จดทะเบียนสมรส กี่วันหย่าได้ คลายข้อสงสัย เมื่อชีวิตคู่มีเหตุต้องแยกทาง

          จดทะเบียนสมรส กี่วันหย่าได้ คลายข้อสงสัยให้คู่แต่งงานที่มีปัญหา ว่าหากจดทะเบียนสมรสไปแล้ว ต้องรอระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะจดทะเบียนหย่าได้ มาดูกัน
จดทะเบียนสมรส

          การคบกันเป็นเพียงมายา ชีวิตคู่หลังแต่งงานคือเรื่องจริง มีคู่รักหลายต่อหลายคู่ที่ตอนคบกันไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันตลอดเวลากลับเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้น หลายคนแต่งงานกันไปแล้วก็ต้องหย่าภายหลัง หรือมีเหตุให้จำเป็นต้องหย่า แต่ถ้าเพิ่งจดทะเบียนสมรสกันไปได้ไม่นานล่ะ จะจดทะเบียนหย่าได้เลยหรือไม่ กระปุกดอทคอมจะพาไปคลายข้อสงสัย จดทะเบียนสมรส กี่วันหย่าได้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับคู่รักที่ถึงทางตันกันค่ะ

จดทะเบียนสมรส กี่วันหย่าได้

          การจดทะเบียนสมรสแล้วจะไปจดทะเบียนหย่านั้น ไม่มีข้อกฎหมายระบุว่าต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วกี่วันถึงทำการหย่าได้ ต่างจากการหย่าแล้วไปจดทะเบียนสมรสใหม่ที่ฝ่ายชายสามารถทำได้ทันที แต่ฝ่ายหญิงต้องผ่านการหย่ามาแล้ว 310 วัน ทั้งนี้ หมายความว่า ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสมาแล้วกี่วันก็สามารถไปจดทะเบียนหย่าได้เลยหากทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมกันเรียบร้อยแล้ว แต่หากต้องการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าภายในวันเดียวกันเพื่อแก้เคล็ดหรือแก้สลักหลังเรื่องการเลี้ยงดูบุตร อาจทำไม่ได้ เพราะหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วต้องรอให้ข้อมูลเข้าระบบออนไลน์ก่อน ดังนั้นจึงต้องกลับมาจดทะเบียนหย่าในวันรุ่งขึ้นแทน

จดทะเบียนหย่า ต้องเตรียมอะไรบ้าง

          หลังจากที่จดทะเบียนสมรสไปแล้วและต้องการหย่า ต้องผ่านการตกลงและยินยอมจากทั้งสองฝ่ายเสียก่อน ซึ่งการหย่าโดยความยินยอมนั้นจะต้องไปจดทะเบียนพร้อมพยาน 2 คน หากพยานไม่ครบ 2 คนจะถือว่าการหย่ายังไม่เป็นผล และต้องไปจดที่สำนักทะเบียนอำเภอ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไป อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ขอให้ศาลสั่งได้ โดยการหย่าจะต้องมีเอกสารดังนี้
 

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบสำคัญการสมรส
  • หนังสือหย่าหรือหนังสือสัญญาหย่า
จดทะเบียนสมรส

ถ้าคู่สมรสไม่ยอมหย่า จะทำยังไงดี

          หากคู่สมรสไม่ยอมหย่า สามารถยื่นมูลฟ้องต่อศาลได้ แต่ต้องไปแสดงตัวต่อศาลด้วยตนเอง โดยมูลเหตุในการหย่าทั่วไปที่สามารถยื่นฟ้องได้ มีดังนี้
 

  • แยกกันอยู่เป็นระยะเวลา 3 ปี
  • คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทอดทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งนานกว่า 1 ปี
  • สามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภรรยาหรือสามี
  • สามีเป็นชู้หรือภรรยามีชู้
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำความผิด (ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่)
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปี
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำร้ายร่างกายหรือจิตใจอีกฝ่ายหนึ่ง
  • ไม่เลี้ยงดูอุปการะคู่สมรสตามสมควร
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความวิกลจริตที่ไม่อาจรักษาได้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประพฤติที่ไม่ดี
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่อที่ไม่สามารถรักษาได้
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ฉันสามีภรรยา


          เมื่อชีวิตคู่ไปกันไม่รอดก็จำเป็นที่จะต้องเลิกรากันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถึงอย่างนั้นก่อนทำอะไรก็ควรตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ทั้งการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่า เพราะหากทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบอาจมีเหตุให้ต้องมาแก้ไขปัญหากันภายหลัง ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากนั่นเอง
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : bora.dopa.go.th, thailawonline.com, lawfirm.in.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จดทะเบียนสมรส กี่วันหย่าได้ คลายข้อสงสัย เมื่อชีวิตคู่มีเหตุต้องแยกทาง อัปเดตล่าสุด 11 เมษายน 2565 เวลา 17:46:44 23,191 อ่าน
TOP
x close