x close

การหมั้น หมายถึงอะไร สำคัญแค่ไหนกับการเริ่มต้นชีวิตคู่

          การหมั้น ประเพณีสำคัญที่มักจะจัดขึ้นก่อนพิธีแต่งงานของคนไทย มาทำความเข้าใจว่า การหมั้นคืออะไร หมั้นต้องใช้อะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไรจึงถือว่าสมบูรณ์ตามกฎหมาย
พิธีหมั้นแบบไทย

          ตามธรรมเนียมประเพณีไทย ก่อนที่คู่รักจะตกลงปลงใจร่วมชีวิตคู่และจัดพิธีแต่งงานอย่างถูกต้อง ทางผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมักจะให้มี “การหมั้น” ขึ้นก่อน เพื่อเป็นการมั่นหมายจับจองกันเอาไว้ ซึ่งพิธีหมั้นแบบไทยนั้นก็จะมีการสวมแหวนหมั้น เสมือนให้คำมั่นสัญญาและเป็นหลักประกันว่าคู่รักคู่นี้จะแต่งงานกันแน่นอน อีกทั้งต่อจากการหมั้นยังเป็นช่วงเวลาให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสศึกษาอุปนิสัยใจคอ และเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากขึ้นโดยไม่ผิดจารีตประเพณี เพราะได้มีการหมั้นหมายไว้แล้ว ทั้งนี้ หลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่า การหมั้นหมายถึงอะไร จำเป็นไหมที่จะต้องหมั้นก่อนแต่ง หรือมีเงื่อนไขในการหมั้นอย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อสงสัยให้ค่ะ

การหมั้นคืออะไร

          การหมั้น หมายถึง การที่ชายและหญิงได้ทำสัญญาว่าจะทำการสมรส อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา แต่กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องมีการหมั้นก่อนการสมรส ดังนั้นจึงสามารถสมรสกันได้โดยไม่ต้องมีการหมั้นก็ได้ และการหมั้นจะไม่ทำให้สถานะของหญิงชายตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป

เงื่อนไขการหมั้น

          การที่ผู้ใดจะทำการหมั้นนั้น กฎหมายกำหนดเงื่อนไขไว้ 2 ประการ คือ
  • ทั้งสองฝ่ายต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากคนใดอายุต่ำกว่า 17 ปี การหมั้นนั้นเป็นโมฆะ
  • กรณีการหมั้นของผู้เยาว์ (บุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์) ต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้รับบุตรบุญธรรม มิฉะนั้นการหมั้นเป็นโมฆียะ
          แต่ทั้งนี้ ไม่สามารถฟ้องบังคับให้มีการสมรสได้ ถึงจะมีการหมั้นแล้วก็ตาม

การหมั้นจะสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อใด

          การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ดังนั้น “ของหมั้น” จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้สัญญาหมั้นเกิดขึ้นสมบูรณ์หรือไม่นั่นเอง โดยองค์ประกอบสำคัญคือต้องมีการส่งมอบให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว เมื่อหมั้นเสร็จเรียบร้อยให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ฝ่ายหญิง
  • ข้อควรรู้ : ของหมั้นต้องเป็นของฝ่ายชายที่ให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงเท่านั้น ทรัพย์สินที่หญิงให้แก่ชายจึงไม่ถือเป็นของหมั้น และไม่ทำให้การหมั้นนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย

หมั้นต้องใช้อะไรบ้าง

  1. ของหมั้น ได้แก่ ทรัพย์สิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ให้ความหมายว่า ทรัพย์สินหมายความรวมถึงทรัพย์ (วัตถุมีรูปร่าง) และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ เช่น แหวนเพชร ทองคำ หรือโฉนดที่ดินก็ได้ แต่ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการโอนโดยถูกต้องตามกฎหมาย
  2. พิธีหมั้น ต้องมีการส่งมอบหรือโอนของหมั้นให้แก่หญิงโดยฝ่ายชาย เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงในอนาคต ซึ่งพิธีหมั้นแบบไทยไม่ต้องมีการแห่ขบวนขันหมาก แต่อาจจะมีขันหมากหมั้น ที่เรียกว่า ขันเงิน และขันทอง ซึ่งข้างในนอกจากจะมีทรัพย์สินและของมีค่าที่เป็นของหมั้น ยังมีหมากดิบ 8 ลูก, พลู 8 เรียง, ถั่วเขียว 1 ถุง, ข้าวเปลือก 1 ถุง, งาดำ 1 ถุง, ข้าวตอก 1 ถุง, ใบเงิน, ใบทอง และใบนาก สำหรับไหว้ญาติผู้ใหญ่และทำการหมั้นหมายฝ่ายหญิงให้ถูกต้องตามประเพณี
พิธีหมั้นแบบไทย

ขั้นตอนพิธีหมั้นแบบง่าย ๆ

  1. สู่ขอ เมื่อถึงวันกำหนดการหมั้น ผู้ใหญ่ฝ่ายชายพร้อมด้วยว่าที่เจ้าบ่าวจะไปที่บ้านของฝ่ายหญิงเพื่อทำพิธีหมั้น โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ฝ่ายชายเจรจาสู่ขอกับครอบครัวของฝ่ายหญิง
  2. รับหมั้น หลังจากเจรจาสู่ขอและตกลงหมั้นกันแล้วก็จะเริ่มการรับหมั้น โดยคุณพ่อคุณแม่และคนเฒ่าคนแก่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันโปรยวัตถุมงคล เช่น ถั่ว, งา, ข้าวตอก, ดอกไม้ ลงบนของหมั้น พร้อมกับกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล
  3. สวมแหวนหมั้น เมื่อได้ฤกษ์มงคล ฝ่ายชายจะสวมแหวนหมั้นให้กับฝ่ายหญิง (ถ้ามีสร้อยหรือกำไลข้อมือจะสวมมอบให้ว่าที่เจ้าสาวด้วยก็ได้) เพื่อเป็นการประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่าหญิงและชายคู่นี้เป็นคู่หมั้นคู่หมายกันแล้ว และจะทำพิธีแต่งงานกันในอนาคต จากนั้นฝ่ายหญิงจะกราบลงที่ตักหรือไหว้ที่ไหล่ของฝ่ายชาย และคู่หมั้นทั้งคู่ถึงไปกราบผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย จึงจะเป็นอันเสร็จพิธีหมั้นตามประเพณี

สินสอด กับ ของหมั้น ต่างกันยังไง

          ของหมั้น หมายถึง ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้กับหญิงคู่หมั้น จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ และยังอาจหมายรวมถึงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีราคาและถือเอาได้ด้วย เช่น ลิขสิทธิ์ โดยของหมั้นนั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง
           สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสด้วย
          ดังนั้นจึงเข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า ของหมั้นนั้นมอบให้ฝ่ายหญิง สิทธิตกเป็นของฝ่ายหญิงหลังจากการหมั้นทันที และถ้าในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย ส่วนสินสอดนั้นจะมอบให้แก่ครอบครัวของฝ่ายหญิง ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้
          ปัจจุบันการหมั้นมักถูกรวบเข้ากับพิธีแต่งงานในวันเดียวกัน เพราะนอกจากจะประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดงานด้วย แต่สำหรับคู่ที่ต้องการหมั้นไว้ก่อน การได้รู้หลักกฎหมายการหมั้นเอาไว้ก็จะได้ประโยชน์ไม่น้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การหมั้น หมายถึงอะไร สำคัญแค่ไหนกับการเริ่มต้นชีวิตคู่ อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 16:32:11 58,191 อ่าน
TOP