ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง กับกระแส #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทวิตเตอร์ ซึ่งเสียงคัดค้านนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายรองรับการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ โดยกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ขณะที่วันถัดมา ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ได้หยิบขึ้นมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง โดยล่าสุด ที่ประชุมรัฐสภาฯ มีมติรับหลักการทั้ง 4 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำไปสู่การสมรสเท่าเทียมแล้ว ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลแพ่งและพาณิชย์ เสนอโดยพรรคก้าวไกล, ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดย ครม., ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลแพ่งและพาณิชย์ เสนอโดย ครม. และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ สำหรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม ที่หลายคนกำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้นั้น แม้จะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ เพื่อคลายความสับสนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม คืออะไร ต่างกันยังไง เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้มากขึ้นกัน
พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม คืออะไร
พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือ
สมรสเท่าเทียม คือ
เปิดสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 2565
ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีรายละเอียดดังนี้
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับนี้ ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น
- หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
- อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
- สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
- สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
- สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
- สิทธิจัดการศพ
สำหรับสาระสำคัญ พ.ร.บ.คู่ชีวิต 11 ข้อ ได้แก่
1. คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3. การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5. กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8. การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
9. บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก
11. กำหนดให้นำบทบัญญัติในป.พ.พ.ว่าด้วยคู่สมรสครอบครัวและบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี
ส่วนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี "คู่สมรส" หรือ "คู่ชีวิต" อยู่ไม่ได้
2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน "คู่ชีวิต"
3. ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่น ๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้
พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ สมรสเท่าเทียม แตกต่างกันอย่างไร
พ.ร.บ. คู่ชีวิต VS สมรสเท่าเทียม แตกต่างกันอย่างไร
สิทธิและหน้าที่ | พ.ร.บ.คู่ชีวิต | สมรสเท่าเทียม |
สถานะตามกฎหมาย | คู่ชีวิต | คู่สมรส |
การหมั้นและรับหมั้น | X | / |
อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน | / | / |
การเรียกร้องค่าอุปการะ | / | / |
การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน | / | / |
อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เช่นเดียวกับสามีหรือภริยา | / | / |
รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน | / | / |
การอุ้มบุญ | X | / |
การรับมรดก | / | / |
เป็นผู้อนุบาล/ผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ | / | / |
เซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาล | / | / |
จัดการศพ | / | / |
สิทธิรับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรส | ให้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาบังคับใชโดยอนุโลม | / |
สิทธิในกองทุนประกันสังคม | ให้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาบังคับใชโดยอนุโลม | / |
ใช้นามสกุลร่วมกัน | ให้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาบังคับใชโดยอนุโลม | / |
ขอวีซ่าในฐานะคู่สมรส | ให้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาบังคับใชโดยอนุโลม | / |
ขอสัญชาติไทย ในกรณีอีกฝ่ายเป็นชาวต่างชาติ | ให้นำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาบังคับใชโดยอนุโลม | / |
*อัปเดตเมื่อ 8 มิถุนายน 2565
อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย เนื่องจากจะต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบต่อไป จึงมีโอกาสที่เนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะถูกปรับเปลี่ยนให้เกิดความเท่าเทียมของคู่สมรสเพศเดียวกันมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : parliament.go.th, senate.go.th, เฟซบุ๊ก สมรสเท่าเทียม Marriage Equality, ilaw.or.th