จดทะเบียนหย่า
กับคู่หย่าที่อยู่ต่างประเทศ
สามารถทำได้หรือไม่
จดทะเบียนหย่ากับคู่หย่าที่อยู่ต่างประเทศ ทำได้กี่วิธี
การจดทะเบียนหย่ากับคู่หย่าที่อยู่กันคนละประเทศสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีมีขั้นตอนดังนี้
วิธีที่ 1 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยเป็นคนดำเนินเรื่อง
วิธีนี้ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยจะเป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนที่ประเทศไทยก่อน แล้วเอกสารการหย่าต่าง ๆ จะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสถานเอกอัครราชทูต ฯ ในประเทศที่อีกฝ่ายพำนักอยู่ จากนั้นสถานทูตฯ ก็จะติดต่อคู่หย่าเพื่อมาดำเนินการจดทะเบียนหย่าด้วยตนเองที่สถานทูตฯ ดังนั้นสถานทูตฯ ในประเทศนั้น ๆ จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้
เอกสารที่ต้องเตรียม
- แบบฟอร์มคำร้องนิติกรณ์
- บัตรประตัวประชาชน/หนังสือเดินทาง/บัตรข้าราชการ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบสำคัญการสมรสหรือสำเนาทะเบียนสมรส
- หนังสือสัญญาหย่า
- คำพิพากษาและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (กรณีจดทะเบียนหย่าตามคำพิพากษา)
เมื่อทำการจดทะเบียนหย่าเรียบร้อยแล้ว สถานทูตฯ จะมอบใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ในวันที่มาจดทะเบียนหย่า และจะส่งใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยเพื่อมอบให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยต่อไป
วิธีที่ 2 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ต่างประเทศเป็นผู้ยื่นเรื่องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
วิธีการคล้ายกัน เพียงแต่สลับฝ่าย นั่นคือ คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในต่างประเทศเป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยจะต้องเตรียมเอกสารจากคู่หย่าที่อยู่ประเทศไทยเพื่อประกอบการยื่นขอ เอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทย ทั้งนี้ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้
เอกสารที่ต้องเตรียม
- หนังสือสัญญาหย่า โดยต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน รวมถึงการแบ่งทรัพย์สินและสิทธิ์ในการดูแลลูกด้วย โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยและพยานคนไทย 2 คน จะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ และให้เจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองลายมือชื่อของคู่หย่าและพยานทั้งสองด้วย
- สำเนาเอกสารประจำตัวของคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยและพยานทั้งสอง เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ ซึ่งต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ
- เอกสารคำร้องขอจดทะเบียนหย่า
- เอกสารบันทึก เรื่อง การจดทะเบียนการหย่าต่างสำนักทะเบียน
- เอกสารคำร้องนิติกรณ์
- เอกสารคำร้องขอนัดหมายการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
- บัตรประตัวประชาชน/หนังสือเดินทาง/บัตรข้าราชการ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบสำคัญการสมรสหรือสำเนาทะเบียนสมรส
- คำพิพากษาและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (กรณีจดทะเบียนหย่าตามคำพิพากษา)
ทั้งนี้ คู่หย่าที่อยู่ต่างประเทศจะต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า โดยส่งสำเนาเอกสารที่ส่งไปจากประเทศไทยให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อตรวจสอบและจัดพิมพ์เอกสารการจดทะเบียนหย่าล่วงหน้า อย่างน้อย 10 วันทำการ ทางไปรษณีย์ และรอการยืนยันวันนัดจากเจ้าหน้าที่ เมื่อทำการจดทะเบียนเรียบร้อยทั้งสองฝ่ายแล้ว สถานทูตฯ จะจัดส่งเอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทย โดยสำนักทะเบียนที่ไทยจะมอบใบสำคัญการหย่าใบหนึ่งให้คู่หย่าที่ไทย และส่งอีกใบหนึ่งกลับไปยังคู่หย่าที่ต่างประเทศนั่นเอง
การตัดสินใจประคับประคองชีวิตคู่หรือตัดสินใจหย่าก็ตาม เป็นเรื่องของคนสองคน ซึ่งหากจำเป็นต้องหย่าจริง ๆ ก็ควรศึกษาขั้นตอนเอาไว้ เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่นที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : thaiconsulatela.org, thaiembdc.org