x close

จดทะเบียนหย่าออนไลน์ ทำได้ไหม ถ้าอยากหย่าแบบไม่ต้องเจอหน้ากัน

          จดทะเบียนหย่าออนไลน์ ปัจจุบันนี้ทำได้หรือยัง เป็นอีกคำถามสำหรับคู่รักคู่ร้างที่อยากรู้ มาทำความเข้าใจ จดทะเบียนหย่าออนไลน์ได้ไหม และถ้าต้องการหย่าแบบไม่ต้องเจอหน้ากัน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
จดทะเบียนหย่า

          เมื่อผ่านการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทุกคู่ก็ย่อมวาดฝันที่จะประคองความรักให้ยาวนานไปตลอด แต่บางครั้งก็อาจไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ จนท้ายที่สุดต้องเลือกตัดสินใจจดทะเบียนหย่า แต่สำหรับคู่ไหนที่ต้องการหย่าแบบไม่ต้องเจอหน้ากัน เพราะอยู่คนละที่ หรือไม่สบายใจที่ต้องพบกัน บวกกับในยุคสมัยที่ก้าวสู่โลกดิจิทัล จึงทำให้มีคำถามว่า จดทะเบียนหย่าออนไลน์ได้ไหม ? การหย่าออนไลน์ คืออะไร ทำได้จริงหรือ วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน

จดทะเบียนหย่า ทำได้อย่างไรบ้าง

          ปกติแล้วการหย่าแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

1. การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย

          การหย่าแบบนี้ต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อ และนัดกันนำหนังสือหย่าดังกล่าวไปจดทะเบียนหย่า ที่สำนักทะเบียน สำนักงานเขต/อำเภอ พร้อมพยาน 2 คน

2. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล

          หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยินยอมก็สามารถฟ้องหย่าได้ ซึ่งสาเหตุที่จะนำมาฟ้องหย่านั้นจะเป็นไปตามมาตรา 1516 โดยติดต่อทนายความเพื่อขอคำแนะนำ จากนั้นทนายจะส่งหนังสือบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งมาหย่าภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ทั้งนี้ หากอีกฝ่ายไม่ยอมมาจดทะเบียนหย่าตามที่นัดหมายก็สามารถว่าจ้างทนายความฟ้องคดีต่อศาล ให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการสมรส จากนั้นสามารถนำหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดและคำพิพากษาไปยื่นเรื่องที่อำเภอเพื่อขอใบหย่าแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ วิธีนี้เรียกว่า การฟ้องหย่าฝ่ายเดียว

จดทะเบียนหย่าออนไลน์ได้ไหม

          การหย่าออนไลน์ ตามกระบวนการทางกฎหมายของไทยยังทำไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม ต้องมาทำเรื่องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น

          สำหรับคดีฟ้องหย่า ตัวคุณซึ่งเป็นคนฟ้องคดีจะต้องมาศาลอย่างน้อย 1 ครั้ง ทว่าปัจจุบันนี้เราสามารถขอพิจารณาคดีในระบบออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นคดีครอบครัว ฟ้องหย่า รับรองบุตร จัดการมรดก โดยศาลจะใช้วิธีการสืบพยานผ่านระบบแอปพลิเคชัน Google meet, Cisco WebEX, Microsoft Team, Zoom หรือ Line เป็นต้น ทนายความจะยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์ ไม่ต้องเดินทางไปยื่นฟ้องที่ศาล ขณะที่จำเลยก็สามารถยื่นคำให้การผ่านระบบได้เช่นเดียวกัน เพื่อความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

จดทะเบียนหย่า

สรุปคือการหย่าออนไลน์ยังทำไม่ได้ แต่ในขั้นตอนการฟ้องหย่า สามารถขึ้นศาลแบบออนไลน์ได้

          อย่างไรก็ตาม สำหรับคู่ที่ตกลงกันแล้วว่าจะจดทะเบียนหย่า อาจเพิ่มความสะดวกได้ด้วยการจองคิวขอจดทะเบียนหย่าล่วงหน้าทางออนไลน์ โดยกรอกแบบฟอร์มคำร้องขอจดทะเบียนหย่า รวมถึงอัปโหลดเอกสารออนไลน์ล่วงหน้า แล้วสแกนเอกสารส่งมาที่ thaicnn@mfa.go.th

หย่าแบบไม่ต้องเจอหน้ากัน
ทำอย่างไร

          ส่วนคู่ที่ต้องการหย่าขาดจากกันโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย แต่อยู่คนละที่ ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ไม่สะดวกที่จะมายื่นคำร้องพร้อมกัน หรือไม่สะดวกมาเจอหน้ากัน สามารถยื่นขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนได้ตามขั้นตอนดังนี้

          1. ให้คู่หย่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงในเรื่องทรัพย์สิน การใช้อำนาจปกครองบุตร หรือเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ หรือเรื่องอื่น ๆ โดยทำเป็นหนังสือสัญญาหย่าขึ้นเอง แล้วลงลายมือชื่อคู่หย่าทั้ง 2 ฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน

          2. คู่หย่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องทำการตกลงกันว่าคู่หย่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องก่อนหรือหลัง และแต่ละฝ่ายจะยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ เขต หรือสถานทูต สถานกงสุลใด

          3. ให้คู่หย่าทั้ง 2 ฝ่ายยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ใบสำคัญการสมรส และหนังสือสัญญาหย่า ต่อนายทะเบียนที่ตกลงกันไว้ โดยแจ้งให้นายทะเบียนทราบว่าประสงค์จะจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน ซึ่งนายทะเบียนจะสอบสวนเกี่ยวกับรายละเอียดของคู่หย่าว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำร้องจดทะเบียนหย่าที่ใด ตลอดจนรายละเอียดอื่น ๆ

เอกสารที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชน (หนังสือเดินทาง ในกรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ)
  • ใบสำคัญการสมรส
  • ทะเบียนบ้าน
  • ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
  • ใบคำร้องขอจดทะเบียนหย่า
  • หนังสือหย่า หรือหนังสือสัญญาหย่า
  • คำร้องนิติกรณ์
  • สำเนาสูติบัตรบุตร (หากมีบุตรร่วมกัน)
  • พยานบุคคล อย่างน้อย 2 คน (ต้องมีอายุ 20 บริบูรณ์ขึ้นไป และเตรียมบัตรประชาชน พร้อมสำเนามาด้วย)

          เมื่อนายทะเบียนทั้ง 2 แห่งต่างได้รับคำร้องและหลักฐานซึ่งกันและกันถูกต้อง นายทะเบียนแห่งที่ 2 จะเป็นผู้ออกใบสำคัญการหย่าให้ และจะส่งใบสำคัญการหย่า 1 ฉบับ ไปให้สำนักทะเบียนกลาง เพื่อจัดส่งให้สำนักทะเบียนแห่งแรก ความสมบูรณ์ของการหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถือเอาวัน เดือน ปี ที่ได้จดทะเบียนการหย่าไว้ที่สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 ทั้งนี้ ไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

          ถึงจะก้าวไปในยุคออนไลน์ การจดทะเบียนหย่าก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ก็ไม่แน่นะในอนาคตอาจมีการหย่าออนไลน์เพิ่มเติมก็เป็นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักบริหารการทะเบียน, สำนักส่งเสริมงานตุลาการ, thaiembdc.org, lawyers.in.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จดทะเบียนหย่าออนไลน์ ทำได้ไหม ถ้าอยากหย่าแบบไม่ต้องเจอหน้ากัน อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2566 เวลา 11:42:54 93,549 อ่าน
TOP