x close

ฟ้องหย่าเรียกร้องอะไรได้บ้าง สิทธิที่ควรรู้ก่อนหย่าร้าง

          ฟ้องหย่าเรียกร้องอะไรได้บ้าง เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยกับคู่ที่กำลังเตรียมเรื่องหย่าร้าง มาคลายความสงสัยกันว่า หย่าแล้วได้อะไร เรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินส่วนใดได้บ้าง

          หากชีวิตคู่เดินไปต่อด้วยกันไม่ได้ ก็ถึงจุดที่จะต้องจบลง ซึ่งมีทั้งจากกันด้วยดีและไม่ดี ถ้าจากกันด้วยดีนั้นก็อาจจะตกลงกันไปจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอม กลับกันถ้าจากกันไม่ดี โดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมจบหรือหย่าให้แต่โดยดี ก็จำเป็นที่จะต้องฟ้องหย่าเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหย่าขาดจากกัน ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ ฟ้องหย่าเรียกร้องอะไรได้บ้าง ? เพราะงานนี้หลายคนก็ขอรับคำขอโทษเป็นเงินสดเท่านั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาเฉลยคำตอบเพื่อเป็นแนวทางสำหรับคู่สามี-ภรรยา ที่กำลังตัดสินใจเรื่องหย่าร้างให้ได้ทราบข้อมูลสำคัญ ก่อนดำเนินคดีฟ้องหย่าค่ะ

เหตุฟ้องหย่ามีอะไรบ้าง

          ก่อนอื่นเรามาดูเหตุแห่งการหย่ากันสักนิด โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 กำหนดไว้ว่าสามร-ภรรยาจะฟ้องหย่าได้ ต้องอยู่ในมูลเหตุตามนี้

          (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

  • (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
  • (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
  • (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึง  ประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

  • (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
  • (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ฟ้องหย่าเรียกร้องอะไรได้บ้าง

          เมื่อทำความเข้าใจแล้วเห็นว่ากรณีของคู่เราเข้าข่าย มีเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้ ขั้นตอนต่อไปเราควรทราบว่าฟ้องหย่าแล้วได้อะไร นอกจากการมอบอิสระแก่กัน แต่ละฝ่ายยังมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอย่างไรบ้าง

1. ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทน

          สำหรับการฟ้องหย่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นยอดนิยมก็คือ “หย่าเพราะมีชู้” ซึ่งในกรณีนี้สามีและภรรยาทั้งสองฝ่ายสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรส และ ชายหรือหญิงที่เป็นชู้ได้ หรือหากไม่อยากฟ้องหย่า ก็ยังสามารถเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้เช่นกัน

  • ไม่หย่า = เรียกค่าทดแทนได้จากชู้เท่านั้น
  • ฟ้องหย่า = เรียกค่าทดแทนได้จากคู่สมรสและชู้
          แต่ในทั้งสองกรณี จะเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ชัดเจนได้ว่า ชายหรือหญิงที่เข้ามามีสัมพันธ์กับคู่สมรสของเราในทำนองชู้สาวนั้นทราบว่าคู่ชู้มีสามีหรือภรรยาแล้ว นอกจากนี้ ยังเรียกค่าทดแทนจากคู่หย่าได้ในอีกหลายกรณี เช่น ทำร้าย ร่างกาย ดูหมิ่นเหยียดหยามบิดามารดาของคู่หย่าอย่างร้ายแรง จงใจทิ้งร้างไปเกิน 1 ปี ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควร หรือทำการเป็นปฎิปักษ์ ต่อการเป็นสามีภรรยา หากคู่หย่ากระทำการเหล่านี้ หรือจงใจทำเพื่อให้อีกฝ่ายฟ้องหย่า คุณสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้
          ส่วนค่าทดแทนควรจะเป็นเงินเท่าไร กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพียงกว้าง ๆ ว่า ให้ศาลวินิจฉัยตามควร แก่พฤติการณ์แห่งคดี ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1525 โดยประเด็นที่จะหยิบยกมาวินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องฐานะทางสังคม การศึกษา อาชีพ รายได้ แต่งงานกันมานานแค่ไหน มีการจัดงานแต่งหรือไม่ มีบุตรด้วยกันหรือไม่ พฤติการณ์ในการเป็นชู้เปิดเผยมากแค่ไหน เป็นต้น

2. ฟ้องแบ่งสินสมรส

          สินสมรส คือทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส บำเหน็จ บำนาญ ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล ยกเว้นทรัพย์สินที่ได้รับโดยเสน่หา และทรัพย์สินที่ได้รับมรดกมา ซึ่งธรรมดาแล้วในกรณีที่มีสินสมรสด้วยกัน เราสามารถฟ้องแบ่งหรือเรียกร้องให้แบ่งสินสมรสไปพร้อมกันในคราวเดียวกันเลย

วิธีแบ่งสินสมรส

  • ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า โดยได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่า ๆ กัน ส่วนทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น
  • หากมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป
  • หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป
  • เทคนิคการฟ้อง : หากสินสมรสส่วนใหญ่อยู่ที่ฝ่ายเรา เรามักจะไม่ฟ้องร้องขอแบ่งสินสมรส เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการทำคดี คนจึงไม่นิยมกัน

3. ฟ้องขออำนาจปกครองบุตร

          โดยทั่วไปแล้ว เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน ศาลต้องมีการกำหนดว่าอำนาจการปกครองควรจะอยู่กับใคร ซึ่งจะพิจารณาความสุขและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าเราอยากเลี้ยงดูบุตร ก็สามารถฟ้องขออำนาจให้บุตรอยู่กับเราได้

4. ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร

          ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เมื่อบุตรมาอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า ก็ต้องมีค่าอุปการะเลี้ยงดู ฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรตามสมควรไปพร้อมกับการฟ้องหย่าได้ด้วย จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ (อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์) หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ยกเว้นทุพลภาพและยังหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ประกอบด้วย

  • ค่าที่พักอาศัย
  • ค่าอาหาร
  • ค่าเสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็น
  • ค่าศึกษาเล่าเรียน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
  • ค่ารักษาพยาบาล ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร ค่าวัคซีน
  • ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
  • ค่าใช้จ่ายประจำวัน

          ทั้งนี้ การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใดไม่มีกฎตายตัว ศาลจะพิจารณาตามความเหมาะสม

5. ฟ้องค่าเลี้ยงชีพ

          ก่อนสมรส ฝ่ายหนึ่งอาจมีอาชีพการงาน แต่หลังจากแต่งงานแล้วไม่ได้ทำ ลาออกจากงานมาดูแลครอบครัว ทว่าเมื่อหย่ากันแล้ว ฝ่ายที่ยากจนลงก็จะมีปัญหา เพราะแต่ก่อนเคยได้เงินจากคู่สมรส เกิดเป็นความเสียเปรียบและเดือดร้อนขึ้น ดังนั้นถ้าเหตุหย่านั้นเกิดจากความความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น มีชู้ ละทิ้งคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่ามีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย โดยมีหลักเกณฑ์คือ
  • การฟ้องหย่า ต้องเกิดจากความผิดของอีกฝ่ายเท่านั้น
  • การหย่า ต้องทำให้ฝ่ายเรายากจนลงหรือไม่มีรายได้
  • การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องฟ้องพร้อมกับการหย่า ถ้าไม่ได้ฟ้อง จะมาเรียกร้องภายหลังไม่ได้
          ค่าเลี้ยงชีพนี้จะหมดไปเมื่อสมรสใหม่และโดยคำสั่งเพิกถอนของศาล พ่อหม้ายแม่หม้ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพจากอดีตคู่สมรส จึงไม่นิยมจดทะเบียนสมรสกับคนใหม่ เพื่อรักษาสิทธิค่าเลี้ยงชีพเอาไว้
          การฟ้องหย่า รวมถึงคดีครอบครัวอื่น ๆ การพูดคุย เจรจาไกล่เกลี่ย หรือตกลงเรื่องค่าชดเชยตั้งแต่แรก ถือเป็นทางออกทีดีที่สุดกับทุกฝ่าย แต่หากตกลงกันไม่ได้ การรู้สิทธิและข้อเรียกร้องทางกฎหมายก็จะช่วยให้คุณได้เปรียบในการฟ้องหย่ามากขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฟ้องหย่าเรียกร้องอะไรได้บ้าง สิทธิที่ควรรู้ก่อนหย่าร้าง อัปเดตล่าสุด 23 มิถุนายน 2566 เวลา 17:54:01 16,496 อ่าน
TOP