนกระชากกระเป๋า สามีสามารถแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนร้ายได้ หรือสามีโดนคนพูดจาหมิ่นประมาทว่าร้าย ภรรยาก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทฝ่ายตรงข้ามแทนสามีได้

จดทะเบียนสมรส

ทะเบียนสมรสมีผลทางกฎหมายนานแค่ไหน อายุของทะเบียนสมรส


         การจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทะเบียนสมรสก็จะมีผลทางกฎหมายหรือมีอายุยาวตลอดไปจนกว่าจะมีการจดทะเบียนหย่า ซึ่งการจดทะเบียนหย่าก็เป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย หรือถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องมีการฟ้องหย่าโดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เพื่อใช้เหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบ รวมถึงการหาข้อตกลงต่าง ๆ เช่น การแบ่งสินสมรส สิทธิการดูแลบุตร ค่าเลี้ยงดู เป็นต้น

 การจดทะเบียนสมรสซ้อน


         ตามกฎหมายระบุว่า การจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้นผิดกฎหมาย และไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เช่น หนุ่มเอจดทะเบียนสมรสกับสาวบี แล้วอีกไม่นานหนุ่มเอก็ไปจดทะเบียนสมรสกับสาวซี แบบนี้เรียกว่าจดทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งกฎหมายระบุว่า การจดทะเบียนสมรสครั้งหลังเป็นโมฆะ หากการจดทะเบียนสมรสครั้งแรกยังไม่มีการจดทะเบียนหย่าที่สมบูรณ์ และภรรยาที่จดทะเบียนสมรสซ้อนจะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าหนุ่มเอลักไก่ด้วยการจดทะเบียนสมรสไว้กับสาวทั้งสองคน แต่อยู่ ๆ หนุ่มเอจดทะเบียนหย่ากับสาวบี แล้วไปอยู่กับสาวซี กฎหมายก็ไม่ให้สิทธิเช่นกัน เพราะถือว่าหนุ่มเอและสาวซีจดทะเบียนสมรสซ้อนในช่วงที่ยังมีการจดทะเบียนสมรสตัวจริงอยู่

บริการตรวจสอบทะเบียนสมรส


         ทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ khonthai.com หรือที่กรมการปกครองงานทะเบียนสมรส สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 1548

         พอจะทราบความสำคัญและประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรสหรือใบทะเบียนสมรสกันแล้ว ใครที่กำลังจะแต่งงาน หรือแต่งงานไปแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลองกลับมาทบทวนกันอีกครั้งค่ะว่าจริง ๆ แล้วการจดทะเบียนสมรสดีกับเราหรือไม่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและเหตุผลของแต่ละคนและแต่ละคู่ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : bora.dopa.go.th, dopa.go.thwebportal.bangkok.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จดทะเบียนสมรส เรื่องสำคัญที่คู่บ่าวสาวควรรู้ อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 00:12:11 294,371 อ่าน
TOP
x close